Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มค่าที่ดิน โอกาสทองจากกฎหมายใหม่

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“ไม้ยืนต้น” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ ในแง่การลงทุนแล้ว สามารถนำมาใช้ช่วยเพิ่มค่าที่ดินได้  เพียงแต่คุณค่าไม้ยืนต้นในบ้านเราช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างถูกจำกัด เนื่องจากมีกฎหมายป่าไม้ควบคุมการใช้ประโยชน์อยู่นั่นเอง  



แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎหมายใหม่สองฉบับ ที่เปิดกว้างให้เจ้าของที่ดินที่มีต้นไม้อยู่ สามารถใช้ประโยชน์ต้นไม้ได้อย่างกว้างขวาง แถมถูกต้องตามกฎหมายด้วย ไม่ว่าจะตัดขาย ทำไม้ หรือใช้เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน ซึ่งคาดว่ากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงปี 2562 นี้

ถือเป็นการปฏิวัติ ปลดล็อค ครั้งสำคัญ เปิดทางให้ “การปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินที่ตัวเอง”กลายมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มค่าอสังหาริมทรัพย์อันแยบยลรูปแบบหนึ่งไปโดยปริยาย 

อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้นี้ จะเพิ่มค่าที่ดินได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ และต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวคิดของกฎหมายใหม่สองฉบับนี้ด้วย ซึ่งมีประเด็นน่ารู้ ดังต่อไปนี้

กฎหมายป่าชุมชนคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติอนุมัติ “ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน”ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ไปเมื่อ 22 พฤษภาคม 2561 หลักการของกฎหมายฉบับนี้ อธิบายง่ายๆ ก็คือ นับต่อจากนี้ ชาวบ้านหรือคนทั่วไป จะสามารถปลูกไม้มีค่า เช่นไม้สัก ไม้พะยูง ฯลฯ ในบ้าน หรือ ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์ ทำไม้ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือถูกจับกุม เหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้

ซึ่งการใช้ประโยชน์ป่าชุมชุนตามที่ระบุใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ให้ใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว เก็บของป่า และใช้ทรัพยากรอื่น อีกส่วนเป็นพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์โดยตรง ที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว เก็บของป่า นันทนาการ ทำไม้ ใช้ประโยชน์ในชุมชน หรือใช้ทรัพยากรอื่น

กฎหมายกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันกู้ยืมเงินได้เป็นมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อ 24 กรกฎาคม 2561 ที่เห็นชอบใน “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ”   เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย โดยระหว่างการปลูก เจ้าของสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้

ทั้งนี้รัฐบาลเห็นชอบ ให้แก้ไข มาตรา 7ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 สำหรับการปลูกไม้ยืนต้นในที่กรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้มีสิทธิปลูก ตัด เลื่อยแปรรูป ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ และอนุญาตให้สามารถนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงเหล่านั้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยออกเป็นกฎกระทรวงตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558มารองรับ

สำหรับไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิด ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ที่กำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ประกอบด้วย สัก, พยุง, ชิงชัน, กระซิก, กระพี้เขาควาย, สาธร, แดง,ประดู่ป่า, ประดู่บ้าน, มะค่าโม,มะค่าแต้, เคี่ยม, เคี่ยมคะนอง,เต็ง, รัง,พะยอม,ตะเคียนทอง,ตะเคียนหิน, ตะเคียนชันตาแมว,ไม้สกุลยาง, สะเดา, สะเดาเทียม,ตะกู, ยมหิน, ยมหอม

นางพญาเสือโคร่ง, นนทรี, สัตบรรณ,ตีนเป็ดทะเล, พฤกษ์,ปีบ,ตะแบกนา, เสลา, อินทนิลกินน้ำ,ตะแบกเลือด, นากบุด, ไม้สกุลจำปี,แคนา, กัลปพฤกษ์, ราชพฤกษ์,สุพรรณิการ์, เหลืองปรีดียาธร, มะหาด, มะขาม, มะขามป้อม,หว้า, จามจุรี, กฤษณา, ไม้หอม, พลับพลา, กันเกรา,กะทังใบใหญ่, หลุมพอ,เทพทาโร,ฝาง, ไผ่ทุกชนิด, ไม้สกุลมะม่วง,ไม้สกุลทุเรียน

ทั้งนี้ในระยะแรก รัฐวางแผนที่จะให้ ธกส.เป็นสถาบันการเงินแห่งเเรก ที่เข้ามาดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้นี้ โดยสมาชิกโครงการสามารถนำต้นไม้ทั้ง 58 ชนิด มาเป็นหลักประกัน ซึ่ง ธกส.จะเป็นฝ่ายประเมินราคาให้ โดยเกณฑ์ประเมินเบื้องต้น ก็คือต้องอายุหนึ่งปี ลำต้นตรง 2 เมตร มีต้นไม้ 400 ต้นในหนึ่งไร่ เเละปลูกในที่ดินตัวเอง

เก็บตก

หลักประกันทางธุรกิจ 6 ประเภท

ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

1. กิจการ 

2. สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น 

3. สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ เป็นต้น 

4. อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น 

5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น 

6. ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า รวม 58 ชนิด 




เขียนโดย: อนุชา กุลวิสุทธิ์

กูรูด้านการเงินและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาอิสระ วิทยากรและอาจารย์พิเศษ

มีพ็อกเก็ตบุ๊คด้านการเงิน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร