Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ราคาถังแก๊สเรื่องควรรู้ก่อนเลือกใช้งาน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ราคาถังแก๊ส หรือราคาแก๊สประเภทต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องที่หลายๆ คนซึ่งถึงแม้จะมีชุดเครื่องครัวพร้อมถังแก๊สหุงต้มไว้ที่บ้านแต่ไม่ได้ทำอาหารบ่อย หรือไม่ได้เปิดกิจการร้านอาหาร อาจจะมองข้ามไปนอกจากเรื่องของราคาแล้ว การเลือกถังแก๊สประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพของที่พักอาศัย ประเภทต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่าเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของบ้าน ลองมาดูกันว่าราคาถังแก๊สนั้นมีที่มาอย่างไร และถังแก๊สประเภทไหนจะเหมาะสมกับบ้านของคุณ 

1. ราคาถังแก๊สขึ้นอยู่กับอะไร 

คำตอบของคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินความเข้าใจ เนื่องจากโครงสร้างของราคาแก๊สหุงต้มที่ใช้ตามครัวเรือนในบ้านนั้นจะมาจาก 2 ต้นทุนหลัก คือตัวน้ำก๊าซ และตัวถังบรรจุก๊าซ ซึ่งราคาของตัวถังบรรจุก๊าซนั้นจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง จะเห็นได้ว่าการซื้อขายก๊าซในครั้งแรกนั้นจะมีราคาที่สูงเพราะว่าผู้จำหน่ายได้รวมราคาถังแก๊สเข้าไปด้วยนั่นเอง และการซื้อขายในครั้งต่อไปจะมีราคาถูกลงเพราะเป็นการนำถังแก๊สที่มีอยู่แล้วมาเปลี่ยนเป็นถังใหม่ไปนั่นเอง 
สำหรับราคาของน้ำแก๊ส หรือแก๊สที่บรรจุอยู่ในถังนั้นจะมีราคาที่ไม่แพงเนื่องจากเป็นสินค้าที่ทางภาครัฐควบคุมราคา แต่อาจจะมีการขึ้นหรือลงของราคาตามกลไกตลาด รวมไปถึงนโยบายช่วยเหลือต่างๆ ที่จะออกมาในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้ในปัจจุบันราคาเฉพาะตัวแก๊สหุงต้มที่บรรจุลงในถังแก๊สขนาดต่างๆ ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวันจะมีราคาอยู่ที่ 
ถังขนาด 4 กิโลกรัม ราคาเฉพาะแก๊สประมาณ 94 – 155 บาท ถ้ารวมราคาถังแก๊สด้วยจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท 
ถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาเฉพาะแก๊สประมาณ 318 (เป็นราคาควบคุมถึงสิ้นปี 2563) ถ้ารวมราคาถังแก๊สด้วยจะอยู่ที่ประมาณ 2,400 บาท 
ถังขนาด 48 กิโลกรัม ราคาเฉพาะแก๊สประมาณ 938 – 1,119 บาท ถ้ารวมราคาถังแก๊สด้วยจะอยู่ที่ประมาณ 4,800 บาท

ราคาถังแก๊สขึ้นอยู่กับอะไร 

2. ถังแก๊สมีกี่ประเภท 

การแบ่งประเภทของถังแก๊สสำหรับหุงต้มที่นอกจากจะสามารถแบ่งได้ตามขนาดของปริมาณของแก็สที่บรรจุภายในถังแล้ว ยังสามารถแบ่งตามประเภทของวัสดุที่นำมาใช้ทำถังแก๊สได้อีกด้วย ลองมาดูกันว่าถังแก๊สที่มีการใช้งานกันอยู่ในประเทศไทยนั้นมีถังแก๊สแบบไหนกันบ้าง

การแบ่งประเภทถังแก๊สตามขนาดบรรจุ 

  • ถังขนาด 4 กิโลกรัม ถังแก๊สขนาดนี้จัดว่าเป็นถังขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมมากพอสมควรเพื่อใช้สำหรับการใช้ภายนอกบ้านเป็นครั้งคราว, บ้านที่ไม่ได้มีการปรุงอาหารด้วยตัวเองบ่อยๆ หรือมีพื้นที่แคบ และใช้เป็นถังแก๊สสำรองในกรณีที่แก๊สในถังหลักหมด ซึ่งคนทั่วไปจะนิยมเรียกถังแก๊สขนาด 4 กิโลกรัมว่า “ถังแก๊สปิกนิก” 
  • ถังแก๊สขนาด 7 กิโลกรัม ถังแก๊สขนาดนี้เรียกได้ว่าเป็นถังแก๊สที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่ได้ปรุงอาหารบ่อยๆ มีขนาดประมาณครึ่งเท่าของถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม และถังแก๊สขนาด 7 กิโลกรัมยังเหมาะสมสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งมีพื้นที่ไม่มากอีกด้วย 
  • ถังแก๊สขนาด 11.5 กิโลกรัม เป็นถังแก๊สที่ยังคงมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ซึ่งถังแก๊สขนาดนี้สามารถตอบโจทย์ของผู้ที่ทำกับข้าวค่อนข้างบ่อย แต่ไม่ต้องการถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัมที่บางครั้งอาจจะดูว่าใหญ่เกินไป 
  • ถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม ถังแก๊สขนาดนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นถังแก๊สที่นิยมมากที่สุดสำหรับบ้านพักอาศัยในประเทศไทย เนื่องจากเป็นถังแก๊สที่มีขนาดความจุกำลังดี ไม่ใหญ่จนเกินไป สามารถทำกับข้าวได้บ่อยครั้ง โดยถ้าเป็นที่พักอาศัยทั่วไปจะสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 เดือน แต่ถ้าเป็นร้านอาหารขนาดเล็กก็จะมีระยะเวลาในการใช้งานทั่วไปที่ประมาณ 15 วัน หรือขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้แก๊สของแต่ละร้านนั่นเอง 
  • ถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม ถังแก๊สขนาดนี้เรียกได้ว่าเป็นถังขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการใช้งานครัวเรือน หรือร้านอาหาร เนื่องจากเป็นถังขนาดใหญ่ทำให้ต้องใช้พื้นที่พอสมควรในการวางถัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถังแก๊สขนาดนี้จะนิยมใช้มากในร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือครอบครัวขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้แก๊สในการปรุงอาหารเป็นปริมาณมากในแต่ละวัน 

การแบ่งประเภทถังแก๊สตามวัสดุที่นำมาใช้ 

  • ถังเหล็ก ถังแก๊สที่ทำด้วยเหล็กเป็นถังแก๊สที่พบเห็นได้มากที่สุด และมีความนิยมในการใช้งานตามบ้านมากสุด เนื่องจากมีราคาถูกที่สุดถึงแม้จะมีน้ำหนักมากที่สุดก็ตาม 
  • ถังแก๊สหุ้มใยแก้ว เป็นถังแก๊สที่ทำด้วยเหล็ก หรืออลูมิเนียม แต่มีการด้วยใยแก้ว หรือใยคาร์บอน ทำให้มีน้ำหนักที่เบาลงมา ทนความร้อนได้มากขึ้น เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่ซึ่งมีความร้อนสะสมสูง 
  • ถังแก๊สคอมโพสิต หรือเรียกได้ว่าเป็นถังแก๊สโพลิเมอร์ ผสมไฟเบอร์กลาส โดยตัวถังชั้นในเป็นโพลิเมอร์เคลือบด้วยไฟเบอร์กลาส และมีโพลิเมอร์เป็นตัวถังขั้นนอกอีกชั้นหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแรง 
    โดยถังแก๊สประเภทนี้เริ่มได้รับความนิยมเนื่องมาจากทางราชการประกาศให้ใช้แต่ถังแก๊สประเภทนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ด้วยเหตุผลในเรื่องของความมั่นคง และด้วยคุณสมบัติในเรื่องความทนทาน ความปลอดภัย ที่เหนือกว่าถังทุกประเภทที่ใช้ตามบ้านเรือนในปัจจุบัน ทำให้ถังแก๊สคอมโพสิตเริ่มได้รับความนิยมเป็นวงกว้างมากขึ้น

ถังแก๊สมีกี่ประเภท 

3. การเลือกถังแก๊สให้เหมาะกับบ้าน 

การเลือกถังแก๊สประเภทต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานภายในบ้านนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากถังแก๊สแต่ละประเภทนั้นใช้พื้นที่ในการจัดวางแตกต่างกัน รวมไปถึงความถี่ในการทำอาหารโดยใช้แก๊สของแต่ละบ้านที่ไม่เท่ากัน ลองมาดูว่าถังแก๊สแต่ละประเภทนั้นเหมาะกับบ้านแบบไหน 

  • ถังแก๊สขนาด 4 กิโลกรัม ถังแก๊สปิกนิกขนาด 4 กิโลกรัมนั้นจัดว่าเป็นถังขนาดเล็กที่สามารถหาซื้อได้ง่ายที่สุด ด้วยความที่เป็นถังขนาดเล็กทำให้ใช้พื้นที่น้อย ใช้อุปกรณ์น้อย เนื่องจากถังแก๊สประเภทนี้ไม่นิยมต่อเข้ากับชุดเตาแก๊สแบบปกติ แต่นิยมใช้ชุดหัวเตาแก๊สมาต่อที่ด้านบนของถังแก๊สโดยตรง 
  • ถังแก๊สขนาด 4 กิโลกรัมจึงเหมาะสำหรับบ้านที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ หรือไม่ได้ปรุงอาหารบ่อยๆ เนื่องจากสามารถจัดเก็บได้ง่ายไม่เปลืองพื้นที่ 
  • ถังแก๊สขนาด 7 กิโลกรัม ถังแก๊สขนาด 7 กิโลกรัมเป็นถังแก๊สที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จึงเหมาะสำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่มาก หรือไม่ได้ทำอาหารบ่อยๆ  แต่ถังแก๊สขนาดนี้สามารถต่อเข้ากับชุดเตาแก๊สปกติได้เหมือนถังขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ตามปกติ 
  • ถังแก๊สขนาด 11.5 กิโลกรัม เป็นถังแก๊สที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาเล็กน้อย แต่ยังไม่สูงเท่าถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม เหมาะสำหรับบ้านที่ทำอาหารค่อนข้างบ่อย แต่ไม่ได้ทำเป็นประจำ 
  • ถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม เป็นถังแก๊สที่นิยมใช้มากที่สุดในบ้านพักอาศัยที่ทำอาหารบ่อย มีครัวอย่างเป็นสัดส่วน รวมไปถึงยังได้รับความนิยมมากสำหรับร้านอาหารขนาดเล็ก เนื่องจากมีปริมาณแก๊สที่เพียงพอต่อการใช้งานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ราคาถูก 
  • ถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม เป็นถังแก๊สขนาดใหญ่ที่เหมาะสำหรับการใช้งานในร้านอาหารที่พื้นที่วางถังแก๊สกว้างพอสมควร มีการใช้งานแก๊สอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัมยังมีการนำไปใช้งานในบ้านเรือนอยู่บ้างสำหรับบ้านที่มีผู้พักอาศัยเป็นจำนวนมาก หรือต้องทำอาหารเป็นจำนวนมากในแต่ละวันนั่นเอง 

การเลือกถังแก๊สให้เหมาะกับบ้าน

4. การใช้ถังแก๊สให้ปลอดภัย 

การวางถังแก๊ส และการใช้ถังแก๊สให้ปลอดภัยจะสามารถช่วยในเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อมีการรั่วของแก๊ส การทำความสะอาดพื้นที่บริเวณถังแก๊สที่ทำได้ง่าย รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายถังแก๊สได้สะดวกเวลาที่ต้องการเปลี่ยนถังแก๊สนั่นเอง 

  • อากาศถ่ายเทสะดวก การวางถังแก๊สในที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวกนั้นจะช่วยในเรื่องของเมื่อมีการรั่วของแก๊สจะช่วยให้ไม่เกิดการรวมตัวของแก๊สเป็นจำนวนมาก เพราะว่าแก๊สได้ไหลไปกับอากาศที่ถ่ายเทอยู่ตลอดเวลานั่นเอง รวมไปถึงไม่ควรวางถังแก๊สไว้ในห้องที่มีการปิดทึบอีกด้วย 
  • วางถังแก๊สแนวตั้งเสมอ เนื่องจากการวางถังแก๊สแนวตั้งนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแก๊สรั่วมากกว่าการวางถังแก๊สแนวนอน 
  • วางในที่ร่ม การวางถังแก๊สตากแดด หรือวางไว้ในที่ซึ่งมีความร้อนสะสมตลอดเวลาจะทำให้มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความร้อนสะสมมากเกินไปที่ถังแก๊ส และอาจทำให้แก๊สระเบิดได้ 
  • วางห่างเตาไฟ การวางถังแก๊สให้ปลอดภัยนั้นควรวางห่างพื้นที่ปรุงอาหาร หรือเตาไฟอย่างน้อย 1.5 เมตร เพื่อความปลอดภัย เพราะว่าถ้าเกิดกรณีแก๊สรั่วขณะปรุงอาหาร แก๊สจะ ไม่สามารถสัมผัสกับเปลวไฟได้ในทันที 
  • รักษาความสะอาดอยู่เสมอ ในส่วนชองบริเวณที่วางถังแก๊สนั้นควรรักษาความสะอาอยู่เสมอ เนื่องจากถ้ามีคราบสกปรก คราบน้ำ อาจทำให้ถังแก๊สเกิดสนิม และเกิดการรั่วไหลของแก๊สได้นั่นเอง 
  • เคลื่อนบ้ายถังอย่างระมัดระวัง การเคลื่อนย้ายถังแก๊สไม่ว่าจะเป็นถังเปล่า หรือถังที่มีแก๊สบรรจุอยู่ต้องพึงทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากถ้าถังแก๊สไปกระแทกกับสิ่งต่างจนถังมีรอยบุบก็อาจจะทำให้แก๊สรั่วได้ 
    ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อที่มีมาตรฐาน อุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ จากถังแก๊สมาที่เตาแก๊สต้องมีมาตรฐาน และหมั่นตรวจตราความสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวาล์วที่หัวแก๊ส สายส่งแก๊ส รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ของเตาแก๊สด้วย 

การใช้ถังแก๊สให้ปลอดภัย

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าราคาถังแก๊ส รวมไปถึงรายะเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับแก๊สซึ่งเราแทบทุกคนนั้นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมีความสำคัญ นอกจากนี้การเลือกใช้ถังแก๊สต่างๆ ให้เหมาะสมกับประเภทของการใช้งาน รวมไปถึงขนาดของบ้านก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ที่สำคัญที่สุดในการใช้แก๊สคือการะมัดระวังเรื่องความปลอดภัย และใช้งานอย่างไม่ประมาทนั่นเอง 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร