Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เจาะลึกหลังคาโรงรถแบบไหนที่เหมาะกับบ้านคุณ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลังคาโรงรถคืออุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยบังแดด บังฝนให้กับรถยนต์คันโปรดของคุณ ช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องสีภายนอกได้เป็นอย่างดี แต่การจะเลือกหลังคาโรงรถประเภทไหนให้เหมาะกับตัวบ้าน จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อช่วยในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น บทความนี้จึงขอนำทุกท่านไปทำความเข้าใจพร้อมกันเลย

1. ข้อควรรู้เกี่ยวกับหลังคาโรงรถ

เรื่องหลัก ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับการต่อเติมหลังคาโรงรถมีด้วยกัน 2 เรื่องคือ 

1. ลักษณะการต่อเติม ส่วนใหญ่แล้วหลังคาที่ต่อเติมมีหลายรูปแบบ เช่น แผ่นเมทัลชีท ไวนิล ไฟเบอร์กลาส อะคริลิกโปร่งแสง โพลิคาร์บอเนต เป็นต้น ควรติดตั้งหลังคาไว้กับเสาเดิมของตัวบ้านเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากสร้างเสาขึ้นมาใหม่ไม่ควรใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาก เพราะเสาอาจรับแรงไม่ไหวและฉีกขาดออกจากตัวบ้าน

2. กฎหมายการต่อเติมบ้าน หากมีการต่อเติมพื้นที่ให้มากขึ้นเกิน 5 เมตร จำเป็นต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ มีการเว้นช่องว่างระหว่างแนวเขต ถ้าเป็นทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ด้านหน้าเว้น 3 เมตร ด้านข้างและด้านหลัง 2 เมตร อาคารพาณิชย์ต้องมีพื้นที่ว่างทุกด้านไม่ต่ำกว่า 3 เมตร เป็นต้น

ข้อควรรู้

2. งบประมาณต่อเติมหลังคาโรงรถ

จริง ๆ แล้วงบประมาณของการต่อเติมหลังคาโรงรถจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ วัสดุที่ใช้ ค่าแรงของช่าง ฯลฯ หากสามารถติดตั้งเองได้จะช่วยประหยัดค่าแรงได้เยอะ หากมีงบประมาณไม่มากควรเลือกใช้วัสดุที่ราคาถูกลงมาหน่อย เพื่อประหยัดเงินไว้ต่อเติมหรือทำส่วนอื่น ๆ ของบ้านต่อ

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญในการกำหนดงบประมาณต่อเติมหลังคาโรงรถควรศึกษาต้นทุนของวัสดุต่าง ๆ ให้ดีเพื่อจะได้กะประมาณได้ถูกว่าพื้นที่ทั้งหมดในการต่อเติมต้องมีงบที่ใช้อยู่ราว ๆ เท่าไหร่ และควรมีเงินเผื่อเหลือเอาไว้ในกรณีที่ราคาวัสดุอาจขึ้นลงไม่เท่ากัน เพราะร้านที่ขายกับร้านที่หาซื้อเป็นคนละร้าน เท่านี้ก็จะช่วยให้คุณไม่เกิดปัญหางบบานปลายขึ้นแล้ว

งบประมาณ

3. หลังคาเมทัลชีท

ทำจากแผ่นเหล็กเคลือบด้วยโลหะ มีส่วนผสมของสังกะสีกับอะลูมิเนียม ขึ้นรูปจนเกิดเป็นลอนหลังคา ข้อดีของการเลือกใช้วัสดุประเภทนี้คือมีความทนทานต่อแสงแดดและฝน ไม่เกิดสนิม จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการกัดกร่อน สามารถเลือกสีให้เกิดความหรูหราสวยงามได้ หากท่านกลัวว่าด้านล่างหลังคาจะร้อน ท่านสามารถเลือกรุ่นที่มีฉนวนความร้อนติดตั้งมาพร้อมกันได้เลย
 
การติดตั้งหลังคาเมทัลชีทสามารถเลือกได้ทั้งบนพื้นที่ราบหรือพื้นที่โค้ง หากต้องการพื้นที่ด้านบนให้สูงขึ้นก็สามารถดัดโค้งหลังคาได้ แผ่นเมทัลชีทมีขนาดพอดีจึงไม่ค่อยเกิดรอยต่อ โอกาสที่น้ำจะรั่วซึมจึงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามข้อเสียของหลังคาชนิดนี้คือ เวลาฝนตกเสียงเม็ดฝนที่กระทบกับวัสดุจะมีเสียงดังพอสมควร จึงไม่นิยมสำหรับคนที่ชอบความเงียบมากนัก

หลังคาเมทัลชีท

4. หลังคาไวนิล

ทำจาก PVC ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทหนึ่ง จุดเด่นของการเลือกหลังคาโรงรถประเภทนี้คือ แข็งแรงทนทานต่อแสงแดดและฝน กันความร้อนได้ดี ไม่ค่อยได้ยินเสียงฝนตกกระทบจึงเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ดี น้ำหนักเบาทำให้ติดตั้งรวดเร็ว ประหยัดค่าแรงช่าง มีดีไซน์ที่หลากหลายจึงสามารถนำมาใช้งานในแบบที่คุณต้องการได้เลย

อีกความพิเศษของหลังคาไวนิลคือ เลือกวัสดุที่ใช้ทำโครงยึดติดกับสกรูได้หลากหลาย เช่น โครงไม้ โครงอะลูมิเนียม โครงเหล็ก โครงสเตนเลส 

สามารถเลือกใช้วัสดุได้ตามใจชอบ หรือถ้าหากเน้นความประหยัดก็เลือกวัสดุราคาถูกลงมาหน่อย เท่านี้ก็เซฟเงินในกระเป๋าคุณได้เยอะ แล้วนำเอาเงินไปใช้ต่อเติมบ้านส่วนอื่นได้

หลังคาไวนิล

5. หลังคาโพลิคาร์บอเนต

ลักษณะของหลังคาประเภทนี้จะผลิตจากพลาสติกเหมือนกับหลังคาไวนิล แต่ให้ความโดดเด่นแตกต่างกันไป เนื่องจากโพลิคาร์บอเนตจะมีความโปร่งใส เนื้อเหนียว แข็งแรง ไม่ยืดหยุ่นจึงคงตัวได้ดี มีน้ำหนักเบา ใครต้องการหลังคาแบบโปร่งแสงสามารถเลือกใช้แทนกระจกหรือแก้วที่มีอันตรายได้สบาย ประหยัดงบประมาณ ก่อสร้างได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะแดดร้อนจัดหรือฝนตกหนักก็ป้องกันได้ดี
 
ยิ่งถ้าใครเลือกใช้แผ่นหลังคาโพลิคาร์บอเนตที่เคลือบผิวดูดซับรังสียูวี จะช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้ลงมาสู่ด้านล่างได้แทบจะ 100% หากใครไม่ชอบความโปร่งแสง จะเลือกสีให้สวยงามก็ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามจุดด้อยของหลังคาชนิดนี้มักเกิดคราบไอน้ำ ขี้ตะไคร่สีเขียว ๆ ได้ง่าย จึงทำให้หลังคาดูขุ่นมัว ไม่น่ามอง เก่าเร็วกว่าวัสดุอื่น ๆ อีกทั้งพื้นที่ต่อการก่อสร้างยังมีราคาสูงกว่าด้วย

หลังคาโพลิคาร์บอเนต

6. หลังคาอะคริลิกโปร่งแสง

หรือบางคนจะเรียกว่า “SHINKOLITE” มีลักษณะผิวเรียบ มันเงา โปร่งแสงคล้ายกับกระจก ตัววัสดุมีการเติมสารทนต่อความร้อนจึงช่วยป้องกันแสงแดดและรังสียูวีได้ดี แข็งแรงทนทาน พื้นที่ภายในสว่าง ตัวหลังคามีความทันสมัย ยิ่งสมัยนี้ได้พัฒนาคุณสมบัติด้านการทนความร้อนและลดแรงกระแทกมากขึ้น จึงส่งผลให้หลังคาอะคริลิกโปร่งแสงใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิม

ในอดีตหากพื้นที่ไหนแสงแดดจัดตลอดวัน มักนิยมติดฟิล์มเข้าไปเพิ่มอีกขั้นเพื่อช่วยกรองแสง แต่ก็มีหลายยี่ห้อที่พัฒนาเป็นแบบตัวช่วยลดความร้อน จึงไม่ต้องติดฟิล์มอีกต่อไป แถมขึ้นรูปร่างได้หลากหลาย ดัดโค้งได้ดั่งใจต้องการ แต่ข้อเสียคือ ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นมากนัก ขยายตัวออกเร็วทำให้แผ่นหลังคามีความทนทานลดลง ติดตั้งยาก และมีราคาสูง

หลังคาอะคริลิกโปร่งแสง

7.  หลังคาไฟเบอร์กลาส

หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “Fiberglass Reinforced Plastics (FRP) ผลิตขึ้นด้วยส่วนผสมของแก้วกับโพลีเอสเตอร์เรซิ่นแบบพิเศษ ทำให้หลังคาประเภทนี้มีความโปร่งแสง เพิ่มความสว่างให้กับด้านล่างได้เป็นอย่างดี โดยแสงที่ส่องเข้ามาจะไม่เจิดจ้ามากจนเกินไป มองแล้วสบายตา แข็งแรงทนทาน ติดตั้งง่าย มีความยืดหยุ่นในตัวสูง สามารถนำไปทำหลังคาได้ทั้งแบบเรียบและแบบโค้ง  

อย่างไรก็ตามหลังคาประเภทนี้ก็มีข้อเสียในตัว เนื่องจากความโปร่งแสงจึงทำให้ต้องเผชิญกับความร้อนและรังสียูวีอยู่ตลอด เนื้อสีของหลังคาจึงซีดจางได้เร็ว เมื่อใช้ไปนาน ๆ สามารถมองเห็นเส้นใยไฟเบอร์ภายในตัวหลังคาได้ชัดเจน จึงส่งผลต่อเรื่องความสวยงาม ทำให้ผู้ที่ชอบหลังคาโรงรถแบบหรูหรา มีระดับ มักไม่นิยมเลือกใช้วัสดุประเภทนี้มากนัก

หลังคาไฟเบอร์กลาส

8. การดูแลหลังคาโรงรถ

การดูแลหลังคารถให้เลือกดูแลตามลักษณะของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง แต่ถ้าเอาตามพื้นฐานง่าย ๆ คือ พยายามทำความสะอาดหลังคารถเป็นประจำ กรณีบ้านที่มีชั้น 2 และสามารถเปิดหน้าต่างเพื่อฉีดพ่นน้ำได้ก็ให้ฉีดพ่นน้ำเอาสิ่งสกปรกออกไปจากหลังคา ถ้าหากพบเจอคราบยึดติดฝังแน่น ฉีดด้วยน้ำไม่ออกอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แปรงขนาดยาว (ควรระวังเรื่องการเป็นรอยกับบางวัสดุโดยเฉพาะบรรดาพวกโปร่งแสงทั้งหลาย)

แต่ถ้าบ้านไหนไม่สะดวกในการขึ้นไปชั้น 2 ลองหาบันไดช่างที่มีความสูงเพียงพอในการขึ้นไปทำความสะอาดแล้วค่อย ๆ ไล่ฉีดน้ำทำความสะอาดไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ปีนขึ้นไปเหยียบบนตัวหลังคาเป็นอันขาดแม้ว่าน้ำหนักตัวคุณจะเบา เพราะโครงหลังคาที่ใช้นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักมากนัก จึงอาจทำให้เกิดการแตกหักและกลายเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงได้

การดูแล

เมื่อเข้าใจถึงการต่อเติมหลังคาโรงรถกันแล้ว ก็ลองพิจารณาดูจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น งบประมาณ ความชื่นชอบ ข้อดีข้อเสีย ฯลฯ ว่าหลังคาประเภทไหนที่เหมาะกับบ้านของคุณ เพื่อให้ผลงานที่ออกมาตรงตามความต้องการ คุ้มค่ากับการลงทุน และใช้งานได้อย่างยาวนาน ไม่ต้องเสียเงินซ่อมแซมหรือเปลี่ยนหลังคาใหม่บ่อยๆ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร