Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ต่อเติมหลังคาบ้านแบบไหนให้ปลอดภัย ไม่กระทบโครงสร้างบ้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลังคาหน้าบ้านคืออีกส่วนประกอบสำคัญของบ้าน ที่มักจะนำไว้กันแดด กันฝน กันลม เพื่อใช้เป็นที่จอดรถหรือใช้วางของ เพิ่มพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ให้บ้านของตัวเอง ฉะนั้นการต่อเติมหลังคาหน้าบ้านจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องโครงสร้าง เรามาดูกันครับว่าการจะต่อเติมหลังคาหน้าบ้านนั้น จะต่อเติมอย่างไรบ้างให้ไม่กระทบโครงสร้าง

1. โครงสร้างของหลังคา

ต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน

ในการต่อเติมหลังคาหน้าบ้านนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงอย่างแรกก็คือโครงสร้างของหลังคาหน้าบ้าน เพราะเป็นตัวรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคา มีผลกับความลาดเอียงของหลังคา ซึ่งโครงสร้างที่นิยมใช้กันจะเป็นโครงสร้างเหล็กและโครงสร้างสำเร็จรูป มาดูกันครับว่าถ้าจะต่อเติมหลังคาหน้าบ้านต้องใช้โครงสร้างแบบไหนถึงจะเหมาะ

  • โครงสร้างเหล็ก

โครงสร้างแบบแรกที่จะมาเล่าถึงเลยก็คือต่อเติมหลังคาหน้าบ้านด้วยโครงสร้างเหล็ก เป็นโครงสร้างที่สามารถทำได้รวดเร็ว วิธีการไม่ยุ่งยาก รูปแบบเหล็กที่นิยมใช้กันมักจะเป็นเหล็กกล่อง เหล็กตัว C หรือเหล็กเบาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านวัสดุก่อสร้าง สำหรับวิธีการเลือกนั้นก็ควรเลือกโครงสร้างเหล็กที่ได้รับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น มอก., ASTM, BSI, JIS เป็นต้น สำหรับความยาวเหล็กโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 6 เมตรครับ  สำหรับการติดตั้งต่อเติมหลังคาหน้าบ้านในส่วนของโครงสร้างเหล็กนั้นจะต้องอาศัยความชำนาญของช่าง ที่จะทำการเชื่อมเหล็กให้แข็งแรง มั่นคง และปลอดภัย นอกจากนั้นจะต้องทาสีกันสนิมให้ทั่วทุกด้านด้วย หรือจะเลือกเหล็กที่ชุบสีกันสนิมมาเลยก็ได้นะครับ

  • โครงสร้างสำเร็จรูป

โครงสร้างสำเร็จรูป หรือเรียกว่าโครงหลังคากัลวาไนซ์ ทำมาจากเหล็กที่มีกำลังดึงสูง แล้วเคลือบผิวเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียมซิงค์ หรือแมกนีเซียมซิงค์ โครงสร้างสำเร็จรูปนี้มีราคาแพงกว่าโครงสร้างเหล็กธรรมดา เพราะมีจุดเด่นในการทนต่อกรดเกลือ  เหมาะกับการใช้บริเวณบ้านริมทะเล เป็นต้น

สำหรับการต่อเติมหลังคาหน้าบ้านด้วยโครงสร้างสำเร็จรูปนั้น เจ้าของบ้านหรือช่างจะเป็นคนสั่งทำแบบ ซึ่งช่างที่จะผลิตโครงสร้างสำเร็จรูปนั้นจะต้องมาวัดขนาดพื้นที่จริงก่อนที่จะไปผลิตโครงสร้างสำเร็จรูป เมื่อผลิตเรียบร้อยแล้วถึงจะนำมาติดตั้งที่หน้างานจริง วิธีการติดตั้งนั้นจะต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญสูง

ในส่วนของรูปแบบโครงสร้างสำเร็จรูปนั้นค่อนข้างมีทางเลือกให้น้อยมักเป็นหลักคาทรงจั่ว , ปั้นหยา รูปทรงทั่วไปเป็นต้น

2. โครงสร้างพื้น

ต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน

โครงสร้างต่อมาที่ต้องให้ความสำคัญในการต่อเติมหลังคาหน้าบ้านก็คือโครงสร้างพื้น ซึ่งจะแบ่งเป็นพื้นคอนกรีตวางบนดินและพื้นคอนกรีตวางบนคานครับ

  • พื้นคอนกรีตวางบนดิน

สำหรับพื้นคอนกรีตวางบนดิน เป็นพื้นคอนกรีตหล่อบนพื้นดินหรือทรายบดอัด ไม่มีคานรองรับ มักใช้สำหรับพื้นชั้นล่าง ซึ่งจะเป็นการวางพื้นที่ลงบนดินโดยตรง ซึ่งจะมีการทรุดตัวตามดินในพื้นที่นั้นๆ ฉะนั้นหากต้องการจะวางพื้นคอนกรีตลงบนดินโดยตรงในการต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน แนะนำว่าในตอนที่ลงเสาติดกับพื้นคอนกรีตนั้นควรคั่นด้วยแผ่นโฟมเอาไว้ เพื่อป้องกันการทรุดตัวตามดินที่สูงขึ้น และควรบดอัดดินหรือทรายให้แน่น เพื่อป้องกันคอนกรีตที่อาจแตกจากการทรุดตัวได้ สำหรับพื้นคอนกรีตวางบนดินนั้นมักจะใช้ในการต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน เพื่อใช้ทำพื้นของที่จอดรถและใช้สำหรับพื้นชั้นล่าง

  • พื้นคอนกรีตวางบนคาน

พื้นคอนกรีตวางบนคาน จะเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ถ่ายน้ำหนักลงสู่คานโดยตรง มีทั้งพื้นคอนกรีตหล่อในที่หรือพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป จะนิยมใช้ในการต่อเติมในบ้านและอาคารทั่วไป

3. โครงสร้างเสาเข็ม

ต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน

โครงสร้างต่อมาที่ต้องให้ความสำคัญในการต่อเติมหลังคาหน้าบ้านก็คือ เสาเข็ม เพราะจะเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนักและป้องกันไม่ให้เกิดการทรุดตัวได้ สำหรับเสาเข็มนั้นจะแบ่งเป็น

  • เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง

ซึ่งเป็นเสาเข็มที่นิยมมากที่สุดใช้กันมากที่สุดในบ้าน ทำจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็วและโครงเหล็กภายในทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูง วิธีการตอกเสาเข็มนั้นทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ตอกลงไปเท่านั้น

  • เสาเข็มรูปตัวไอ

เป็นเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงชนิดตอกจะใช้ในการรองรับน้ำหนักได้สูง มักในงานก่อสร้างบนพื้นที่ที่ชั้นดินข้างล่างเป็นชั้นดินเหนียวหรือชั้นดินตะกอน ทนต่อแรงตอก และไม่หักงอง่ายๆ แต่มีหน้าตัดใหญ่มากกว่าเสาเข็มแบบอื่นๆ

  • เสาเข็มเจาะ

คือเสาที่เจาะลงไปใต้พื้นดิน แล้วเทคอนกรีตลงไปในหลุมที่เจาะขึ้นรูปเป็นเสาเข็ม ซึ่งเมื่อปูนก่อตัวแห้งแล้วก็จะได้เป็นเสาเข็มเจาะ เสาเข็มเจาะแบบนี้จะทำหน้าที่ในการแบกรับน้ำหนักเป็นฐานรากของบ้านหรืออาคาร

ส่วนคำถามที่ว่าจะเลือกเสาเข็มแบบไหน สำหรับต่อเติมหลังคาหน้าบ้านนั้น อย่างแรกที่เราจะต้องดูก็คือว่าบ้าน หรืออาคารของเรานั้นมีเสารับหลังคาหรือมีเสาเข็มอยู่หรือไม่ หากมีอยู่แล้ว แล้วเห็นว่าหลังคาหน้าบ้านที่จะต่อเติมนั้นสามารถยึดกับโครงสร้างบ้านอย่าง คาน เสาได้แข็งแรงพอ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมีเสารองรับหรือเสาเข็มเพิ่มเติมครับ แต่หากไม่มีเสาเข็มหรือเห็นว่าไม่สามารถรับน้ำหนักได้พอจะต้องมีเสาเข็มเพื่อรองรับน้ำหนักครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากต่อเติมหลังคาหน้าบ้านที่ยื่นจากตัวบ้านไม่เกิน 2 เมตรอาจไม่ต้องมีเสารองรับ แต่หากยาวเกิน 2 เมตร หรือใช้วัสดุมุงหลังคาที่มีน้ำหนักมากควรทำเสารองรับอีกชุดอย่างน้อย 4 ต้น

4. วัสดุมุงหลังคา

ต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน

ส่วนสุดท้ายสำหรับการต่อเติมหลังคาหน้าบ้านก็คือการเลือกวัสดุมุงหลังคา ซึ่งควรเลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา โดยมีทั้งแบบโปร่งแสงและแบบทึบให้เลือกได้ตามความต้องการ

  • สำหรับวัสดุต่อเติมหลังคาหน้าบ้านแบบโปร่งแสงนั้น ก็อย่างเช่นอะคริลิก, โพลีคาร์บอเนต, วัสดุแผ่นลอนอย่าง UPVC แบบสีขาวขุ่น และไฟเบอร์กลาส

  • สำหรับวัสดุต่อเติมหลังคาหน้าบ้านแบบทึบแสง นั้นก็อย่างเช่นเมทัลชีท และไวนิลครับ

ก่อนจะต่อเติมหลังคาหน้าบ้านนั้น เราควรดูสภาพพื้นที่เดิมของเราก่อนว่าจำเป็นต้องซื้ออะไร และเลือกแบบไหนถึงจะเหมาะ ตอบโจทย์ ​และคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสีย ที่สำคัญอย่าลืมคำนวณในการจ่ายค่าช่างด้วยนะครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร