Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีซ่อมหม้อหุงข้าวที่คุณทำเองได้

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ปัญหาหม้อหุงข้าวไฟไม่เข้าและหม้อหุงข้าวไม่ตัดไฟ เราควรจะซื้อเปลี่ยนใหม่หรือซ่อมดีกว่า ปัญหาคิดไม่ตกเมื่อหม้อหุงข้าวพัง วันนี้ Baania นำวิธีซ่อมหม้อหุงข้าว พร้อมวิธีตรวจเช็คว่าทำไมหม้อหุงข้าวถึงพังมาบอกกันครับ เผื่อสามารถซ่อมเองได้จะได้ไม่ต้องเปลืองเงินซื้อหม้อหุงข้าวใหม่ครับ 

ปัญหาหม้อหุงข้าวไฟไม่เข้า

ส่วนใหญ่ที่หม้อหุงข้าวไฟไม่เข้าหรือไม่สามารถใช้งานได้จะมาจากเทอร์โมฟิวส์ขาด โดยจะเกิดอาการไฟฟ้าไม่ไหลเข้ามาในหม้อหุงข้าว แม้จะเสียบปลั๊กไว้อยู่แต่ไฟก็ไม่ติด เหมือนตัววงจรไฟฟ้าภายในหม้อหุงข้าวไม่ทำงาน หากลองขยับปลั๊กแล้วก็ยังไม่ติด สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจเป็นปัญหาเทอร์โมฟิวส์ ซึ่งเราสามารถซื้อมาเปลี่ยนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งหม้อหุงข้าว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เทอร์โมฟิวส์ขาดก็มีด้วยกันหลายสาเหตุ ตั้งแต่ด้านการผลิตจากโรงงาน หากช่องวางตัวหม้อไม่แนบสนิท ก้นหม้อกับแผ่นความร้อนอาจสัมผัสกันได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้การส่งผ่านความร้อนมีปัญหา จนทำให้ตัวหม้อร้อนจัด และเมื่อมีการสะสมความร้อนไว้มากๆ จึงเป็นสาเหตุทำให้ฟิวส์ขาด

เบื้องต้นสามารถตรวจสอบได้ว่าเทอร์โมฟิวส์มีปัญหาหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาอื่น ท่านสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ ดังนี้

  1. ให้ตรวจสอบการไหลผ่านของกระแสไฟฟ้าก่อน ว่ามีการไหลผ่านหรือไม่ ทำได้ด้วยการใช้เครื่องวัดไฟฟ้าที่ขาปลั๊กทั้งสองขาดู
  2. จากนั้นลองตรวจสอบเต้าเสียบไฟในบ้าน ว่าชำรุดหรือมีกระแสไฟไหลผ่านไหม เพราะบางครั้งอาจจะเกิดการชำรุดของเต้าเสียบไฟ
  3. ให้ตรวจสอบสายไฟที่ใช้ต่อจากแหล่งของเต้าเสียบภายในตัวเครื่อง ดูว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านหรือไม่

หากตรวจสอบครบทั้ง 3 ข้อแล้ว กระแสไฟไหลผ่านตามปกติ แสดงว่าอุปกรณ์เทอร์โมฟิวส์อาจจะเกิดการชำรุดได้ เบื้องต้นให้ซื้อมาเปลี่ยน จะทำให้หม้อหุงข้าวสามารถกลับมาใช้งานได้ตามเดิม 

วิธีการซ่อมหม้อหุงข้าวไฟไม่เข้า

สำหรับการซ่อมหม้อหุงข้าว อันเนื่องมาจากเทอร์โมฟิวส์ขาด มีขั้นตอนสั้นๆ ไม่ยุ่งยาก ทำได้ด้วยตนเองแบบไม่เป็นอันตราย สามารถทำได้ตามวิธีดังต่อไปนี้

  1. คว่ำหม้อหุงข้าวลง แล้วให้ขันนอตบริเวณฝาด้านใต้เครื่องออกให้หมด เปิดด้านล่างออกเพื่อสะดวกในการเปลี่ยน
  2. เอาเทอร์โมฟิวส์ตัวออกเก่า และใส่ตัวใหม่เข้าไปแทนที่ โดยวางในตำแหน่งเดิม
  3. ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อของสายไฟให้เรียบร้อย ห้ามต่อผิดเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการช็อตได้ เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว ให้ปิดฝาครอบด้านล่าง ด้วยการขันนอตให้แน่นสนิท
  4. ทดลองเปิดหม้อหุงข้าวดูว่า สามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ หากไฟเข้าตามปกติหมายความว่า ประสบความสำเร็จในการเลี่ยนเทอร์โมฟิวส์

วิธีการซ่อมหม้อหุงข้าว

วิธีการเลือกซื้อเทอร์โมฟิวส์

อย่างที่บอกไปในวิธีซ่อมหม้อหุงข้าวไฟไม่เข้าว่าจะต้องซื้อเทอร์โมฟิวส์มาเปลี่ยน หลายคนอาจยังไม่เคยเลือกซื้อ ผมนำวิธีเลือกซื้อเทอร์โมฟิวส์มาบอกกัน

1. เลือกซื้อเทอร์โมฟิวส์ ที่มีความทนทานต่อความร้อนสูง

เทอร์โมฟิวส์นั้นรูปร่างหน้าตาจะไม่ต่างกันมาก แต่จะต่างกันที่องศาทนความร้อน หรือเรียกว่า จุดหลอมละลาย ยิ่งต่ำมากก็ยิ่งดีต่อการใช้งาน เพราะหากว่าเกิดปัญหาด้านความร้อนจากระแสไฟไหลเข้า เทอร์โมฟิวส์ก็จะละลายตัวเร็ว ส่งผลให้ตัดการทำงานของหม้อ โดยทั่วไปเทอร์โมฟิวส์จะทนความร้อนอยู่ที่ 73 – 250 องศา ฉะนั้นสำหรับความองศาที่เหมาะแก่การนำมาใช้งานคือ มีความทนทาน 185 องศาขึ้นไป จะทำให้ยืดอายุการใช้งานได้ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ

2. เลือกซื้อเทอร์โมฟิวส์ ตามจำนวนแอมป์

นอกจากความคงทนแล้ว จะต้องเข้ากันได้ดีกับมิเตอร์ไฟของบ้านท่านด้วย เพราะหากเลือกเทอร์โมฟิวส์ที่มีความทนทานต่ำกว่าไฟฟ้า ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในการใช้งานได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น มิเตอร์ไฟบ้าน 20 แอมป์ แต่เลือกเทอร์โมฟิวส์ 10 แอมป์ เป็นต้น ซึ่งหากซื้อแบบนี้มาจะมีปัญหาในการใช้งานแน่นอน ดังนั้นแอมป์ไฟกับแอมป์เทอร์โมฟิวส์จะต้องมีความสอดคล้องกัน
ในหม้อหุงข้าวรุ่นปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาใส่ตัวเทอร์โมฟิวส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงไม่ค่อยเกิดปัญหาเท่าไหร่นัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากเกิดปัญหา ให้ซื้อมาเปลี่ยนตามคำแนะนำเบื้องต้น ซึ่งจะประหยัดกว่าเปลี่ยนหม้อใหม่หลายเท่าตัว

เทอร์โมฟิวส์

ปัญหาหม้อหุงข้าวไม่ตัดไฟ

หม้อหุงข้าวไม่ตัดไฟอีกสาเหตุที่ทำให้หม้อหุงข้าวไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นลวดสปริงเกิดการเสื่อมสภาพ

วิธีการซ่อมหม้อหุงข้าวไม่ตัดไฟ

สำหรับวิธีแก้ไขหม้อหุงข้าวไม่ตัดไฟ สามารถทำได้ง่ายๆ ได้ด้วยการนำสปริงออกมายืด เพื่อทำให้ใช้งานต่อได้ หรือเปลี่ยนตัดกระแสไฟฟ้า (thermostat) ใหม่ ก็จะทำให้ใช้งานได้สะดวกมากกว่าเดิมครับ

ประเภท

เรื่องต้องเข้าใจก่อนซ่อมหม้อหุงข้าว

อีกหนึ่งเรื่องก่อนที่เราจะซ่อมหม้อหุงข้าวก็คือประเภทของหม้อหุงข้าว เพื่อให้เข้าใจกลไกการทำงานของหม้อหุงข้าวก่อนลงมือซ่อมครับ

1. หม้อหุงข้าวแบบธรรมดา

เป็นหม้อหุงข้าวที่คุ้นเคยกันอย่างดี เพราะมีการใช้งานมาตั้งแต่อดีต หม้อหุงข้าวประเภทนี้ราคาไม่แพง มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ระยะเวลาในการหุงข้าวค่อนข้างเร็ว ประมาณ 20 นาทีข้าวก็สุกแล้ว แต่จะไม่สามารถอุ่นข้าวได้เพราะไม่มีระบบอุ่น

2. หม้อหุงข้าว พร้อมอุ่นได้อัตโนมัติ

จะคล้ายๆ กับหม้อหุงข้าวธรรมดา วิธีใช้ไม่ต่างกัน เพียงแค่รุ่นนี้จะมีระบบอุ่นเสริมเข้ามา หุงข้าวสุกประมาณ 20 – 25 นาที และสามารถอุ่นต่อได้หากหุงในปริมาณมาก สะดวกตรงที่ไม่ต้องหุงหลายครั้ง ตัวดีไซน์ของหม้อหุงข้าวพร้อมอุ่นอัตโนมัติ มีความทันสมัยมากกว่าหม้อหุงข้าวธรรดา

3. หม้อหุงข้าวแบบดิจิตอล

เป็นหม้อหุงข้าวที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ด้วยฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกล ดขั้นตอนในการหุงข้าว หม้อหุงข้าวประเภทนี้จะเป็นระบบดิจิตอล จึงหุงข้าวได้นุ่มฟูกว่าประเภทอื่น ๆ และสามารถหุงข้าวได้หลากหลาย ทั้งข้าวสวยและข้าวเหนียว รวมไปถึงยังสามารถนำมาประกอบอาหารชนิดอื่นอย่างเช่น เค้ก อาหารประเภทต้ม เป็นต้น เพียงแค่ตั้งโปรแกรมที่ต้องการ หม้อหุงข้าวจะทำงานอัตโนมัติ ควบคุมความร้อนด้วยคอมพิวเตอร์

หากมีปัญหาในการใช้งาน อย่าเพิ่งเปลี่ยนใหม่ในทันที ลองมาดูวิธีซ่อมหม้อหุงข้าวและลองซ่อมด้วยด้วยตนเองกันก่อน หากลองซ่อมด้วยตนเองแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ ค่อยซื้อหาหม้อหุงข้าวใบใหม่แทนนะครับ

ที่มาภาพประกอบ :

https://worthen-life.com

https://ake-remake.blogspot.com

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร