Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เลิกกับแฟน สินเชื่อที่กู้ร่วมไว้ทำอย่างไรดี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังคงขอลอง... หลายคนยึดคตินี้ในการตัดสินใจกู้ร่วมกับคนรัก ที่ยังคงสถานะเพียงแฟนเท่านั้น ยิ่งเดือนแห่งความรักแบบนี้ การเตรียมหาเรือนหอ หรือการวางแผนสร้างครอบครัว อยากจะมีบ้านหรือคอนโดร่วมกันสักหลังก็ดูดีไม่น้อย เพราะในช่วงความรักหวานชื่นต่างก็เชื่อกันว่า คนคนนี้คือ Soul Mate ของเราแน่ๆ ภาวะการกู้ร่วมจึงเกิดขึ้น เพราะการกู้ร่วมคือการร่วมกันเป็นหนี้ แต่ก็ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน สำหรับผู้ที่เงินเดือนยังไม่สูงมาก

ตามที่จริงแล้วสถาบันการเงินมักอนุมัติผู้ที่กู้ร่วมกันได้ให้กับคนที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดเป็นหลัก เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดปัญหาหนี้เสียตามมา ไม่ว่าจะเป็น

  • สามี-ภรรยาที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย หรือมีหลักฐานแสดงการเป็นสามีภรรยากัน เช่น ภาพถ่ายแต่งงาน บุตร  เป็นต้น
  • พี่น้องท้องเดียวกันที่นามสกุลเดียวกัน
  • พี่น้องท้องเดียวกัน แต่คนละนามสกุล จะต้องแสดงหลักฐาน
  • พ่อหรือแม่กับลูก
  • ญาติที่นามสกุลเดียวกัน
  • พ่อแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรม

ส่วนใครที่อยากกู้ร่วมกับแฟนนั้น ในปัจจุบันก็มีคนใช้วิธีนี้กันมาก ด้วยการแสดงหลักฐานว่าเป็นแฟนกันและมีความสามารถในการผ่อนไหว แต่ทราบหรือไม่ว่าวิธีนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องจากรักของคุณที่หวานปานน้ำผึ้งในขณะนี้อาจไม่ได้จีรังยั่งยืนตลอดไป เมื่อไรที่หวานเปลี่ยนเป็นขม ปัญหาจะตามมาแบบรัวๆ เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นไม่ช่วยกันผ่อนระหว่างทาง และเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือความรักถึงทางตัน มีอันต้องเลิกกันแล้วตกลงกันไม่ได้ว่ากรรมสิทธิจะเป็นของใคร หรือขัดแย้งจนถึงขั้นไม่ยอมถอนชื่อ แม้อีกคนจะยอมผ่อนคนเดียวก็ตาม รวมถึงปัญหาผ่อนคนเดียวไม่ไหว เมื่อมีคนหนึ่งถอนชื่อไปด้วย

วิธีแก้ปัญหาเมื่อเลิกกัน
เมื่อรักถึงทางตัน กู้ร่วมนั้นจะทำอย่างไรต่อไปดี เพราะจะให้อยู่ร่วมบ้านหรือคอนโดเดียวกันในความสัมพันธ์ที่จบลงไปคงไม่ดีเท่าไรนัก วิธีแก้ปัญหาจึงแบ่งออกเป็น 3 ทางหลัก

  • ถอนชื่อผู้กู้ร่วมออก

ตกลงกันให้ได้ว่าใครจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในอสังหาฯ นั้น ซึ่งคนนั้นจะต้องรับไม้ต่อในการผ่อนคนเดียว เมื่อตกลงได้แล้ว ให้ไปทำเรื่องถอนชื่อผู้กู้ร่วมอีกคนออก ซึ่งขอบอกว่าวิธีนี้ยากมากครับ เนื่องจากความสามารถในการกู้คนคนเดียวจะไม่เพียงพอที่สถาบันการเงินจะอนุมัติ

  • รีไฟแนนซ์

สำหรับใครที่อยากกู้คนเดียวหรือหาผู้ร่วมกู้คนใหม่ แต่ติดปัญหาที่สถาบันการเงินเดิมไม่อนุมัติหรือผิดเงื่อนไข การรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่นสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะยอดหนี้ที่น้อยลงจากการผ่อนไปสักระยะแล้ว จะทำให้มีโอกาสที่ธนาคารจะประเมินศักยภาพการผ่อนได้ดีกว่าเดิม

  • ขายอสังหาฯ

เมื่อตกลงร่วมกันว่าไม่มีใครต้องการถือกรรมสิทธิอสังหาฯ นั้นๆ แล้ว ให้ประกาศขาย เพื่อเอาเงินก้อนมาโปะสินเชื่อที่กู้ไว้

ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข
วิธีการเหล่านี้เป็นการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา แต่ที่จริงแล้ว ผมอยากให้ทุกคนป้องกันปัญหาดีกว่าตามมาแก้นะครับ

  • ศึกษาข้อมูลการกู้ร่วม

ก่อนยื่นเรื่องกู้ร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ ควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจทั้งจากอินเทอร์เน็ตและจากผู้รู้ รวมทั้งปรึกษากับสถาบันการเงินก่อน ทั้งเรื่องภาระการผ่อนรายเดือน เรื่องกรรมสิทธิ และวางแผนว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะทำอย่างไร

  • ตกลงเรื่องกรรมสิทธิก่อนกู้

การตกลงเรื่องกรรมสิทธิก่อนที่จะเกิดการกู้ เป็นการป้องกันปัญหาเบื้องต้น โดยถ้าให้แนะนำการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิคนเดียวดูจะปลอดภัยกว่า หากตกลงเป็นกรรมสิทธิร่วมจะทำให้คุณเป็นหนี้พร้อมกันทั้ง 2 คน หากใครคนหนึ่งไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบ อีกคนจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดทันที

การวางแผนการเงินเพื่อซื้อบ้านเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ดังนั้นหากใครมีแผนจะสร้างครอบครัวด้วยการมีบ้านสักหลังที่จะใช้เวลาอยู่ร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ขอให้วางแผนกันอย่างรอบคอบ รัดกุมจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังนะครับ
 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร