Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถ้าที่จอดรถหมอชิตหายไป เราจะทำอย่างไรกันดี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อที่จอดรถหมอชิตถูกยกเลิกไป ผู้ใช้บริการมากกว่าครึ่งหนึ่งจะไปหาที่จอดรถใหม่บริเวณใกล้เคียง และบางส่วนจะขับรถเข้าไปในเมืองแทนการนั่งรถไฟฟ้า
  • ผู้ใช้บริการ 81% สามารถนำรถมาจอดที่จอดรถหมอชิตได้ถึง 4-5 วันต่อสัปดาห์
  • ผู้ที่นำรถยนต์มาจอดที่จอดรถหมอชิต โดยเฉลี่ยขับรถมาไกลถึง 19.4 กิโลเมตร
  • บางคนต้องตื่นตั้งแต่ก่อน 6 โมงเช้าเพื่อนำรถยนต์มาจอด
  • ส่วนใหญ่เดินทางต่อด้วย BTS มากกว่า MRT

 

คนทำงานในเมืองจำนวนไม่น้อย ที่มักจะขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากต้นสายที่สถานีหมอชิต คงเคยผ่านประสบการณ์ความโหดร้ายของที่จอดรถหมอชิตมาอย่างโชกโชน เพราะที่จอดรถหมอชิตแห่งนี้ ถึงจะโลเคชั่นดี แต่เช้ามา 7 โมงกว่าก็เต็มแล้ว รถแน่น เบียด กลางวันแดดร้อน กลางคืนเปลี่ยว จอดเมื่อไหร่ก็เสี่ยงอันตรายจากการโดนเฉี่ยวชนเมื่อนั้น แต่… ในอนาคตอันใกล้ มันจะถูกยกเลิกแล้วครับ เดาได้ไม่ยากว่าเมื่อที่จอดรถหมอชิตถูกปิดลงแล้ว ชีวิตคนเมืองสะเทือนแน่นอน

 

Baania ขอพาทุกคนมารู้จักกับประวัติของที่จอดรถเลื่องชื่อแห่งนี้ รวมทั้งคาดการณ์ว่าหลังจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น ถึงเวลาตั้งการ์ดรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแล้วครับ

 

ประวัติความเป็นมา อันแสนซับซ้อนและยาวนานของที่ดินราชพัสดุสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต

ที่จอดรถหมอชิตเก่า หรืออีกชื่อหนึ่งที่เป็นทางการคือ “โครงการที่ราชพัสดุสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต” เดิมทีถูกวางแผนให้พัฒนาเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารจากสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เมื่อกรมธนารักษ์เข้ามาอ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด 63 ไร่ ตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุปี 2518 พื้นที่นี้จึงถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินไป โดยส่วนหนึ่งกรมธนารักษ์ต้องการพัฒนาเป็นอู่จอดรถไฟฟ้า (BTS) และส่วนที่เหลือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้างเพื่อการพาณิชย์

 

กรมธนารักษ์จึงเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล ซึ่งในที่สุดแล้ว บริษัท บางกอกเทอร์มินอล เป็นผู้ชนะในการประมูลไป และได้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์ โดยให้ข้อเสนอผลตอบแทนแก่รัฐ 550 ล้านบาท บางกอกเทอร์มินอลวางแผนสร้างคอมเพล็กซ์สูง 5 ชั้น พร้อมโรงแรมระดับ 5 ดาว มีห้องพัก 450 ห้อง และห้างสรรพสินค้าครบวงจร คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

 

ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ทว่า…. ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าโครงการที่ราชพัสดุสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2535 เนื่องจากโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงส่งผลให้โครงการนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จนกว่าจะทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้น และหากกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทางกรมธนารักษ์ก็เกรงว่าจะถูกบริษัท บางกอกเทอร์มินอล ซึ่งเป็นคู่สัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จึงปล่อยให้ที่ดินบริเวณนั้นใช้ประโยขน์เป็นลานจอดแล้วจรของประชาชนเรื่อยมา จนกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องสัญญาก่อสร้างโครงการได้

 

ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนอย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว โครงการที่ถูกพับไปจึงพร้อมกลับมาเดินหน้าเต็มสูบอีกครั้ง นี่จึงเป็นที่มาของการยกเลิกที่จอดรถหมอชิตครับ

 

สถานีรถไฟฟ้าคนแน่น

 

จะสร้างเป็นอะไร?

อย่างที่เราบอกไป ในอนาคตอันใกล้นี้ที่จอดรถหมอชิตจะถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยโครงการคอมเพล็กซ์ยักษ์ 63 ไร่ โดยบริษัท บางกอกเทอร์มินอล เจ้าเดิม พื้นที่ตรงนี้จะถูกพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส มีศูนย์การค้า สำนักงาน ที่อยู่อาศัย โรงแรม และที่จอดรถ บขส.

 

ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างนำสัญญาให้อัยการตรวจสอบ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีประทับตราภายในปีนี้

*อ้างอิง: https://www.prachachat.net/columns/news-36580

 

เมื่อถูกยกเลิกแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?

มีงานวิจัย 1 ชิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของ คุณดาวัต กิตติธรรมวงศ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของผู้ใช้ที่จอดรถสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตไว้ และสามารถช่วยตอบคำถามของเราได้ มาดูผลที่ได้จากงานวิจัยนี้กันครับ

 

คำถามที่คุณดาวัตตั้งขึ้นมาหาคำตอบคือ เมื่อที่จอดรถหมอชิตถูกยกเลิกไป ผู้ใช้บริการจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางอย่างไรบ้าง?

 

กลุ่มตัวอย่างและวิธีการเก็บข้อมูล

ผู้วิจัยได้ไปสัมภาษณ์ผู้ที่นำรถมาจอดที่ที่จอดรถหมอชิต ในวันจันทร์ - ศุกร์ ไม่รวมผู้ที่มาจอดเพื่อรอรับ-ส่ง ตั้งแต่วันที่ 20 - 28 เมษายน 2560 ช่วงเวลา 17.00 น. – 22.00 น.และได้ตัวอย่างมาทั้งสิ้นจำนวน 315 ตัวอย่าง

 

ผลกระทบหากยกเลิกที่จอดรถหมอชิต

 

จากผลการวิจัย คนส่วนใหญ่เลือกที่จะย้ายไปจอดรถที่อื่น หรือขับรถไปยังจุดหมายเลยรวดเดียว นั่นหมายความว่า เมื่อมีการยกเลิกที่จอดรถหมอชิต จะมีรถยนต์ขับเข้าไปในเมืองมากขึ้น และใช้ระบบรถไฟฟ้าลดลง รัฐอาจต้องเตรียมการรองรับผู้ใช้บริการที่ต้องหาที่จอดรถใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย จากการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น

 

ถ้าเป็นคุณจะแก้ปัญหาการเดินทางของตัวเองอย่างไร? แล้วพร้อมไหมกับการอยู่โดยไม่มีที่จอดรถหมอชิตอีกต่อไป?

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร