จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสวยงามทางวัฒนธรรม ผู้คนมีเสน่ห์ อัธยาศัยดีมีน้ำใจ เป็นแหล่งรวมงานศิลปะ หัตถกรรมและวัฒนธรรมที่ล้ำค่า อีกทั้งเป็นเมืองน่าอยู่และปลอดภัย มีสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายและค่าครองชีพไม่สูงมาก นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาด้านการแพทย์และเทคโนโลยี รวมถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแสดงถึงศักยภาพโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ในมุมมองของคุณณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และประธานเครือข่ายหน่วยงานบริการ SMEs ภาคเหนือ ตัวจักรสำคัญของภาคเอกชนที่มีส่วนผลักดันการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลกับทีมงาน HBG ไว้อย่างน่าสนใจ
พัฒนาการด้านการค้าการลงทุนของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
จังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องมี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
ทิศทางการลงทุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการลงทุนมาก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เป็นการลงทุนที่พักอาศัยในแนวราบ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนที่พักแนวสูงที่เป็นห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมมากขึ้น จังหวัดเชียงใหม่มีที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในระหว่างการขายทั้งสิ้นประมาณ 149 โครงการ ประมาณ 19,800 หน่วย เป็นบ้านจัดสรรประมาณ 105 โครงการ จำนวนประมาณ 13,700 หน่วย และอาคารชุด 44 โครงการ จำนวนรวมประมาณ 6,100 หน่วย ประกอบกับช่วงสุญญากาศของกฎหมายผังเมือง นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จึงเร่งขออนุญาตจัดสรรที่ดินเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาที่ดินมีราคาสูงเป็นเท่าตัว
อสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตขึ้นส่งผลให้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง รวมถึงภาคแรงงานมีการเติบโตขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้การลงทุนที่มักจะกระจุกตัวอยู่บริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ทำให้พื้นที่ชั้นในตัวเมืองที่จำกัด อีกทั้งการจราจรที่ติดขัด ทำให้กลุ่มทุนหลายรายจับจองทำเลลงทุนใหม่บริเวณวงแหวนรอบกลางออกไป เพราะการเดินทางที่สะดวก ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกและแหล่งจับจ่ายใช้สอย คาดว่าในปี 2556 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่จะยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร
โครงการขนาดใหญ่ผลักดันให้เกิดการลงทุนหรือไม่อย่างไร
จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้นมากกว่า 1,700,000 คน มีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 79,971 บาทต่อคนต่อปี มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 หรือประมาณ 143,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ GDP ของปี 2553-2554 มีประมาณร้อยละ 2.8 หรือประมาณ 138,000 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างโครงการต่างๆ ในเชียงใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นอีก 6 ปีข้างหน้า ทำให้คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของ GDP หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี จังหวัดเชียงใหม่ยังมีความน่าสนใจในเรื่องโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมถึงโครงการถนนวงแหวนรอบ 4 และสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ที่จะเป็นตัวดึงดูดการลงทุนและการหลั่งไหลของคนเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก 6-7 ปีข้างหน้า คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินจากการเดินรถไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของ GDP หรือประมาณ 159,575 ล้านบาทต่อปี สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 20,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 7.2 ล้านคนต่อปี สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 387,821 ล้านบาท อาจอยู่ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ PPP (Public-private Partnership) ปัจจุบันได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาและดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2556
ในส่วนของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จากการประกาศเจตนารมณ์ของ 8 องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.ในการประชุม MICE Summit เพื่อผลักดันและพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นนครแห่ง MICE ระดับโลก ในปี2556 เป็น “ปีแห่ง MICE จังหวัดเชียงใหม่" ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าอุตสาหกรรม MICE รวมกว่า 3,355 ล้านบาท
โดยศักยภาพด้านสาธารณูปโภคของจังหวัดเชียงใหม่ที่สำคัญ คือการเปิดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่สามารถรองรับการประชุมถึง 10,000 คนต่อวัน และการจัดงานแสดงสินค้าที่สามารถรองรับคนได้ถึง 50,000 คนต่อวัน ในตัวเมืองเชียงใหม่มีจำนวนห้องพักรวมกว่า 30,000 ห้อง สนามบินนานาชาติใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ การบินภายในประเทศมีประมาณสัปดาห์ละ 400 เที่ยว และการบินต่างประเทศกว่า 80 เที่ยวต่อสัปดาห์ หรือมีเที่ยวบินรวมกว่า 12,377 เที่ยวบินต่อปี สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 8 ล้านคนต่อปี
กฎหมายผังเมืองกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหมหรือไม่ อย่างไร
การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ยังคึกคัก ทั้งกลุ่มคอนโดมิเนียม คอมมูนิตี้มอลล์ หอพักอพาร์ตเมนต์ และบ้านจัดสรร มีกลุ่มทุนจากส่วนกลางและท้องถิ่นผุดโครงการใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่ยังกังวลกับกฎหมายผังเมืองที่ยังไม่ประกาศใช้ ซึ่งการประกาศใช้กฎหมายผังเมืองเชียงใหม่มีทั้งผลดีและผลเสีย
นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่มักมองหาแหล่งลงทุนในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีโครงสร้างขั้นพื้นฐานดี และค่าเงินไม่สูงมาก จึงทำให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพรองจากกรุงเทพมหานคร อีกทั้งความต้องการด้านที่พักอาศัย จึงไม่แปลกที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่การเติบโตของเศรษฐกิจการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่อาจส่งผลให้เอกลักษณ์ของความเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศถูกกลืนไป อย่างเช่น สี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ และสถาปัตยกรรมอันล้ำค่าต่างๆ เอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นเมืองเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี จึงอยากให้เจ้าบ้านและผู้ที่เข้ามาลงทุนในเชียงใหม่ตระหนักถึงคุณค่าแห่งความเป็นล้านนาให้คงอยู่ไว้ต่อไป
อย่างไรก็ดีตราบใดที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการและมีกำลังซื้อ บวกกับศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ในหลายๆ ด้าน เชื่อว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์รวมถึงธุรกิจด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้บริโภคยังคงมีทางเลือกใหม่ๆ ส่วนนักลงทุนที่เชื่อมั่นในศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งศักยภาพของนักลงทุนเอง คงไม่ต้องกังวลกับคำว่า “เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน” อีกต่อไป