Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ศราวุฒิ ศรีศกุน พร้อมใส่เกียร์ 5 เดินหน้า “พิงคนคร”

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงถือเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว การลงทุนและความเข้มแข็งของภาครัฐ ภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมและจัดให้มีการพัฒนาในรูปแบบพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

ดังนั้นการรวมตัวของสำนักงานพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่บริหารจัดการร่วมกันภายใต้ชื่อ “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)” จึงถือเป็นการบริหารจัดการที่มีลักษณะเฉพาะ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และอาจเป็นแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่ง ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ได้รับการแต่งตั้ง จะมาให้ข้อมูลพร้อมเผยกลยุทธ์การพัฒนาขององค์การมหาชนน้องใหม่ใน HBG ฉบับนี้อย่างน่าสนใจ

โครงสร้างการบริหารจัดการสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ เป็นอย่างไร

การพัฒนาพิงคนครคือการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เชื่อมหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี มีอํานาจหน้าที่ในการกํากับดูแลสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (สพค.)

รัฐมนตรีมีอํานาจหน้าที่กํากับดูแล สพค. และให้ “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร” ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตําแหน่ง 3 คน ได้แก่ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากภาคเอกชนในพื้นที่ 3 คน, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยต้องมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐที่มีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําร่วม ทั้งนี้ประธานกรรมการและกรรมการมีวาระดํารงตําแหน่งคราวละ 4ปี และให้มีผู้อำนวยการสำนักงาน 1 คนที่คณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งมีวาระ 4 ปี

ในวาระเริ่มแรกมีคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเลขาธิการ ก.พ.ร., ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง 3 คนเป็นกรรมการ โดยมี ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนครจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ และผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกาภายใน 180 วัน

ส่วนการจัดการภายในศูนย์ประชุมนั้นนอกจากมีคณะกรรมการบริหารจัดการแล้ว ยังมีคณะทำงานที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ เช่น คณะกรรมการด้านการจัดประชุมและแสดงสินค้า คณะกรรมการด้านความปลอดภัยโดยสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 และคณะกรรมการด้านสาธารณสุขดูแล หากเกิดเรื่องอุบัติเหตุฉุกเฉินจะมีหน่วยพยาบาล รถพยาบาล เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานของการประชุมระดับชาติไว้รองรับ

ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 

ความคืบหน้าและเป้าหมายของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ

พิงคนครได้รับงบประมาณที่ตกทอดมาจากงบประมาณของศูนย์ประชุมประมาณ 70 ล้านบาทของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อสร้างศูนย์ประชุมแล้วเสร็จจึงโอนมายังสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ โดยได้ทำการส่งมอบศูนย์ประชุมอย่างเป็นทางการไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยังมีบางส่วนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จพร้อมกับการทำการตลาดภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ทั้งนี้หากให้เวลาการบริหารศูนย์ประชุมเช่นเดียวกับการให้เวลาบริหารไนท์ซาฟารี คาดว่าจะสามารถทำการตลาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งตอนนี้ถือเป็นช่วงเริ่มต้นหลังจากที่รับโอน อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการเตรียมความพร้อม เพราะทุกธุรกิจมีวัฏจักรของสินค้า เช่น ครั้งที่เริ่มเข้ามาบริหารไนท์ซาฟารีเมื่อปีงบประมาณ 2553 มีรายได้เพียงปีละ 32 ล้านบาท กระทั่งปีงบประมาณ 2554 ไนท์ซาฟารีมีรายได้ 60 ล้านบาท ก่อนจะเป็น 106 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา ส่วนในปีนี้ถึงแม้จะไม่มีงานพืชสวนโลก รายได้ตั้งแต่ตุลาคมถึงปัจจุบันหากไม่มีสถานการณ์ทางธรรมชาติคาดว่าจะมีรายได้ถึง 110 ล้านบาท

การก่อสร้างศูนย์ประชุม โดยทั่วไปศูนย์ประชุมกว่าร้อยละ 90 ทั่วโลกจะขาดทุน แต่จะมีเม็ดเงินรายได้ ผลกำไรที่เกิดขึ้นอยู่ที่เมืองกระจายไปยังธุรกิจในพื้นที่ เพราะลูกค้าที่มาจัดประชุมจะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่ากลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวทั่วไป มีกำลังซื้อที่สูงกว่า มีเวลาเลือกซื้อสินค้ามากกว่าและนิยมพักในโรงแรมหรู เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาท ต่อคนต่อวัน มากกว่าลูกค้าที่มาเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ถึง 6 เท่า โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,000 บาทต่อคนต่อวัน ทั้งนี้คาดว่าในปีงบประมาณ 2556 ด้วยระยะเวลาเพียง 6 เดือน คาดว่าจะมีจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ประชุมประมาณ 10,000 คน มีรายได้กว่า 120 ล้านบาท

ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 

นโยบายและแผนพัฒนาสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ เป็นอย่างไรบ้าง

ในส่วนนโยบายการบริหารจัดการสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ ต้องรอให้ทางรัฐบาลเป็นผู้มอบอีกครั้ง เบื้องต้นหลังจากได้รับมอบศูนย์ประชุมก็เริ่มเรื่องการตลาดทันที ซึ่งจริงๆ แล้วแผนการตลาดจะต้องทำล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี แต่ตอนนี้ก็ต้องหาลูกค้ามาใช้บริการศูนย์ประชุมให้มากที่สุด โดยทางสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ จะต้องดูแลความเรียบร้อยของศูนย์ประชุมให้มีน้ำไหล ไฟต้องสว่างและทางต้องดี

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้เดินทางไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เพื่อเปิดตัวและแนะนำศูนย์ประชุม โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าในประเทศจะเน้นกลุ่มภาครัฐที่มีการประชุมสัมมนา ส่วนต่างประเทศจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีน อินเดียและตะวันออกกลาง มากกว่าประเทศประเทศในแถบยุโรปเพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำการประชุมระดับโลกมาจัดยังประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา โดยในเดือนพฤษภาคมจะประเดิมงานแรกคือ “การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2” (The 2nd Asia-Pacific Water Summit หรือ 2nd APWS) จากนั้นจะเป็นการประชุม “Thailand Rice Convention 2013” (TRC 2013) โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และในเดือนมิถุนายนจะมีการประชุมคณะสันนิบาตของนายกเทศมนตรีทั่วประเทศกว่า 4,000 คน

ด้วยเวลาเพียง 180 วันเป็นช่วงเวลาค่อนข้างสั้น ในเรื่องนโยบายจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องปรึกษาผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน รวมทั้งท่านผู้ว่าฯ และท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นคณะกรรมการบริหาร ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนและนโยบายจากคนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายหลักก็คือการพัฒนาท้องถิ่นและกระจายรายได้ให้กับคนเชียงใหม่ ในช่วงเริ่มต้นจะเป็นการบูรณาการระหว่างศูนย์ประชุม เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและพื้นที่เชื่อมโยง ในอนาคตอาจจะมีเวียงกุมกามหรืออุทยานหลวงราชพฤกษ์ร่วมบูรณาการด้วยเช่นกัน

ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 

ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ มีความโดดเด่นและรองรับปริมาณคนอย่างไร

จุดเด่นของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษาคือความใหม่และใหญ่ เพราะการที่จะดึงจุดขายของสินค้าหรือธุรกิจด้านนี้ได้ต้องมี 4 ข้อคือ “แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง” ศูนย์ประชุมของเราอาจไม่มีความแปลก แต่เรามีความใหม่และความกว้างใหญ่ ด้วยขนาดของศูนย์ประชุม 57,000 ตารางเมตร ในส่วนของศูนย์ประชุมสามารถรองรับได้ถึง 10,000 คนต่อวัน ซึ่งยังไม่รวมรวมศูนย์แสดงสินค้า OTOP และยังมีที่จอดรถอีกกว่า 3,000 คัน ซึ่งในเรื่องของความ “ดัง” เราจะต้องสร้างขึ้นให้ได้

เมืองบางเมืองสร้างขึ้นมาใหม่ได้ แต่ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมสร้างความมีชีวิตชีวาได้ เมื่อโลกเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนตาม ดังนั้นเราจึงต้องตามพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ทัน ซึ่งศูนย์ประชุมแห่งนี้หากสามารถดำเนินการให้เรียบร้อย พร้อมดึงจุดแข็งของเชียงใหม่ที่เป็นที่สุดของศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์รวมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของภาคเหนือ ค่าใช้จ่ายไม่สูง เชื่อว่าใครๆ ก็อยากมาใช้บริการ

การก่อสร้างศูนย์ประชุมไม่ใช่คิดจะสร้างก็สามารถสร้างได้เลย ต้องมีการวางแผนเตรียมงาน ดังนั้นคาดว่าจะไม่มีปัญหาในการรองรับปริมาณคน เนื่องจากได้มีการคิดในเรื่องการรองรับหลายส่วน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีสายการบินซึ่งบินตรงมาจากสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า เซี่ยงไฮ้ และเร็วๆ นี้ก็จะมีจาการ์ตา อาจเรียกได้ว่าตอนนี้เชียงใหม่เกือบจะเป็น Hub ของสายการบิน ซึ่งก็ไม่พบว่าเกิดปัญหาในการรองรับจำนวนคนที่เดินทางมาแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของการเดินทางมายังศูนย์ประชุมในอนาคตจะต้องมีระบบขนส่งที่สะดวกขึ้นอย่างแน่นอน อย่างเช่นอิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี กว่าจะเป็นได้อย่างปัจจุบันต้องใช้เวลาพัฒนาร่วมสิบปี ฉะนั้นต้องให้เวลากับศูนย์ประชุมเชียงใหม่

ตอนนี้ได้หารือกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวให้มาเช่าศูนย์ประชุม เพื่อให้สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวดึงพันธมิตรทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาตั้งสำนักงานภายในศูนย์ประชุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการให้เป็นลักษณะ One Stop Service

มองอนาคตของศูนย์ประชุมเชียงใหม่เป็นอย่างไร

เชื่อว่าหากให้เวลาสัก 3-5 ปี ศูนย์ประชุมแห่งนี้จะประสบความสำเร็จในการเพิ่มรายได้ให้กับคนเชียงใหม่ เพราะการจัดประชุมหนึ่งครั้งจะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนต่อวันสูงมาก ดังเช่นที่กล่าวไปแล้วศูนย์ประชุมอาจไม่ได้กำไร แต่รายได้จะเกิดขึ้นกับคนเชียงใหม่ ธุรกิจต่างๆ ทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร รับเหมาจัดเลี้ยง โรงแรมที่พัก รถเช่าตั้งแต่สี่ล้อแดง ตุ๊กตุ๊ก ไปถึงรถลีมูซีนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะการจัดประชุมจำเป็นต้องเช่ารถ

การบริหารภายใต้สำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ ช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถขายเป็นแพ็คเกจร่วมระหว่างเชียงใหม่ไนซาฟารีและศูนย์ประชุมได้ ถือเป็นการบูรณาการที่เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นที่สุด ซึ่งหากในอนาคตจะมีโครงการอื่นๆ มาร่วมบูรณาการกับเรา เชื่อว่าจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการศูนย์ประชุมแห่งนี้มากขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้นตามลำดับ

แม้จะเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่หนักอึ้งและเป็นที่จับตามอง การบริหารจัดการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) แห่งนี้ คณะทำงานชุดบุกเบิกคงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ซึ่งไม่ว่าใครที่จะเข้ามาบริหารพิงคนครแห่งนี้ จะต้องนึกถึงประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดเชียงใหม่และประเทศชาติเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน

บทความแนะนำ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร