การเปิดประตูทางการค้าภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ ผู้ประกอบการในพื้นที่จำนวนไม่น้อยตื่นตัว เตรียมรับมือกับคู่แข่งขันทั้งจากในและต่างประเทศที่ (อาจ) จะทะลักเข้ามา แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมรวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นไปในทิศทางใด ทีมงาน HBG มีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณองอาจ กิตติคุณชัย” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทราบข้อมูลหลากหลายแง่มุมที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจทีเดียว
สถานการณ์การลงทุนและแรงงานของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2556 คาดว่าจะชะลอตัว ส่วนหนึ่งมาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึงการขึ้นราคาน้ำมันและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้หากมีการลงทุนจะเป็นลักษณะการลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนของแรงงาน เพิ่มคุณภาพของสินค้า รวมถึงการวิจัยและพัฒนาผสมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนั้นยังมีการทำตลาดเชิงรุก จากเดิมเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศแถบยุโรปก็จะทำตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียมากขึ้น อาจเพราะสามารถเอื้อประโยชน์และโอกาสทางการค้าร่วมกัน
ทั้งนี้ในปี 2555 จังหวัดเชียงใหม่มีโรงงานทั้งสิ้น 2,376 แห่ง มีเงินลงทุนกว่า 33,617 ล้านบาท และมีการจ้างงานกว่า 46,000 คน เทียบกับปี 2554 พบว่าในปี 2555 มีจำนวนโรงงานลดลง 3 แห่ง เงินลงทุนลดลง 78 ล้านบาท และการจ้างงานลดลง 195 คน
การเพิ่มลดแรงงานของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นอยู่กับฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ซึ่งแรงงานจะขาดแคลนในฤดูเก็บเกี่ยว แต่เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวแรงงานก็ล้นตลาด ต่างจากตลาดแรงงานภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50-60 เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณมาก ทั้งนี้พบว่าในปี 2553-2554 จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ก่อสร้างทั้งสิ้นกว่า 300,000 ตารางเมตร และพุ่งขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในปี 2555 ที่มีพื้นที่ก่อสร้างถึง 600,000 ตารางเมตร
อุตสาหกรรมใดที่นักลงทุนให้ความสนใจ
การลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือมีมูลค่าการลงทุนกว่า 156,200 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 4 ของการลงทุนทั้งประเทศ อุตสาหกรรมหลักคือกิจการบริการและสาธารณูปโภคด้านการผลิตพลังงานทดแทน อาทิ กิจการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล กิจการผลิตก๊าซธรรมชาติอัดและพลังงานทดแทนอื่น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร มีโรงงานทั้งสิ้น 201 โรงงาน มีการลงทุนกว่า 4,835 ล้านบาท มีแรงงานกว่า 4,000 คน รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมขนส่ง (ยานยนต์) มีจำนวนกว่า 188 โรงงาน เงินลงทุนกว่า 4,846 ล้านบาท จำนวนแรงงานกว่า 2,835 คน และอุตสาหกรรมอาหาร มีจำนวนทั้งสิ้น 186 โรงงาน เงินลงทุนรวม 5,620 ล้านบาท มีแรงงานมากถึง 7,498 คน
นอกจากนั้นจังหวัดเชียงใหม่ยังถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ มีศักยภาพในหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว การศึกษา การรักษาพยาบาล และยังเป็นที่พำนักระยะยาวของชาวต่างชาติที่เกษียณอายุ ประกอบกับการขยายตัวเพื่อรองรับศูนย์แสดงสินค้าและหอประชุมนานาชาติที่ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จ
คุณองอาจ กิตติคุณชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่
ภาคอุตสาหกรรมมีการเตรียมความพร้อมรับการเปิด AEC อย่างไร
การเปิด AEC จะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานได้อย่างเสรี อาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของภาคแรงงานมีฝีมือของไทยไปยังประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไน ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องจ้างแรงงานจากประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าเข้ามาแทน ดังนั้นอาจจะก่อปัญหาเกี่ยวกับสังคม อีกทั้งจากทิศทางนโยบายของภาครัฐคือการเป็น “รัฐสวัสดิการ” ทำให้งบประมาณของรัฐส่วนหนึ่งจะต้องใช้จ่ายไปกับสวัสดิการของแรงงานจากต่างประเทศอีกด้วย
ภาพรวมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC คงไม่ได้ทำให้ตลาดแรงงานระหว่างประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะประเทศไทยและอาเซียนมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ เกือบทั่วโลก แต่หากเราใช้โอกาสที่เปิดกว้าง การผลักดันสู่ตลาดแรงงานอาเซียนไม่เพียงช่วยลดปัญหาในประเทศ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยระดับบนแข่งขันได้ในอาเซียนและนำรายได้เข้าประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมควรมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับการเปิด AEC ในหลายด้าน ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้านแรงงาน เทคโนโลยี รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และควรปรับปรุงการผลิตให้สามารถปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดหาวัตถุดิบราคาถูกและมีคุณภาพดีในภูมิภาค นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของไทยทั้งระบบเพื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และมีกลไกที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าสู่ตลาดภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
คุณองอาจ กิตติคุณชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่
หลังเปิด AEC จะมีส่งผลกระทบกับอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่หรือไม่ อย่างไร
หลังจากที่กระแสของAEC กระชั้นเข้ามา ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มขยายการลงทุนออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากการเห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจในจังหวัดหัวเมืองและจังหวัดที่อยู่รอยต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อว่าจะมีการลงทุนจำนวนมากในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือการขยายตัวของแรงงานและความต้องการที่พักอาศัยจำนวนมาก
การลงทุนในโครงการใหม่ๆ จะป็นการลงทุนของกลุ่มทุนท้องถิ่นร้อยละ70 ที่เหลือร้อยละ 30 เป็นการลงทุนของกลุ่มทุนส่วนกลาง โดยผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายประเมินว่ามูลค่าการลงทุนในกลุ่มที่พักอาศัยในปี2556 ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันกลุ่มคอนโดมิเนียมมีการขยายตัวสูง เห็นได้จากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนกว่า 23 โครงการ นอกจากนั้นยังมีโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์อีกกว่า 21 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท มีทั้งการลงทุนของผู้ประกอบการต่างประเทศและส่วนกลาง ตลอดจนศูนย์การค้าขนาดเล็กหรือคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งเป็นการลงทุนของผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อรองรับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการเร่งทำธุรกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับควบคุมการก่อสร้าง ก่อนประกาศใช้กฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้กลางปี 2556 นี้
การเปิด AEC คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะสามารถเติบโต มีมาตรฐานและมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองเชียงใหม่ที่จะประกาศใช้แต่ยังมีข้อบกพร่องในหลายจุด
การเปิดเสรีทางการค้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจและ สังคมวัฒนธรรม ยังไม่นับรวมกลุ่มคนที่หมุนเวียนเข้าออก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วยให้ธุรกิจมีความคึกคัก ทั้งนี้ปัญหาและอุปสรรคที่กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะหากให้องค์กรใดดำเนินการเพียงลำพังก็คงไม่ต่างจากการแก้ไขปัญหาแบบกระต่ายขาเดียวแน่นอน ฉะนั้นทุกหน่วยงานควรบูรณาการการทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้