เปิดตัวและเปิดใจพ่อเมืองเชียงใหม่คนล่าสุด “คุณธานินทร์ สุภาแสน” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กับการกลับมาทำงานบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง หลังจากที่เคยดูแลเชียงใหม่ในฐานะนายอำเภอสารภี (พ.ศ.2545), อำเภอเมือง (พ.ศ.2548) และตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในปี 2554 ก่อนกลับมารับใช้ประชาชนชาวเชียงใหม่อีกครั้ง ท่านจึงอยากขอบคุณชาวเชียงใหม่ผ่าน HBG พร้อมเปิดนโยบายสำคัญๆ ที่พร้อมจะดำเนินการอย่างทันที
มีการดำเนินงานตามนโยบายที่สอดคล้องกับแผนเดิมและแผนงานใหม่อย่างไรบ้าง
เชียงใหม่มีความสำคัญ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามยุคสมัย ตั้งแต่สมัยพญามังรายรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ไว้ สมัยรัตนโกสินทร์ และสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการสร้างสถานีรถไฟลอดถ้ำขุนตาลมายังเชียงใหม่ มีเรื่องตกทอดจากบรรพบุรุษมาหลายเรื่องที่ต้องรักษาไว้ คือวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเชียงใหม่ไม่ได้เป็นเมืองแห่งการค้าเพียงอย่างเดียว อีก 25 อำเภอยังเป็นแหล่งเกษตรกรรมอยู่ จากจำนวนประชากร 1,700,000 กว่าคน มีจำนวน 1,200,000 คนเป็นเกษตรกร จึงต้องได้รับการดูแลทุกภาคส่วน ก่อนที่เชียงใหม่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ถ้าเราปล่อยให้วิถีดั้งเดิมดูไร้ค่าไม่มีราคา ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ของจังหวัดมีความสุขได้คงเป็นที่น่าเสียดายมาก ฉะนั้นควรจะนำทุกภาคส่วนเข้าไปบูรณาการให้คนส่วนใหญ่เหล่านี้อยู่ให้ได้ก่อน
บรรยากาศโดยรวมจังหวัดเชียงใหม่
มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างไรบ้าง
การป้องกันแก้ปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะการที่เราเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องไม่มีปัญหาน้ำท่วม ต้องย้อนมาดูว่าที่ผ่านมานั้นเรามีกรอบการดูแลเรื่องนี้อย่างไร ควรจะต้องไปดูในเรื่องการขุดลอกคูคลองลำน้ำปิง และการที่มีการบุกรุกลำน้ำปิงมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้มีการศึกษาหาข้อมูลอยู่แล้วก็คงไม่ยาก ที่ยากคือจะนำงบประมาณมาทำให้ทันช่วงเวลานั้นได้อย่างไร
ส่วนเรื่องปัญหาหมอกควันจะมีการสั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอทำงานร่วมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด คาดว่าปีนี้เราจะท้าทายปัญหาหมอกควันโดยจะไม่ให้เกิดขึ้นในเชียงใหม่ได้เลย ผมเรียกมันว่าการท้าทาย เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องพิสูจน์ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ และผมก็มีประสบการณ์จากเชียงรายและแม่ฮ่องสอนมามากพอสมควร ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบจะทุกวันเลยทีเดียวครับ
บรรยากาศโดยรวมจังหวัดเชียงใหม่
ความพร้อมและการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขณะนี้มีความคืบหน้าหรือไม่
การเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ AEC ในภาคเหนือตอนบน โดยจุดยุทธศาสตร์ของเชียงใหม่เป็นที่ตั้งที่ดีที่สุด มีความพร้อมในด้านโครงข่ายคมนาคม ด้านสาธารณูปโภคทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นการกีดกันเหมือนเมื่อก่อนจะหมดไป และสิ่งที่จะต้องใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเรื่อง ก็คือศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ แนวทางการบริหารจะต้องเป็นระบบสากล จุดแสดงสินค้าต่างๆ ต้องใช้ให้เต็มศักยภาพ
สถานที่ท่องเที่ยว เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์ ปัญหาจราจร ผังเมือง ซึ่งเชียงใหม่ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลมองเห็นและเตรียมก้าวสู่เมืองหลักในภูมิภาคแทนกรุงเทพฯ ทั้งนี้ทุกภาคส่วนจะต้องดูแลนักท่องเที่ยวและมีการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และที่ลืมไม่ได้คือวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณี สังคม ที่เป็นเรื่องของล้านนาคงต้องให้พี่น้องประชาชนสร้างความเข้มแข็งและก็อนุรักษ์ให้คงอยู่กับพี่น้องชาวเชียงใหม่ตลอดไป เพราะคนเชียงใหม่ต้องตั้งรับกับวัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบที่เราจะได้รับย่อมมีทั้งบวกและลบ
บรรยากาศโดยรวมจังหวัดเชียงใหม่
คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนของเชียงใหม่จะเป็นไปในลักษณะใด
การส่งเสริมพื้นที่การลงทุนที่ทางการเตรียมไว้คือบริเวณอำเภอสันกำแพง ดอยสะเก็ด แม่ออน สันทราย เหมาะสมที่จะนำมาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ รวมไปถึงการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ส่วนทางคมนาคมเส้นไหนที่ไม่สะดวกก็จะมีการทำไหล่ทาง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น การส่งเสริมการค้าชายแดนกับการท่องเที่ยวก็ต้องไปคู่กันไป ด้วยลักษณะของเชียงใหม่อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเกษตรกรรม ผมจะให้นักวิชาการมาช่วยในเรื่องการแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม 200-300 เท่า สินค้าเหล่านี้ก็จะเป็นการค้าระหว่างประเทศถ้าเราเข้าสู่อาเซียน ฉะนั้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตจากเชียงใหม่ก็สามารถขายได้หมด ดังนั้นการลงทุนจึงเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การเกษตร
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะนำนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามา พ่อเมืองเชียงใหม่ยังฝากแง่คิดทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเชียงใหม่ก็คือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น หรือที่เรียกว่าเงินใต้โต๊ะ ซึ่งเป็นเนื้อร้ายที่ทำให้มูลค่าการลงทุนสำหรับผู้ที่จะประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยไม่มีรายรับ และหากเชียงใหม่ยังเป็นแบบนี้ก็คงจะไม่สามารถดึงนักลงทุนมาได้เลย พวกเขาคงเบนเข็มไปลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชากันหมดโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ