เชียงใหม่นอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ ยังเป็นเมืองที่ความเจริญแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศต่างมุ่งหาช่องทางทำธุรกิจในเมืองเชียงใหม่ ทำให้เชียงใหม่พัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าต่างถิ่นที่ย้ายครอบครัวเข้ามาพำนักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มคนท้องถิ่นที่ขยายครอบครัวออกเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็วทำให้เส้นทางคมนาคมเกิดการแออัดในช่วงเวลาเร่งด่วน เรื่องดังกล่าวทางสำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว โดยมีแผนที่จะปรับปรุงถนนสายหลักและจุดตัดทางแยกให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย
สำนักทางหลวงที่ 1 มีแนวทางการพัฒนาเส้นทางอย่างไร
สำนักทางหลวงที่ 1 มีภารกิจหลักดูแลรักษาปรับปรุงพัฒนาเส้นทางรวมทั้งหมดประมาณ 4,700 กิโลเมตร มีพื้นที่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน มีหน่วยงานที่ดูแลในแต่ละจังหวัดดังนี้ คือแขวงการทางเชียงใหม่ที่ 1, แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2, แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 3, แขวงการทางลำพูน, แขวงการทางลำปาง, แขวงการทางแม่ฮ่องสอน, สำนักงานบำรุงทางลำปางที่ 2
หน่วยงานทั้งหมดนี้มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้การจราจรในตัวเมืองสะดวกรวดเร็ว โดยยึดหลักถนนใยแมงมุมถนนวงแหวน และการปรับปรุงทางแยก ทางข้าม ทางลอด ให้รถสามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ติดขัด นอกจากนั้นทางหลวงสามารถเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงได้ โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง พร้อมกันนี้จะต้องเร่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งโดยการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการการขนส่งทั้งทางถนนและการบินในภูมิภาค อีกทั้งรองรับประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้
ทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่)
แผนพัฒนาที่จะเกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง มีภารกิจเร่งด่วนหรือไม่ อย่างไร
แผนพัฒนาที่จะดำเนินการจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
แผนขั้นที่ 1 แผนเร่งด่วนต้องดำเนินการทันที
แผนขั้นที่ 2 แผนระยะกลาง ดำเนินการภายใน 5 ปี
แผนขั้นที่ 3 แผนระยะยาว ดำเนินการภายใน 10 ปี
แผนการดำเนินการของสำนักทางหลวงเกิดขึ้นมาจากหน่วยงานหลักๆ คือมติคณะรัฐมนตรี และหรือการเสนอร้องขอจากภายในจังหวัด หรือจากสำนักแผนงานของกรมทางหลวงเอง ที่นำเสนอเพื่อพัฒนาปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น ทั้งข้อมูลในการที่จะนำมาพิจารณาการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางมาจากการจราจร การเดินทางของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยพิจารณาจากแนวโน้มการจราจรว่าหากเริ่มติดขัดไม่คล่องตัวจะต้องเร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวก
ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาคาดการณ์เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 ปี เพื่อให้ทันกับการขยายตัวของเมืองที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันมีหลายพื้นที่ที่เห็นการจราจรเริ่มติดขัดแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณของประเทศที่มีจำกัด ทำให้ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนเร่งด่วนของจังหวัดเชียงใหม่ที่จะต้องเร่งดำเนินการมีทั้งสิ้น 12 โครงการ งบประมาณรวม 7,422 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ ทางลอดบริเวณแยกข่วงสิงห์, ทางลอดบริเวณแยกศาลเด็ก, ทางลอดบริเวณแยกหนองประทีป ที่เหลืออีก 9 โครงการ ซึ่งได้เสนอไปยังสำนักแผนงานกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะดำเนินการ ในโครงการที่ได้นำเสนอเพื่อลดปัญหาการจราจรแออัดของเมืองเชียงใหม่
งบประมาณจำกัดเป็นปัญหาหลักในการพัฒนาปรับปรุงหรือไม่
ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาปรับปรุงเส้นทาง คือเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการที่ค่อนข้างมีจำกัด จึงทำให้การพัฒนาปรับปรุงตามที่วางแผนไว้ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้การพัฒนาเส้นทางที่มีอยู่ไม่ทันกับการขยายตัวของเมืองที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจราจรไม่คล่องตัว ติดขัด ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งตามหลักการแล้วการพัฒนาเส้นทางต่างๆ จะต้องมีการพัฒนาล่วงหน้าก่อนการขยายตัวของเมืองอย่างน้อย 7 ปี แต่เชียงใหม่การพัฒนาทำตามหลังการขยายตัวของเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ถนนพัฒนาไม่ทันกับการเติบโตของเมืองและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากงบประมาณที่จะนำมาพัฒนาไม่สอดคล้องกับแผนที่ทางหลวงได้วางไว้
จากงบประมาณที่มีค่อนข้างจำกัดจึงเป็นอุปสรรคหลักในการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางคมนาคม เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจุบันเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ การวางแผนเพื่อพัฒนาเส้นทางหลักๆ จึงควรเร่งดำเนินการให้ทันกับการเติบโตของเมือง และเพื่อรองรับ AEC ในอนาคตอันใกล้นี้