Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ณรงค์ คองประเสริฐ เผย “เชียงใหม่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สัญญาณสดใส”

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศ และยังนับเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในภาคเหนือตอนบน ปี 2555 ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหน่วยงานเอกชนหลายภาคส่วนมีการตื่นตัวเรื่องของการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่กลุ่มประเทศอาเซียน 10ประเทศจะถูกเชื่อมให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อที่คนไทยคุ้นหู  “AEC” หรือ Asean Economics Community เชียงใหม่ในวันนี้มีทิศทางแนวโน้มของเศษฐกิจไปในทิศทางใดนั้น “คุณณรงค์ คองประเสริฐ” ประธานหอการค้า จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน HBG อย่างน่าสนใจ ดังนี้

สภาวะเศรษฐกิจเชียงใหม่ในปี 2555 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร

ในช่วงปี 2555 จังหวัดเชียงใหม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี มีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 โดยในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ในปี 2555 ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนจากส่วนกลางเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงปลายปีมีบริษัทขนาดใหญ่มาเปิดตัวคอนโดมิเนียมหลายแห่ง ส่งผลให้ยอดรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 30 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคกลางที่เริ่มมองหาที่อยู่อาศัยที่มีความปลอดภัยจากอุทกภัย หรือภัยธรรมชาติ

แนวโน้มภาคอสังหาฯ และการท่องเที่ยวในปี 2556

ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหลายแห่งที่ได้เปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้าในปี 2556 ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการMICE City ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้านานาชาติมูลค่า 2,800 ล้านบาท ที่จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ ดังนั้น MICE จะเป็นจุดสำคัญในปี 2556 ในการขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปี 2556 นี้

ส่วนภาคการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจเรื่องของการท่องเที่ยวและยังเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย ซึ่งมีห้องพักไว้ร้องรับนักท่องเที่ยวกว่า 30,000 ห้อง เชียงใหม่มีการลงทุนในเรื่องของการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง เนื่องจากเชียงใหม่มีจุดท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งการเดินทางเข้ามาเพื่อจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติก็ดี

คุณณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้า จังหวัดเชียงใหม่ 

สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มของเศรษฐกิจเชียงใหม่ในปี 2556

การที่รัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น รถไฟความเร็วสูง เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจในเชียงใหม่มีการตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นด้านการท่องเที่ยวก็เริ่มมีการฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปลายปีมีการจองห้องพักมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ที่เริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2555

เศรษฐกิจในปี 2556 เชื่อว่ายังมีปัจจัยบวกอย่างต่อเนื่องมาจากปี 2555 ที่ผ่านมา จะส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่น่าจับตามองคือธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลจากนโยบายของรัฐบายในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งจะกระตุ้นให้การจับจ่ายใช้สอยในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการลงทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อีกทั้งในเรื่องของการขยายตัวต่อเนื่องมาถึงปี 2556 ศูนย์การค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรอมเมนาดา รีสอร์ทมอลล์-เชียงใหม่, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ รวมไปถึงมอลล์ท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2556 นี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 รถไฟความเร็วสูงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้มาน้อยเพียงใด

ปัญหาที่เชียงใหม่ยังขาดอยู่ก็คือการคมนาคมขนส่งนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาอาศัยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสาร รถไฟ เครื่องบิน Low Cost ในการเดินทางเป็นหลัก ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการ การแก้ไขจึงได้มีการประชุมหารือเรื่องการนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีช่องทางในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้จะใช้เวลาการทำประชาพิจารณ์รวมทั้งดำเนินการด้านต่างๆ ประมาณ 7 ปี นักท่องเที่ยวและประชาชนชาวเชียงใหม่ก็จะได้เริ่มใช้รถไฟความเร็วสูงกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่มีการขยายตัวได้อย่างแน่นอน โดยสามารถนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณวันละ 30,000 คนต่อวัน จะเป็นการเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจากเดิมเชียงใหม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณปีละ 35,000 ล้านบาท หากมีรถไฟความเร็วสูงคาดว่าจะเชียงใหม่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนด้วยการลงทุนในระบบโลจิสติกส์

อีกประการหนึ่งคือธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์จะมีการขยายตัวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยเนื่องจากการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง จึงเชื่อว่าจะเสริมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 อีกด้วย

นับจากนี้ไปจนถึงปี 2558 แนวโน้มของเชียงใหม่น่าจะแจ่มใสมากยิ่งขึ้น หากโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยขับดันภาคเอกชนสำเร็จลุล่วง ซึ่งบรรยากาศการค้าการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่น่าจะทวีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อถึงเวลาของ AEC อย่างเต็มรูปแบบแล้ว เชียงใหม่น่าจะเป็นหนึ่งในหลายแห่งของอาเซียนที่จะเนื้อหอม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากหลากหลายประเทศให้เข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน

บทความแนะนำ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร