Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

กปภ.เชียงใหม่เตรียมรับมือภัยแล้ง ชง 97 ล้านขยายเขตจ่ายน้ำ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่แม้ไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติแต่ก็ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธาราแหล่งกักเก็บน้ำดิบสำคัญของเชียงใหม่ลดลง ประกอบกับในเดือนสิงหาคมเป็นช่วงปลายฤดูฝน จึงอาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตน้ำให้กับประชาชน มีพื้นที่ครอบคลุม 8 อำเภอ โดยคุณมงคล วัลยะเสวี ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ได้พูดคุยถึงการเตรียมแผนรองรับปัญหาภัยแล้งและพัฒนาระบบให้บริการผู้ใช้น้ำ และการดำเนินงานโค้งสุดท้ายในปีงบประมาณ 2558 รวมถึงแผนในปีงบประมาณ 2559 ไว้ดังนี้

การดำเนินงานของ กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ปีงบประมาณ 2558 และแผนปี 2559 เป็นอย่างไร

ปัจจุบัน กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) มีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 101,000 ราย สามารถผลิตน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือเฉลี่ย 165,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีผู้ใช้บริการ 95,000 ราย ผลิตน้ำเฉลี่ย150,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยแบ่งเป็นประเภทที่อยู่อาศัยร้อยละ 70 ราชการและธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ20และรัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดใหญ่อีกร้อยละ 10 ซึ่งคาดว่าปีงบประมาณ 2558จะมีผู้ใช้บริการประปาถึง 102,000 ราย ทั้งนี้จากปัญหาภัยแล้งทำให้บ่อน้ำชุมชนแห้งขอด ส่วนหมู่บ้านจัดสรรที่เคยใช้ระบบประปาหมู่บ้านเมื่อบริหารจัดการไม่สำเร็จ จึงมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้บริการของ กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) แทน

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2558 กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ได้ดำเนินโครงการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสันทราย อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสารภีและอำเภอหางดง จำนวน 12 โครงการ งบประมาณกว่า 39 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการเสร็จสิ้นทุกโครงการส่วนแผนปีงบประมาณ 2559 ได้เสนอโครงการจำนวน 29 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 97.9 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับการพิจารณาเกินกว่าร้อยละ 80 ของโครงการทั้งหมด ซึ่งโครงการเกี่ยวกับการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำในพื้นที่ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จำนวน 12 โครงการ งบประมาณกว่า 70 ล้านบาท ได้ผ่านการอนุมัติและพร้อมดำเนินการในปีงบประมาณ 2559

สถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

จังหวัดเชียงใหม่มีแหล่งกักเก็บน้ำดิบหลักจำนวน 2 แห่ง คือเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีความจุเฉลี่ยเขื่อนละ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) และกรมชลประทานได้สำรวจพร้อมเก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำดิบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556-เดือนเมษายน 2557 พบว่าปริมาณน้ำดิบของทั้งสองเขื่อนลดลง โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลจากเดิมมีปริมาณน้ำ53 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลือร้อยละ 20 หรือประมาณ 37 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พบว่ายังมีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าสู่เขื่อนอย่างต่อเนื่อง

ปริมาณน้ำจากเขื่อนแม่งัด

ส่วนเขื่อนแม่กวงจากเดิมมีปริมาณน้ำ 37 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นนับว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนตกน้อยทำให้ไม่มีน้ำไม่ไหลเข้าเขื่อนประกอบกับกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำเพื่อทำการเกษตรวันละ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงส่งผลให้น้ำในเขื่อนลดลงอย่างรวดเร็ว และหากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงเหลือต่ำกว่า 22 ล้านลูกบาศก์เมตรอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ได้ ดังนั้นจึงประสานไปยังกรมชลประทานให้ชะลอการปล่อยน้ำให้กับเกษตรกร จนกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคถึงปี 2559 โดยปริมาณน้ำดิบที่เหลือปัจจุบันจะสามารถใช้ได้ถึงสิ้นปี 2558

แผนรองรับผู้ใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร

จากแนวโน้มจำนวนผู้ใช้น้ำประปาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอหางดงและสารภีที่การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์มีเพิ่มขึ้น อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจังหวัด อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ที่คาดว่าสถานีปลายทางอยู่ในพื้นที่อำเภอสารภี ทำให้ถูกจับจ้องจากนักลงทุนจนมีการซื้อขายที่ดินอย่างคึกคัก

กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) จึงได้เตรียมแผนรองรับไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 โดยจัดทำสถานีผลิตน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ สถานีผลิตน้ำแม่แฝกและสถานีผลิตน้ำป่าแดด จากเดิมที่มีสถานีผลิตน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ สถานีผลิตน้ำแม่กวง สถานีผลิตน้ำป่าตัน สถานีผลิตน้ำอุโมงค์และสถานีผลิตน้ำแม่วาง มีกำลังการผลิตประมาณ 134,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากรวมอีก 2 แห่งจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำเป็น 194,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตน้ำให้กับตัวเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ตำบลป่าแดด หนองหอย สารภีและหางดงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 ได้ทำการต่อแพขยายท่อส่งน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและแม่กวงอุดมธาราออกไปอีกประมาณ 30 เมตร ให้อยู่ในร่องน้ำลึกเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และได้ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำที่ชำรุด เร่งปิดประตูน้ำในกรณีท่อแตกภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียจากปกติร้อยละ 32 ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 30 พร้อมปรับปรุงแรงดันน้ำในเส้นท่อให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการใช้น้ำ

อัตราค่าน้ำประปาและการพัฒนาระบบให้บริการของ กปภ.เชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) เป็นอย่างไร

สำหรับอัตราค่าน้ำประปาพื้นที่ กปภ.เชียงใหม่ได้ยกเลิกจากเก็บค่าน้ำขั้นต่ำจาก 0-4 คิว ค่าบริการ 50 บาท เป็นการเก็บตามหน่วยการใช้น้ำจริง โดยประเภทกลุ่มที่อยู่อาศัยเริ่มต้นหน่วยละ 10.2 บาท, ประเภทราชการและธุรกิจขนาดเล็กเริ่มต้นหน่วยละ 16 บาท หรือ 150 บาทต่อเดือน (ใช้น้ำไม่เกิน 9 ลูกบาศก์เมตร) และประเภทรัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มต้นหน่วยละ 18 บาท หรือ 300 บาทต่อเดือน (ใช้น้ำไม่เกิน 15 ลูกบาศก์เมตร)

การชำระค่าน้ำปัจจุบันมีหลายช่องการชำระค่าบริการ เช่น การชำระ ณ ที่ทำการ กปภ.เชียงใหม่โดยตรง ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.30-16.30 น. วันเสาร์ เวลา 08.30-12.00 น., บริการช่องทางด่วนชำระเงิน (Drive-thru) เปิดทุกวันที่ 15-22 ของเดือน เวลา 08.30-12.00 น., เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ที่ทำการไปรษณีย์, หักบัญชีเงินฝาก 13 ธนาคารทุกสาขาทั่วประเทศ และชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร อีกทั้งกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศด้านผู้ใช้น้ำ (CIS) เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกและสามารถใช้บริการได้ทุกสาขา คาดว่าจะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวได้ปลายปี 2558 นี้

การประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดเชียงใหม่ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากหากผ่านพ้นฤดูฝนในเดือนสิงหาคมนี้โอกาสที่จะมีน้ำเติมเข้าสู่เขื่อนอาจลดลง ดังนั้นประชาชนทุกคนควรต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะเราไม่ต้องการมีน้ำใช้ถึงเพียงแค่สิ้นปีนี้ แต่เราต้องการมีน้ำใช้ตลอดไป

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร