Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รัฐสภาแห่งใหม่กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

รัฐสภาแห่งใหม่ หรือ “สัปปายะสภาสถาน”  นั้นหลายๆ คนคงเคยเห็นภาพบางส่วนได้จากข่าวสารในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามไม่เหมือนใคร ทำเลที่ตั้งที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญ และมีจุดเด่นไม่แพ้สถานที่แห่งไหนในกรุงเทพฯ รวมไปถึงความสง่างาม ความโอ่โถง ดังนั้น “สัปปายะสภาสถาน” จึงเป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญมาก บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักถึงที่มา และความสำคัญของรัฐสภาแห่งใหม่แห่งนี้ในทุกแง่มุม 

1. ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่งของรัฐสภาไทย 

จุดเริ่มต้นของรัฐสภาในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่ครั้งที่เริ่มมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีการใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภาในช่วงเริ่มแรกในปี 2475 ก่อนที่จะย้ายมายังอาคารรัฐสภาไทยซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อปี 2517 แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง และประกอบกับความคับแคบของสถานที่เดิม ทำให้มีการย้ายรัฐสภามายังรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ “สัปปายะสภาสถาน” ในปัจจุบัน 

ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่งของรัฐสภาไทย

2. จุดเริ่มต้นของ “สัปปายะสภาสถาน”    

จุดเริ่มต้นในการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นั้นได้เริ่มมีโครงการที่จะสร้างตั้งแต่ปี 2536 แต่โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2551 โดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้นำเสนอโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อทดแทนอาคารรัฐสภาเดิมซึ่งมีความเก่าแก่ตามระยะเวลาการใช้งาน รวมไปถึงมีความคับแคบของสถานที่โดยไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีกเนื่องจากเป็นเขตติดต่อกับเขตพระราชฐาน ทำให้มีการกำหนดพื้นที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นบริเวณแยกเกียกกาย ซึ่งตัดระหว่างถนนทหาร และถนนสามเสน โดยเป็นที่ราชพัสดุริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครมีเนื้อที่ขนาด 123 ไร่ 

จุดเริ่มต้นของ “สัปปายะสภาสถาน”

3. ความโดดเด่นของรัฐสภาไทย 

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทยนั้นเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 และมีกำหนดเสร็จสิ้นใช้งานได้จริงในปลายปี 2563 ซึ่งรูปแบบการก่อสร้างนั้นเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “สัปปายะสภาสถาน” ที่หมายถึงความสงบ ความสะดวกสบาย ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ส่วนสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์

ภายในห้องประชุมทั้งสองห้องของรัฐสภาแห่งใหม่ได้รับการออกแบบให้เป็นลักษณะของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุนั่นเอง ซึ่งถ้ามองในภาพรวมของ “สัปปายะสภาสถาน” ก็จะเป็นเหมือนการมองเขาพระสุเมรุตามความเชื่อเรื่องไตรภูมิ โดยที่มีป่าหิมพานต์ล้อมรอบ ซึ่งทำให้ดูโดดเด่น แปลกตา สง่างาม ยากที่จะหาสถาปัตยกรรมใดในยุคนี้ภายในประเทศไทยที่มีความโดดเด่นเทียบเท่า 

ความโดดเด่นของรัฐสภาไทย

4. แลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

ด้วยความใหญ่โต และอลังการของรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ “สัปปายะสภาสถาน” กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปโดยปริยาย เนื่องจากเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีการตกแต่งพื้นที่อย่างสวยงาม ถือว่าเป็นการจำลองดินแดนในจินตนาการลงมาเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นความจริงก็ว่าได้

ซึ่งเมื่อสัญจรผ่านไม่ว่าจะเป็นทางบก หรือทางน้ำจะสามารถมองเห็นความสวยงามของรัฐสภาแห่งใหม่ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการจัดแสงไฟให้กับรัฐสภาแห่งใหม่ในยามค่ำคืนที่คาดว่าจะมีความสวยงามมาก เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมความงามโดยรอบของรัฐสภาแห่งใหม่ได้เป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

 แลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

5. การออกแบบจากอดีตไปสู่อนาคต 

สำหรับรัฐสภาแห่งใหม่นั้นถึงแม้ว่าแนวคิดการออกแบบจะมาจากความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ หรือเรื่องของสวรรค์ทั้งหมดโดยไม่มีแนวคิดในเรื่องอื่นเจือปนเข้ามาเลย แต่ต้องยอมรับว่าภายใต้การออกแบบด้วยความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณนั้นได้ซ่อนเทคโนโลยีต่างๆ ในการออกแบบเพื่ออนาคตไว้อย่างมากมาย

“สัปปายะสภาสถาน” ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด Green Architecture หรือสถาปัตยกรรมสีเขียว เพื่อให้ภาพรวมของการออกแบบ และการใช้พลังงานต่างๆ ภายในอาคารเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากที่สุด มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนแนวทางการออกแบบนี้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับทิศทางของแสงธรรมชาติ มีการใช้พลังงานธรรมชาติ และพลังงานทดแทน เพื่อให้เป็นต้นแบบของอาคารประหยัดพลังงานในอนาคต

 การออกแบบจากอดีตไปสู่อนาคต

6. การสร้างความเจริญให้พื้นที่โดยรอบ 

สำหรับการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นั้นได้สร้างความเจริญให้กับพื้นที่โดยรอบได้อย่างมากมาย แต่เดิมพื้นที่ซึ่งนำมาสร้างรัฐสภานั้นเป็นพื้นที่ของหน่วยงามราชการซึ่งส่วนมากจะเป็นบ้านพักข้าราชการทหาร มีชุมชนขนาดเล็ก รวมไปถึงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานอย่างโรงเรียนโยธินบูรณะ เมื่อมีการตกลงจะสร้างรัฐสภาทำให้สถานที่ทั้งหมดต้องย้ายออกไปยังที่ตั้งแห่งใหม่

แต่การสร้างสถานที่สำคัญอย่างรัฐสภาแห่งใหม่นั้นทำให้บริเวณโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น บางซื่อ เตาปูน บางโพ ศรีย่าน บางกระบือ ได้รับการพัฒนาไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคมขนส่ง ถึงแม้ว่าถนนทหาร และถนนสามเสน ซึ่งสภาในปัจจุบันนั้นมีขนาดเพียงฝั่งละ 2 เลน และไม่สามารถขยายถนนได้ในเวลาอันใกล้นี้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ

ระบบโครงสร้างพื้นฐานรอบๆ รัฐสภาแห่งใหม่นั้นนอกจากจะมีโครงการขยายถนนโดยรอบทั้งถนนทหาร และถนนสามเสนให้กลายเป็นฝั่งละ 4 เลนแล้ว มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่บริเวณข้างรัฐสภาบริเวณท่าน้ำเกียกกายไปยังถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณบางพลัดเพื่อให้การข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้สะดวกขึ้นแล้ว

นอกจากโครงข่ายทางถนนแล้วยังมีโครงข่ายของรถไฟฟ้า 2 สายที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ – ท่าพระ และสายสีม่วง เตาปูน – ราษฏร์บูรณะ ที่จะเสร็จในอนาคตอีกด้วย 

การสร้างความเจริญให้พื้นที่โดยรอบ

7. “สัปปายะสภาสถาน” จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่ 

รัฐสภาแห่งใหม่นั้นมีระยะเวลาการสร้างที่ยาวนานประมาณ 7 ปี โดยผ่านปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการแก้แบบโครงสร้าง การคืนที่ดินไม่ตรงตามกำหนด ทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้ การฟ้องร้องกับผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมีการต่อสัญญาการก่อสร้างถึง 4 ครั้ง และมีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการเพิ่มงบประมาณสำหรับการก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งในที่สุดคาดว่ากำหนดการที่ “สัปปายะสภาสถาน” จะสามารถเปิดใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ 100% คือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อันเป็นเวลาที่สิ้นสุดสัญญาก่อสร้างฉบับที่ 4 โดยรัฐสภาแห่งใหม่นั้นใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ ประมาณ 48,000 บาทต่อตารางเมตรเลยทีเดียว

 “สัปปายะสภาสถาน” จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่

8. อสังหาฯบริเวณนั้นจะเป็นอย่างไรเมื่อมีรัฐสภา

พื้นที่รอบรัฐสภาแห่งใหม่มีการแก้กฏกระทรวงในการสร้างอาคารโดยสามารถสร้างอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 5 ชั้นในรัศมี 100 และสูงไม่เกิน 8 ชั้นในรัศมี 200 เมตร รอบๆ รัฐสภาทางฝั่งพระนคร แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่โดยรอบของรัฐสภาในระยะดังกล่าวล้วนแต่เป็นพื้นที่ของทางราชการทั้งสิ้น จึงทำให้กฎกระทรวงที่แก้ไขมานั้นแทบไม่มีผลอะไรกับวงการอสังหาฯ ในบริเวณนั้นเลย

สิ่งที่พัฒนาวงการอสังหาฯ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการสร้างคอนโดมิเนียมขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณย่านที่ใกล้เคียงกับรัฐสภาแห่งใหม่คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ที่ได้สร้างความเจริญให้กับพื้นที่บริเวณนั้นจากแหล่งชุมชนค้าขาย หรือบ้านพักอาศัยแบบเดิมให้มีความคึกคักมากขึ้น

อาจจะสรุปได้ว่าการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นั้นไม่ได้มีประโยชน์อย่างชัดเจนแก่วงการอสังหาฯ ในบริเวณนั้น อาจจะมีในแง่มุมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาบางส่วนเข้ามาซื้อ หรือเช่าอสังหาฯ เพื่อพักอาศัย และการเดินทางต่างๆ ในบริเวณนั้นสะดวกขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้อสังหาฯ ในย่านนั้นเติบโตคือโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายนั่นเอง 

จากโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อ 27 ปีที่แล้วโดย “ชวน หลีกภัย” จนมาแล้วเสร็จในยุคของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งผ่านปัญหาต่างๆ มากมายตั้งแต่ปัญหาในการประกวดแบบก่อสร้างครั้งแรก จนถึงปัญหาน้ำรั่วจากหลังคาในวันที่ใกล้สร้างเสร็จ แต่ “สัปปายะสภาสถาน” ก็ผ่านปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมาได้จนยืนหยัดเป็นรัฐสภาที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีความโดดเด่นในเรื่องสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ไม่น้อยหน้าใคร ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยเลยทีเดียว 

อสังหาฯบริเวณนั้นจะเป็นอย่างไรเมื่อมีรัฐสภา

ที่มาภาพประกอบ :

www.en.arsomsilp.ac.th

www.silpa-mag.com

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร