“โต๊ะหมู่บูชา” จัดอย่างไร ให้ถูกต้องและเหมาะสม
“โต๊ะหมู่บูชา” คือ ที่ตั้งหรือที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือพระบรมรูป เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัตินี้สืบทอดกันมาแต่ช้านาน และถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติ การนำโต๊ะหมู่บูชามาจัดตั้งนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อแสดงออกถึงความเคารพและความเป็นสิริมงคลให้กับงานกิจกรรมและสถานที่นั้น ๆ ผู้จัดจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งหากใครที่ยังไม่ทราบว่าวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องนั้นทำอย่างไร วันนี้เรามีเกร็ดความรู้ดี ๆ ในเรื่องการจัดโต๊ะหมู่บูชามาฝากแก่ทุกท่าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความสำคัญ
นอกจากจะเป็นเครื่องแสดงความเคารพนับถือแล้ว โต๊ะหมู่บูชายังให้ความสำคัญเกี่ยวกับ
- สัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อันดีงามที่คนไทยได้สืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ผ่านการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาจนถึงลูกหลาน
- การถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย
- เครื่องเตือนใจเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้ปฏิบัติดี มีปัญญา และยำเกรงต่อสิ่งที่ประดิษฐานอยู่ตรงหน้า มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อความดี และเกรงกลัวต่อบาป
- เสริมความเป็นมงคลให้แก่ท่านและผู้พักอาศัยภายในบ้าน
2. วัตถุประสงค์
หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า วัตถุประสงค์ในการจัดโต๊ะหมู่บูชานั้นมาจากเหตุใด ซึ่งแท้จริงแล้วได้มีหลักฐานอ้างอิงปรากฏไว้ในพุทธประวัติว่า เมื่อพุทธบริษัทมีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด จึงมักจะนิมนต์พระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาเป็นประธานสงฆ์ในงานกุศลนั้น ๆ ดังนั้นเพื่อให้มีความสมบูรณ์ในพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตามคตินิยมดังกล่าว ในงานอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนพิธี ทางพุทธศาสนิกชนจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานเป็นนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพิธีนั้น ๆ เพื่อถือว่ามีองค์พระรัตนตรัยครบสมบูรณ์ หรือกล่าวเป็นนัยหนึ่งว่า เมื่อท่านเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วก็ยังคงมีพระพุทธรูปเป็นตัวแทนเพื่อให้พุทธศาสนิกชนยึดเหนี่ยวจิตใจสืบไป
3. รูปแบบโต๊ะหมู่บูชา
การจัดโต๊ะหมู่บูชาจะมีการแยกย่อยรายละเอียดออกไปอย่างรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมในกันตามบ้านหรืองานทั่วไป จะเป็นแบบโต๊ะหมู่ 4, 5, 7 และ 9 ตัว ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบูชา ดังต่อไปนี้
- แบบโต๊ะหมู่ 4 ตัว ประกอบด้วยเครื่องบูชา ได้แก่ กระถางธูป 1 กระถาง กระถางเชิงเทียน 1 คู่ พานดอกไม้ 2 พาน และแจกัน 2 แจกัน เหมาะกับบูชาพระในบ้านพื้นที่น้อย เช่น บ้าน หรือที่ทำงาน เป็นต้น
- แบบโต๊ะหมู่ 5 ตัว ประกอบด้วยเครื่องบูชา ได้แก่ กระถางธูป 1 กระถาง กระถางเชิงเทียน 4 คู่ พานดอกไม้ 5 พาน และแจกัน 2 แจกัน เหมาะกับท่านที่ไม่ต้องการพิธีรีตองมากนัก เช่น พิธีทำบุญบ้าน ทำบุญที่ทำงาน เป็นต้น
- แบบโต๊ะหมู่ 7 ตัว ประกอบด้วยเครื่องบูชา ได้แก่ กระถางธูป 1 กระถาง กระถางเชิงเทียน 5 คู่ พานดอกไม้ 5 พาน และแจกัน 2 แจกัน เหมาะกับงานที่เป็นทางการขึ้นมา เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนา
- แบบโต๊ะหมู่ 9 ตัว ประกอบด้วยเครื่องบูชา ได้แก่ กระถางธูป 1 กระถาง กระถางเชิงเทียน 7 คู่ พานดอกไม้ 7 พาน และแจกัน 3 แจกัน เหมาะกับงานที่มีพระประธาน เป็นพิธีการใหญ่ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น
4. สิ่งที่ต้องเตรียม
จะต้องพิจารณาตามรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ซึ่งส่วนใหญ่ของที่ต้องเตรียมในการจัดโต๊ะหมู่บูชา คือ
- โต๊ะสำหรับจัดโต๊ะหมู่ ซึ่งจำนวนก็ขึ้นอยู่ก็แบบโต๊ะหมู่ที่ท่านได้กำหนด
- พระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- เครื่องบูชา ได้แก่ กระถางธูป กระถางเชิงเทียน พานดอกไม้ และเเจกัน สำหรับดอกไม้แนะนำให้ใช้ดอกไม้สด เช่น ดาวเรือง ดอกบัว หรือพวงมาลัยสด เป็นต้น
- ธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ นำมาเพื่อประดับและใช้ในพิธีที่ค่อนข้างเป็นทางการ เช่น พิธีถวายการถวายพระพร งานประชุมและสัมมนาต่าง ๆ
- ผ้า สำหรับประดับเป็นฉาก พื้นหลังหรือจับเป็นช่อดอกไม้ เพื่อตกแต่งเพิ่มความสวยงาม
- เสื่อหรือพรม สำหรับปูพื้นหรือรองโต๊ะหมู่บูชา
5. การวางพระประจำวันเกิด
มีความเชื่อมาตั้งแต่นมนานเกี่ยวกับการบูชาพระปางประจำวันเกิด ซึ่งเป็นมงคลอันสูงยิ่งอีกหนึ่งประการ ให้ช่วยปัดเป่าและรอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง ซึ่งพระปางแต่ละวันเกิดจะมีทิศทางที่เหมาะสมในการจัดวาง ดังนี้
- วันจันทร์ พระปางห้ามญาติหรือห้ามสุนทร แนะนำให้วางหันไปทางทิศเหนือ
- วันอังคาร พระปางไสยาสน์หรือปางปรินิพพาน แนะนำให้วางหันไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
- วันพุธกลางวัน พระปางอุ้มบาตร แนะนำให้วางหันไปทางทิศตะวันออก
- วันพุธกลางคืน พระปางป่าเลไลย์ แนะนำให้วางหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
- วันพฤหัสบดี พระปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ แนะนำให้วางหันไปทางทิศใต้
- วันศุกร์ พระปางรำพึง แนะนำให้วางหันไปทางทิศตะวันตก
- วันเสาร์ พระปางนาคปรก แนะนำให้วางหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
- วันอาทิตย์ พระปางถวายเนตร แนะนำให้วางหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
6. โต๊ะหมู่บูชาในห้องประชุม
ถือเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการจัดโต๊ะหมู่บูชาในห้องประชุม เพราะวันดีคืนดีท่านอาจจะเป็นหนึ่งในผู้ช่วยเตรียมงาน อย่างไรก็ตามวิธีการนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ท่านเพียงแค่ต้องจำองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- ตำแหน่งของธงชาติ โต๊ะหมู่บูชา พระบรมฉายาลักษณ์ ให้นำวางด้านขวาของเวที หันหน้าเข้าหาผู้ร่วมประชุมหรือสัมมนา สำหรับให้วางพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ตำแหน่งซ้าย โต๊ะหมู่บูชาอยู่ตำแหน่งตรงกลาง ตามด้วยด้านขวาคือ ธงชาติ
- หลักการในการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ต้องไม่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ประดิษฐาน ถ้าการประชุมที่เป็นทางการแนะนำให้ตั้งโต๊ะหมู่แบบ 7 หรือ 9 ตัว
- ข้อแนะนำ หากนำดอกบัวใส่แจกัน ให้ท่านสังเกตความสูงของดอกบัว ห้ามมิให้ดอกบัวสูงกว่าเศียรพระ
สำหรับสถานที่ทำงานแบบ Home Office หากท่านต้องการตั้งโต๊ะหมู่บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านและบริวาร แนะนำให้ท่านจัดแบบโต๊ะหมู่บูชาพระหมู่ 3 (ประยุกต์) โดยนำโต๊ะแถวกลาง 3 ตัว ของหมู่ 9 มาประกอบชุดใหม่ ให้นำพระพุทธรูปประดิษฐานบนสุด ตามด้วยพานดอกไม้ โต๊ะที่สองให้ท่านวางแจกัน และท้ายสุดตัวที่สามให้ท่านนำกระถางธูปเชิงเทียนมาวาง แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
7. โต๊ะหมู่บูชาในคอนโด
ด้วยไลฟ์สไตล์และแนวโน้มในความต้องการใช้พื้นที่ของคนยุคใหม่ในขนาดที่เล็กลง จึงสังเกตเห็นได้ว่าจำนวนโครงการคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ หรือทาวเฮ้าส์เล็ก ๆ ได้มีการเติบโตขึ้นอย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตามเมืองไทยก็คือเมืองพุทธ ผู้คนส่วนใหญ่จึงยังมีการจัดห้องพระและตั้งโต๊ะหมู่บูชาในที่พักอาศัยอยู่เช่นเดิม โดยหากท่านต้องการตั้งโต๊ะหมู่บูชาในขนาดพื้นที่ที่จำกัดก็มีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้
ให้ท่านเลือกพื้นที่มุมห้องที่สามารถจะวางโต๊ะขนาดเล็ก ๆ ได้ จากนั้นให้นำโต๊ะหมู่แบบ 4 มาวาง นำพระพุทธรูปวางไว้บนสุด ตามด้วยแจกันดอกไม้ และกระถางธูปเทียน แนะนำทำฉากหรือผ้าม่าน กั้นมุมโต๊ะหมู่บูชาพระให้เป็นสัดส่วน แต่สำหรับท่านที่พื้นบ้านจำกัดจนแทบไม่มีที่ว่าง แนะนำให้ท่านตั้งเป็นหิ้งพระติดผนังแทน
8. ข้อควรปฏิบัติ
- ควรจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในห้องชั้นบนสุดของบ้านและต้องตั้งพระพุทธรูปไว้ในตำแหน่งสูงสุดของโต๊ะหมู่บูชา
- ทิศทางที่เหมาะสมในการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ให้ตั้งหันไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก
- เครื่องสักการบูชาต้องมีครบองค์ประกอบ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ รวมทั้งจัดให้เป็นระเบียบ สะอาด และสวยงาม
- สำหรับเชิงเทียนและกระถางธูป รวมไปถึงพานพุ่มและพานดอกไม้ต่าง ๆ ต้องวางอยู่ในระดับรองลงมาจากพระพุทธรูป ห้ามวางไว้เสมอหรือสูงกว่าเด็ดขาด
- ดอกไม้ที่ใช้แนะนำควรเป็นดอกไม้สด
- สำหรับการจัดลำดับองค์พระ ควรจัดตามลำดับบารมี โดยเริ่มต้นที่องค์พระอรหันต์ ได้แก่ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระอานนท์ เป็นต้น จากนั้นระดับรองลงมาให้จัดวางเป็นขั้นของพระอริยสงฆ์ที่เราเคารพศรัทธา เช่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่มั่น หรือหลวงปู่ทิม เป็นต้น ทั้งนี้ควรจัดวางพระอริยสงฆ์ตามลำดับความอาวุโส และให้วางเรียงจากซ้ายไปยังทางขวามือของพระประธาน
จบลงไปแล้วสำหรับการ “ตั้งโต๊ะหมู่บูชา” ซึ่งประกอบด้วยความเป็นมา วัตถุประสงค์ รูปแบบโต๊ะหมู่ สิ่งที่ต้องจัดเตรียมการจัดวางพระประจำวันเกิด การจัดโต๊ะหมู่ในที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่จำกัด เช่น คอนโดมิเนียม ตลอดจนข้อควรปฏิบัติ ซึ่งองค์ประกอบความรู้เหล่านี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่าน ที่จะนำไปปรับและประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี