Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รวมวิธีแก้ปัญหาถ้าหากบ้านไฟไหม้!

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เหตุไฟไหม้บ้านที่ได้ยินข่าวกันบ่อยๆ มักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งสภาพอากาศเมืองไทยที่ร้อนจัด ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ หากไม่ระวังจนทำให้เกิดไฟไหม้บ้านขึ้นมาแล้ว นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สินของมีค่าต่าง ๆ ยังเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตอีกด้วย แต่เพื่อความไม่ประมาท เราต้องศึกษาเรียนรู้ก่อนเกิดเหตุ เราได้รวบรวมวิธีแก้ปัญหาพร้อมรับมือกับบ้านไฟไหม้ในบทความนี้ให้แล้วครับ

สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ภายในบ้าน

บ้านทุกหลังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ หากไม่ใส่ใจดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ ปล่อยปละละเลย ไม่รอบคอบ การเกิดไฟไหม้มีด้วยกันหลายสาเหตุ

1. ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟฟ้าช็อต

สาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดไฟไหม้มาจากไฟฟ้า ทั้งสายไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เสื่อมสภาพ สายไฟชำรุด เพราะใช้งานมานาน ไม่เคยเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุง หรือเกิดจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟมาก ๆ จนเกินกำลัง อย่างเช่น เตารีด เตาอบ หรืออุปกรณ์ที่ให้ความร้อนสูง รวมถึงการใช้งานเสียบต่อปลั๊กพ่วงที่มากเกินไปด้วยเช่นกัน

2. จุดเทียน จุดไฟ หรือสูบบุหรี่

หลายบ้านมีห้องพระ หรือหิ้งพระ มักจะจุดธูปเทียนเพื่อบูชาไหว้พระแล้วลืมดับไฟ หรือตั้งเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีจานรอง เมื่อลมพัด หรือมีเด็ก หรือสัตว์เลี้ยงไปชนเทียนล้ม อาจเกิดไฟไหม้ได้ เช่นเดียวกับบุหรี่ หากสูบแล้วดับไม่สนิทก็อาจลุกลามจนเกิดประกายไฟ

3. เปิดเตาแก๊ส หรือทำอาหารทิ้งไว้

คนทำอาหารบางครั้งเผลอตั้งเตาทิ้งไว้ แล้วลืมปิดแก๊ส ทำให้เป็นสาเหตุของไฟไหม้ อย่าลืมว่าในครัวมีแก๊สที่เป็นวัตถุไวไฟอยู่ อาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ หรือแม้กระทั่งการใช้ไมโครเวฟ หากใช้ภาชนะผิด เช่น โลหะ อาจระเบิด จนทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้นมาได้

4. เปิดโน้ตบุ๊คทิ้งไว้บนเตียง

ทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนได้ ประกอบกับภายในห้องไม่มีอากาศถ่ายเท ไม่ได้เปิดแอร์หรือพัดลมไว้ จะทำให้โน้ตบุ๊คร้อนจัด จนเกิดระเบิดและเสี่ยงต่อบ้านไฟไหม้ 

สาเหตุ

ถ้าหากบ้านไฟไหม้ต้องทำอย่างไร?

1. ตั้งสติ

เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยดัง หรือรับรู้ว่าเกิดไฟไหม้ ให้ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก หากเปลวไฟยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และมีอุปกรณ์ดับเพลิงอยู่ใกล้ตัว ควรพยายามใช้อุปกรณ์ดับเพลิงระงับเหตุก่อน และหาทางออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด

2. วิ่งลงชั้นล่างเท่านั้น

หากบ้านอยู่บนอาคารสูง ห้ามวิ่งหนีไฟขึ้นที่สูงโดยเด็ดขาด ให้หนีลงชั้นล่างเท่านั้น เพราะควันไฟและเปลวไฟจะลอยสูงขึ้นด้านบน

3. รีบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

หากไม่สามารถหนีออกจากบ้านหรืออาคารได้ ให้กลับเข้าไปในห้อง หาผ้าชุบน้ำให้เปียกมาวางอุดช่องประตู หรือช่องต่างๆ ที่ควันไฟเข้าได้ เปิดหน้าต่าง โทรศัพท์ หรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือทุกวิธี

4. คลานต่ำ

ถ้าจำเป็นต้องฝ่าควันไฟออกไป ให้หมอบคลานไปบนพื้นให้ต่ำที่สุด เพราะออกซิเจนจะลอยต่ำ พร้อมกับหาผ้าชุบน้ำมาปิดหน้าปิดจมูก หรือใช้ถุงครอบเอาอากาศเก็บไว้แล้วครอบศีรษะอีกที คลานต่ำเท่านั้น ห้ามวิ่งฝ่าไปออกตรงๆ เพราะอาจจะสำลักควันจนขาดอากาศหายใจได้

5. เช็คประตูระหว่างหนี

ระหว่างหนี ก่อนเปิดประตูแต่ละบาน ให้เช็คความร้อนโดยการแตะประตูหรือลูกบิดประตู หากร้อนจัดแสดงว่ามีเปลวไฟลามอยู่ด้านนอก หากเปิดประตูทันที มีโอกาสที่เปลวไฟจะพุ่งลามเข้าหาตัวได้

6. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด

ขณะเกิดไฟไหม้ ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะติดอยู่ด้านใน ไม่มีทางหนี และสำลักควันจนเสียชีวิตได้ ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น

7. อย่ากระโดดลงจากตึกหรือที่สูงโดยเด็ดขาด

การกระโดดจากตึกสูงเพื่อหนีไฟไหม้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและพิการ ทางที่ดีควรหมอบคลานต่ำแล้วหาวิธีพาตัวเองออกจากพื้นที่เพลิงไหม้โดยใช้บันไดหนีไฟให้เร็วที่สุด

8. ห้ามเข้าไปหลบอยู่ในจุดอับ

เช่น ห้องน้ำ หรือดาดฟ้า เพราะนอกจากเป็นอันตรายต่อตัวเองแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปช่วยเหลือได้ยากด้วย

9 . หาผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก

หาผ้าหนา ๆ ชุบน้ำให้เปียกชุ่ม ปิดปาก ปิดจมูก และคลุมตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการสูดควันและความร้อนจากเปลวไฟ

10. รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หากหนีออกมาได้

หากสามารถหนีออกจากบ้านหรืออาคารได้ และได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ห้ามกลับเข้าไปโดยเด็ดขาด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อช่วยเหลือโดยเร็ว

หากบ้านไฟไหม้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกไฟไหม้

การดูแลคนถูกไฟไหม้เบื้องต้น ทำได้ดังนี้

  1. ถอดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้ รวมทั้งเครื่องประดับที่สะสมความร้อน รีบใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำหมาด ๆ คลุมร่างกายไว้
  2. หากพบว่ามีอาการหายใจผิดปกติ เสียงแหบพร่า ชีพจรเต้นเบา ต้องรีบช่วยหายใจด้วยการปั้มหัวใจโดยด่วน
  3. หากมีแผลเลือดออกต้องรีบห้ามเลือดก่อน
  4. หากมีแผลไฟไหม้ชั้นผิวหนัง ต้องระบายความร้อนด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำประคบ หรือแช่น้ำ ให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผล
  5. ห้ามเจาะแผลที่พุพองออกเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลาม หากแผลกว้างหรืออยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เบอร์โทรฉุกเฉินที่สามารถติดต่อได้

ควรบันทึกเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเก็บไว้ในที่หาได้ง่าย หรือในโทรศัพท์มือถือ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดไฟไหม้ จะได้ติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้มาระงับเหตุได้ทันท่วงที

  • 199 แจ้งเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้อง สามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 1669 กรณีเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรเพื่อขอความช่วยเหลือได้
  • 1137 กรณีฉุกเฉินสามารถโทรเข้าสายด่วน จ.ส.100 ได้เช่นกัน เพื่อช่วยประสานงานขอความช่วยเหลือให้รวดเร็วขึ้น
  • 191 เหตุด่วนเหตุร้าย แม้ว่าเป็นกรณีไฟไหม้ก็สามารถโทรแจ้งตำรวจได้ เพื่อให้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ

เบอร์โทรฉุกเฉิน

ประกันอัคคีภัยที่เจ้าของบ้านควรรู้

เจ้าของบ้านทุกบ้าน คงไม่มีใครอยากให้ไฟไหม้บ้านตัวเอง แต่อุบัติเหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ การทำประกันอัคคีภัยบ้านที่อยู่อาศัยจะช่วยให้เราคลายกังวลได้ เพราะบ้านและทรัพย์สินภายในบ้านมีมูลค่าสูง กรณีหากเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระได้ การทำประกันอัคคีภัยมีหลายรูปแบบ แต่ประโยชน์หลัก ๆ มีดังนี้

  1. คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้
  2. คุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินที่เกิดจากไฟไหม้ จากการฉีดน้ำดับเพลิง หรือโดนสารดับเพลิงจนเสียหาย
  3. คุ้มครองความเสียหายจากการทุบทำลายสิ่งกีดขวางเพื่อเข้าไปดับเพลิง
  4. คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากควันไฟ
  5. คุ้มครองความเสียหายภายนอกตัวบ้านหรืออาคาร เช่น เกิดกรณีสิ่งของหรือวัตถุหล่นมาใส่บ้าน

ประกันอัคคีภัย

บ้านไฟไหม้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย เป็นอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ รวมถึงการประมาทเลินเล่อ ไม่ดูแลบ้านให้ดีเท่าที่ควร หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริง ๆ นอกจากจะสูญเสียคุณค่าทางด้านจิตใจแล้ว การซ่อมแซมให้กลับสภาพเดิมก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากรู้ดังนี้แล้ว ก็ไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท และที่สำคัญควรมีอุปกรณ์ถังดับเพลิง หรือเครื่องตรวจจับควันติดบ้านเอาไว้ เพื่อช่วยป้องกันไฟไหม้บ้านได้อย่างทันท่วงที

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร