Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ทำความรู้จักกับถังดับเพลิงมีชนิดไหนบ้าง?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ถังดับเพลิงคืออุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาปัญหาอัคคีภัยที่ทุกบ้านควรมีไว้เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะเพียงเสี้ยววินาทีในสถานการณ์คับขัน การมีอุปกรณ์ในการป้องกันอาจเปลี่ยนชีวิตท่านไปตลอดกาลเลยก็ได้ ดังนั้นก่อนเลือกใช้ถังดับเพลิงชนิดใดให้เหมาะกับบ้าน เราควรทำความเข้าใจการทำงานและชนิดของถังดับเพลิงนั้น ๆ ให้ละเอียดนั่นเอง

ประเภทของถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงแบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ ๆ มีการจำแนกตามองค์ประกอบทางด้านเคมีและวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานเป็นสำคัญ ประกอบไปด้วย

1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง

ถังดับเพลิงประเภทนี้ ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อบรรเทาปัญหาอัคคีภัยในสภาพพื้นที่อันมีข้อจำกัด อาทิ บ้าน อาคารสำนักงาน โรงแรม รถยนต์ ตลอดจนที่โล่งแจ้ง โดยกระบวนการทำงานของถังประเภทนี้ จะนำผงเคมีแห้งที่มีคุณสมบัติตัดออกซิเจน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ผ่านสายแรงดันที่ถูกผูกติดไว้กับตัวถัง สามารถหยุดยั้งการลุกลามของไฟได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ถึงอุปกรณ์ชิ้นนี้จะสามารถสกัดกั้นการลุกลามของไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่สามารถการันตีได้ว่า เชื้อเพลิงที่หลงเหลืออยู่จะสามารถปะทุขึ้นมาได้อีกครั้งได้หรือไม่ จึงควรใช้กับการดับเพลิงอันเกิดจาก ของแห้งซึ่งเป็นเชื้อเพลงธรรมดา ของเหลวติดไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่สามารถใช้น้ำดับได้ เป็นต้น

2. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย HCFC-123

ด้วยความที่ถังดับเพลิงประเภทนี้บรรจุน้ำยาเหลวระเหยที่มีลักษณะเย็นจัด สามารถสกัดกั้นการลุกลามของไฟได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการดับเพลิงแทบทุกประเภท เนื่องจากมีคุณลักษณะที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า สามารถใช้ได้กับห้องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือ ไม่ทิ้งคราบตกค้างจากเพลิงไหม้ไว้ให้บาดใจอีกด้วย แต่ถังดับเพลิงประเภทนี้ ถือเป็นสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนถูกห้ามใช้กับอุตสาหกรรมบางประเภท อีกทั้งยังมีราคาสูงกว่าถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งอยู่หลายเท่าตัวอีกด้วย

3. ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์

ผลิตจากน้ำแข็งแห้งบรรจุอยู่ในตัวถังอันแข็งแรง เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ซึ่งมีแรงดันสูง ส่วนใหญ่มักนิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแทบทุกขนาด เนื่องจากสามารถควบคุมไฟที่เกิดจากน้ำมันและป้องกันกระแสไฟฟ้าได้ดี

ถึงแม้ว่าถังดับเพลิงประเภทนี้จะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง แต่ค่อนข้างมีน้ำหนักมาก และมีราคาสูง จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบ้านเรือนสักเท่าไร แต่หากท่านใดติดใจในคุณภาพจะมีไว้ประดับบ้านก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

4. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม

รูปลักษณ์ภายนอกของถังดับเพลิงชนิดนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากถังอื่น ๆ เนื่องจากตัวถังทำด้วยสแตนเลสทั้งใบบรรจุด้วยน้ำยาโฟมแบบเต็มอัตรา มีคุณสมบัติสามารถหยุดยั้งเชื้อเพลงซึ่งมีสาเหตุมาจากน้ำมันได้เป็นอย่างดี เราจึงมักพบเห็นถังดับเพลิงประเภทนี้ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี

แต่ถึงกระนั้น ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม ก็สามารถนำมาใช้เพื่อระงับเหตุอัคคีภัยภายในบ้านได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องระมัดระวังอย่าใช้ในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เพราะน้ำยาโฟมถือเป็นตัวนำไฟชั้นดี ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อผู้ใช้งานก็เป็นได้

5. ถังดับเพลิงชนิด BF2000

ถังดับเพลิงสีเขียวชิ้นนี้ ถูกบรรจุด้วยน้ำยาสารเหลวระเหยที่มีคุณสมบัติดับไฟได้แทบทุกประเภท มีคุณภาพสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับการดับไฟในพื้นที่ซึ่งมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็คทรอนิคส์ เนื่องจากสารเหลวระเหยเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นแก๊สซึ่งไม่ทำลายระบบการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงนิยมใช้กันมากบนเครื่องบิน หรือในอุตสาหกรรมเครื่องมือสื่อสาร เป็นต้น

ถึงถังดับเพลิงชนิดนี้จะมีคุณภาพดี แต่กับไม่สอดคล้องกับการใช้งานในบริเวณบ้านมากนัก เนื่องจากถังดับเพลิงชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือไม่สามารถใช้ดับเพลิงไหม้ที่เกิดในบริเวณห้องครัวได้นั่นเอง

6. ถังดับเพลิงเคมีสูตรน้ำ

เหมาะสำหรับใช้ดับไฟในบ้านที่อุดมไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อาทิ กระดาษ ไม้ หรือเสื้อผ้า เนื่องจากมีคุณสมบัติในการลดอุณหภูมิของวัตถุต้นเพลิงได้ดี หากมีติดบ้านไว้ก็สามารถอุ่นใจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถังดับเพลิงประเภทนี้ค่อนข้างมีราคาสูง โดยถังดับเพลิงเคมีสูตรน้ำที่ได้มาตรฐานจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 บาท เลยทีเดียว

ประเภทของถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงที่ควรมีในบ้าน

ที่จริงแล้ว ถังดับเพลิงที่กล่าวมาข้างต้นเกือบทุกประเภท สามารถใช้งานในบริเวณบ้านหรืออาคารที่พักได้แทบทั้งหมด ซึ่งผู้อยู่อาศัยควรพิจารณาจากวัตถุต้องสงสัยที่อาจเป็นเชื้อเพลิงในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน เช่น

  • ประเภท A ประกอบด้วยเชื้อเพลิงซึ่งเป็นของแข็งจำพวก ไม้แห้ง กระดาษ หรือพลาสติก เป็นต้น
  • ประเภท B ประกอบด้วยของเหลวติดไฟ อาทิ น้ำมันชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
  • ประเภท C ประกอบด้วย อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือสื่อสารที่มีไฟฟ้าไหลผ่านอยู่
  • ประเภท K ประกอบด้วยน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร อาทิ น้ำมันพืช น้ำมันเตา เป็นต้น

เมื่อเราพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้จนครบถ้วนแล้ว ก็สามารถเลือกถังดับเพลิงที่เราได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นให้เหมาะสมกับวัตถุที่อาจเป็นเชื้อเพลิงในประเภทต่าง ๆ เช่น หากบ้านเราเป็นร้านค้าที่มีของแข็งประเภท A เป็นโครงสร้างหลัก ก็สามารถเลือกใช้ ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง หรือหากบริเวณบ้านเป็นสถานประกอบการร้านอาหารประเภท K ก็ใช้ถังดับเพลิงเคมีสูตรน้ำ เป็นต้น

ดังนั้น การเลือกถังดับเพลิงจึงต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่และการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ จึงไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงลงไปได้ว่า ผู้อยู่อาศัยต้องใช้ถังดับเพลิงประเภทใด จึงต้องขอละไว้ให้ทุกท่านนำไปพิจารณาและตัดสินใจด้วยตัวเอง

ถังในบ้าน

สถานที่ในบ้านที่ควรวางถังดับเพลิง

การติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในบ้านควรคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

  • ติดตั้งในจุดที่มองเห็นง่าย และสามารถนำมาใช้ได้สะดวก
  • ติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ อาทิ ห้องครัว ห้องนอน หรือลานจอดรถ เป็นต้น
  • ติดตั้งในจุดที่สูงกว่าพื้นประมาณ 1 เมตร

สถานที่ที่ควรวางถังดับเพลิง

วิธีการเช็คถังดับเพลิงให้พร้อมใช้งาน

  • ตรวจสอบระดับความดันของถังดับเพลิง จากมาตรวัดบริเวณส่วนบนของตัวถังเป็นประจำทุกเดือน หากมาตรวัดมีความคลาดเคลื่อนให้เติมแรงดันลงไปจนกว่าจะอยู่ในระดับที่พร้อมใช้งาน
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ต่อพ่วงถังดับเพลิง อาทิ สายฉีดและสายส่ง ว่ามีการปริแตกหรือชำรุดเสียหายหรือไม่
  • ตรวจสอบสภาพภายนอกของถังดับเพลิง ต้องไม่เป็นสนิม และไม่บิดเบี้ยวถังดับเพลิงแต่ละชนิดมีอายุการใช้งานแตกต่างกัน ควรสำรวจคู่มือแนะนำที่มักจะติดอยู่ไม่ไกลจากตัวถังดับเพลิง

วิธีการเช็คถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงทุกชนิด มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันออกไป ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกติดตั้งชนิดของถังดับเพลิงเพื่อใช้งานให้เหมาะสมกับบ้าน ควรพิจารณาจากปัจจัยอันอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้เป็นสำคัญ เพื่อสามารถป้องกันปัญหาอัคคีภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร