นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผย ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ว่า ได้ขยายระยะเวลาการเชิญชวนนักลงทุนประเภทใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ จากเดิมตั้งเป้าหมายระยะแรก 30 ราย ภายในสิ้นปี 2560 ขยายเป็นเดือนมีนาคม 2561 เนื่องจากสำนักงาน อีอีซี เริ่มก่อตั้งช่วงเดือนมีนาคม 2560 ดังนั้น อยากขอเวลาทำงาน 1 ปี เพื่อให้การชักชวนการลงทุนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นกลุ่ม เป้าหมาย ทาง อีอีซี จะเน้นกลุ่มที่มี เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ เน้นผลประโยชน์กับประเทศ เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกฝนบุคลากร มากกว่าเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามา
"ยอมรับว่าการทำงานของสำนักงาน อีอีซีค่อนข้างมีข้อจำกัด คือ นักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนแล้วทั้งหมดเป็นนักลงทุนที่มีการลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว อาทิ โตโยต้า ยื่นลงทุนในเทคโนโลยียานยนต์ไฮบริด กว่า 20,000 ล้านบาท และตอนนี้มีบริษัทหลายรายแสดงความสนใจลงทุนเทคโนโลยี ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี อาทิ นิสสัน ฮอนด้า ส่วนรายใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน คือ แอร์บัส อุตสาหกรรมดิจิทัล คือ ลาซาด้า ต่างรอให้กฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) อีอีซี ประกาศใช้ก่อน ผมจึงหวังว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ(สนช.)ภายในปีนี้ เพื่อให้การลงทุนในอีอีซีขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล" นายคณิศกล่าว
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)ดูแลด้านการลงทุน กล่าวว่า ในส่วนของเอกชนเองขณะนี้ได้มีการรวมตัวบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ ของไทยประมาณ 30-40 บริษัท ติดต่อขอร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยสอท.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานพาเอกชนไทย ไปหารือกับบริษัทต่างชาติโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างวางโปรแกรมและบางส่วนได้ เดินทางไปหารือแล้ว โดยประเทศเป้าหมาย อาทิ เยอรมนี เม็กซิโก ฝรั่งเศส ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4)และขยายกิจการในพื้นที่โครงการอีอีซี ในช่วงเดือนมกราคมตุลาคม 2560 ว่า มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 495 โรงงาน ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ 544 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 5.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาท และการจ้างงานทั้งหมด 8.06 พันคน ลดลง 49.96% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 1.6 หมื่นคน
ทั้งนี้ในพื้นที่อีอีซี จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุด จำนวน 250 โรงงาน จ.ระยอง จำนวน 148 โรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 91 โรงงาน