การเคหะฯพลิกโฉมการพัฒนาที่อยู่อาศัย ดึงนวัตกรรม-เทคโนโลยีมาใช้ในทุกมิติ ชูโครงการเมืองดินแดงต้นแบบ Smart City เชิงสังคม
นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการพัฒนาในระดับโลก อีกทั้งการพัฒนาเมืองและชุมชนจะต้องครอบคลุมทั้งมิติที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้อยู่อาศัยทุกช่วงวัย
ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงด้านสังคมเป็นหลัก เช่น การนำแนวคิด Smart City มาใช้กับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โดยใช้นวัตกรรมทางสังคมคือ Smart Community เป็นการปรับชุมชนให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สามารถยู่ร่วมกันได้ทุกช่วงวัย เพื่อนำไปสู่ Smart Environment มีสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้มีแหล่งค้าของชุมชน ตลอดจนส่งเสริมสังคมไร้เงินสดด้วยการใช้อี- เพย์เมนท์
นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมการก่อสร้างและการออกแบบ อาทิ การก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Prefabricated Construction) ทำให้ก่อสร้างอาคารได้รวดเร็วเป็นไปตามแผนงาน และการใช้แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling : BIM) ในการออกแบบที่อยู่อาศัย เป็นต้น
สำหรับนวัตกรรมด้านการเงิน ได้มีการนำโมเดลทางการเงินต่างๆ มาใช้การแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ การจัดหาสินเชื่อให้เช่า เรียกว่า Leasing หรือรูปแบบการให้เช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติก่อนที่จะเข้าระบบการกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมถึงกองทุน REIT ที่การเคหะแห่งชาติจะนำมาใช้ในอนาคต โดยมี Investor มารับช่วงต่อในลักษณะของการระดมทุน และกู้เงินเพื่อนำไปพัฒนาโครงการ
ส่วนนวัตกรรมด้านการตลาด ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มช่องทางให้กับลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น อาทิ ระบบจองบ้านออนไลน์ ระบบแจ้งความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Waiting List) และโครงการบ้านแลกบ้าน เป็นต้น
นายธัชพล ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยว่า ควรมีกลไกการขับเคลื่อนที่ชัดเจนอย่างมีหลักการ ผู้นำต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมือง โดยต้องเกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยคือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) รวมถึงการยึดหลัก New Urban Agenda
ก่อนหน้านี้การเคหะฯได้จัดทำโครงการวิจัยศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของภาครัฐ โดยใช้เกณฑ์ Eco – Village ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับรางวัลระดับดี สาขาปรัชญา ในวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2560 จากสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันพัฒนาโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับที่อยู่อาศัย (บ้านเบอร์ 5) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Programme : UNEP) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สังคมและธรรมชาติ
ในปี 2561 การเคหะได้ดำเนินโครงการนำร่อง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จังหวัดปทุมธานี (รังสิตคลอง 10/3) โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จังหวัดระยอง (ตะพง) ระยะที่ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ ระยะที่ 3 และโครงการบ้านเอื้ออาทรชลบุรี (บ้านบึง 3)