เชียงใหม่ในปัจจุบันถือจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากอีกแห่งหนึ่งของประเทศด้วยเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ด้วยการคมนาคมในจังหวัดไม่สามารถรองรับความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวได้มากนัก นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาและยกระดับการคมนาคมในเชียงใหม่ขึ้น โดยในอนาคตเชียงใหม่จะมีการสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 โดย ทอท. และนอกจากนี้ยังทาง รฟม. ยังได้หารือกับภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมสร้างรถไฟฟ้าในเชียงใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นมากในอนาคตอีกด้วย
นางลัชชิดา อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ทอท. เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 มีความคืบหน้าในหลายระดับ ซึ่งหลังจากบอร์ท ทอท.อนุมัติให้ฝ่ายบริหารเร่งจัดทำแผนการพัฒนา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำแผนการลงทุนและแผนการพัฒนาโครงการก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาในการจัดแผนดังกล่าวราว 3-6 เดือน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการสร้างสนามบินแห่งใหม่ จากมีปริมาณจราจรทางอากาศค่อนข้างหนาแน่น และมีการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามแผนแม่บทของการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 จะรองรับผู้โดยสารได้เต็มศักยภาพ 20 ล้านคนในปี 2568 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ใหม่รองรับ
สำหรับพื้นที่ในการศึกษาการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 โดยข้อสรุปที่ชัดเจนจากการศึกษาทั้ง 5 พื้นที่ ได้คัดเลือกพื้นที่รอยต่ออำเภอบ้านธิ (ลำพูน) และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดจุดพื้นที่ว่าจะอยู่บริเวณใด โดยจะต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่อีกครั้ง
โดยเมื่อผ่านทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยพื้นที่ในการก่อสร้างจะต้องเตรียมรองรับ 2 รันเวย์ เตรียมพื้นที่เผื่อไว้สำหรับสร้างได้ 2 รันเวย์ คาดว่าจะใช้ที่ดินราว 4,000 ไร่ ส่วนงบประมาณในก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 60,000 ล้านบาท (ไม่รวมงบซื้อที่ดิน) ซึ่งเงินลงทุนจะเป็นในส่วนของ ทอท.ที่ลงทุนเอง
ด้าน รฟม. ได้ร่วมประชุมหารือกับภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ถึงการดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้อนุมัติมอบหมายให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินงาน ขณะนี้มีความคืบหน้าในหลายระดับ
โดยจะใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบหลักในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ซึ่งมีความเหมาะสมกับเส้นทางในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด และ สนข.จะเป็นผู้จัดทำแผนแม่บท
ทั้งนี้ลักษณะโครงการแบ่งเป็น 2 โครงข่ายคือ โครงข่าย A และ โครงข่าย B ซึ่งโครงข่าย A มีโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างระดับดินและใต้ดิน 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงวิ่งแนวทิศเหนือ, สายสีน้ำเงินวิ่งแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก, และสายสีเขียววิ่งเชื่อมย่านธุรกิจ
ขณะที่โครงข่าย B ก็เป็นระบบ LRT ที่มี 3 เส้นทางเช่นกัน แต่วิ่งระดับดินทั้งหมด โดยทั้ง 2 ระบบหลักดังกล่าว จะเชื่อมต่อด้วยระบบรองและระบบเสริม ซึ่งจะใช้รถประจำทางเป็น Feeder
นายสาโรจน์ กล่าวอีกว่าจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า โครงข่าย A มีความเหมาะสมมากที่สุดและมีแรงดึงดูดในการใช้บริการมากที่สุด โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า (LRT) สายสีแดงเป็นสายแรก
“ภายในสิ้นปี 2561 จะจัดจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมออกแบบในรายละเอียด ซึ่งคาดว่าราวต้นปี 2562 บริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่และออกแบบรายละเอียดอย่างเต็มรูปแบบ และราวต้นปี 2563 จะนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติโครงการ จากนั้นราวกลางปี 2563 จะประกาศประกวดราคา โดยจะเริ่มการก่อสร้างได้ราวปี 2564 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567” นายสาโรจน์กล่าว
ด้าน ดร.ทรงยศ กิจธรรมเกษร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงข่าย A ซึ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน ที่วางไว้ 3 สายหลัก มีมูลค่าการก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานราว 80,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) และมีมูลค่าการลงทุนระบบ Feeder อีกราว 6,000 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงข่าย A สายสีแดง วิ่งแนวทิศเหนือ-ใต้ เริ่มต้นที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการ ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ สิ้นสุดที่เส้นทางไปอำเภอหงดง (บริเวณห้างบิ๊กซี)
ที่มา : prachachat
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania