Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

แอล.พี.เอ็น.แห่งอนาคต มุ่งสู่ธุรกิจบริการ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ปี 2560-2561 ถือเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา แอล.พี.เอ็น.ยึดถือตลาดคอนโดมิเนียมในระดับกลาง-ล่างเป็นฐานใหญ่ และสามารถก้าวสู่การเป็นเจ้าตลาดคอนโดมิเนียมของคนระดับกลางจับกลุ่มคนที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว โดยยึดถือเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจมาถึงทุกวันนี้ 

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท  แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เล่าความย้อนหลังให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่างอย่างจริงจัง เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แอล.พี.เอ็น.มีคอนโดเหลือขายอยู่ที่แฮปปี้แลนด์แบรนด์ ลุมพินี เซ็นเตอร์ซึ่งเป็นคอนโดราคาไม่กี่แสนบาท แต่กลับพบว่า ดีมานด์ของคนระดับกลาง-ล่างยังมีอยู่มาก หากสามารถพัฒนาสินค้าให้คนกลุ่มนี้สามารถซื้อได้
แอล.พี.เอ็น. หลุดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 สามารถปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ถึง 3,700 ล้านบาทมาได้ ส่วนหนึ่งมาจากการขายคอนโดให้กับคนระดับกลาง-ล่างมาเติมสภาพคล่องต่อลมหายใจในภาวะวิกฤต และที่สำคัญคือทำให้แอล.พี.เอ็น.ค้นพบตัวตนและปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ การพัฒนา ซิตี้ คอนโดมิเนียมสำหรับกลุ่มคนระดับกลางล่าง โดยส่วนหนึ่งถือเป็นการช่วยเหลือสังคม ทำให้คนเริ่มต้นสร้างครอบครัวสามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ 
ขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้กับ แอล.พี.เอ็น.ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยสามารถทำรายได้สูงสุดให้กับบริษัทในปี 2558 จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-ล่างมีปัญหา จากความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน 

ปรับองค์กรสร้างการเติบโตรอบใหม่  
ลูกค้าของแอล.พี.เอ็น.ถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50% ทำให้มีสินค้าค้างสต๊อกอยู่ถึง 1.3 หมื่นหน่วย มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ทำให้รายได้ลดลงในปี 2559 อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ปี 2560 เหลือ 9,600 ล้านบาท  ในปี 2560 แอล.พี.เอ็น.จึงปรับตัวครั้งใหญ่ รับมือกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไป พร้อมกับการประกาศวิสันทัศน์รอบใหม่จะเริ่มใช้ในรอบปี 2560-2562 จาก Year of SHIFT .ในปี 2560 สู่ Year of CHANGE .ในปี 2561 และ Year of
GROWTH .ในปี 2562 

โดยขยายกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาโครงการใหม่ จากกลุ่มกลางถึงกลาง-ล่างมาเป็นกลุ่มกลาง-ล่างถึงบน ขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการ  ได้แก่ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ บริษัท บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ และ บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส นอกจากการให้บริการกับโครงการของแอล.พี.เอ็น.แล้ว ได้ขยายไปรับงานภายนอกเพิ่มขึ้น และไฮไลท์สำคัญคือ การปรับโครงสร้างการบริหารจากรุ่นก่อตั้ง ซึ่งประกอบด้วย นายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายพิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์ นางยุพา เตชะไกรศรี นายคัมภีร์ จองธุระกิจ กรรมการบริหาร ถอยเพื่อเปิดทางให้ผู้บริหารรุ่น 2 นำโดย โอภาส ศรีพยัคฆ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นอกจากนี้ยังได้ดึง นายเกริก วณิกกุล อดีตผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย มาร่วมเป็นกรรมการบริษัทอีก 1 ราย

เร่งขยายรายได้ปี 2561 โต 35-40%
ภารกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคือการเร่งระบายสต๊อกที่มีอยู่ 1.3 หมื่นยูนิตออกไป ซึ่งที่ผ่านมาสามารถขายออกไปได้ 7,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% รวมถึงการชะลอเปิดโครงการในกลุ่มกลาง-ล่าง และขยายตลาดไปสู่กลาง-บน ในปีที่ผ่านมา  เพื่อดึงรายได้กลับมา โดยในปีที่ผ่านมายอดขายกลับไปอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 ที่ยอดขายลดลงไปเหลือ 8,700 ล้านบาท  ส่วนในปี 2561 จะมาเร่งการเติบโตของรายได้ 35-40% 
ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งยอดขายจากคอนโดมิเนียม 1.7 หมื่นล้านบาท และบ้านแนวราบ  3,000  ล้านบาท  ขณะที่เป้ารายได้จากการขายอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นคอนโด 1.05 หมื่นล้านบาท และ   ประเภทบ้าน 1,500 ล้านบาท  ส่วนแผนเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท  แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 1.5 หมื่นล้านบาท และบ้านแนวราบ  3,000 ล้านบาท
“คาดว่าในปี 2562 ซึ่งจะจบวิสัยทัศน์รอบนี้ แอล.พี.เอ็น.จะกลับไปยืนได้เหนือกว่าจุดที่เคยทำได้สูงสุด และจะเริ่มวิสัยทัศน์รอบใหม่ในปี 2563 แต่ยังยืนอยู่ในปรัชญาการทำธุรกิจกับการทำตลาดระดับกลาง และกลาง-ล่าง” นายโอภาสกล่าว 
นอกจากนี้ ในปี 2561 แอล.พี.เอ็น. จะเปิดตัวบ้านแนวราบระดับไฮเอนด์แบรนด์ใหม่ชื่อว่า บ้าน 365 มีทั้งทาวน์โฮม  4 ขั้น ราคา 17-20 ล่านบาท  และบ้านเดี่ยวราคา 50 ล้านบาทขึ้น โดยจะเปิดตัวปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 งานนี้นายฑิฆัมพรและนายพิเชษฐ 2 ผู้บริหารระดับสูงของแอล.พี.เอ็น. ลงมือคุมโครงการทำคลอดแบรนด์ดังกล่าวด้วยตัวเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการต่อยอด เพื่อรองรับลูกค้าของบริษัทที่เติบโตขึ้น เป็นการรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่  ไม่ให้สูญเสียไปให้กับบริษัทอื่น

ต่อยอดธุรกิจบริการลูกค้า-โครงการ
ส่วนแนวทางที่จะเพิ่มรายได้ นอกจากการขยายรายได้จากธุรกิจหลักคือการพัฒนาโครงการที่ไม่จำกัดเฉพาะตลาดกลาง-ล่างอย่างเดียว โดยการพัฒนาโครงการที่เพิ่มความหลากหลายของกลุ่มสินค้า นอกจากนี้ยังจะเพิ่มรายได้จากการบริการ และเพิ่มรายได้จากการเช่า และการขยายรายได้ไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย เนื่องจากบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่  2.5 แสนคน ซึ่งจะมีการขยายการบริการเข้ามารองรับโดยจะเน้นบริการที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเป็นหลักขณะเดียวกัน จะมีการขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยได้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วที่ร่วมกับบริษัท ชีวาทัย ข.การช่าง และ นายณ์ ทำโครงการผู้สูงอายุ เป็นต้น ตอนขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจน่าจะได้ข้อสรุปประมาณกลางปี รวมถึงการขยายธุรกิจ เรียลเอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์ เพื่อให้บริการในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ก็จะมีการขยายธุรกิจเพิ่มเช่นกัน  

“เชื่อว่าธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในอนาคต จากอัตราการเกิดที่ลดลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่คนรุ่นใหม่มีแนวคิดการอยู่อ่าศัยที่แตกต่างกันออกไป วันนี้มีการพูดถึงการแชร์ คนรุ่นใหม่ไม่คิดจะซื้อบ้าน แต่เป็นการเช่าแทน และสามารถเปลี่ยนที่ไปได้ การทำงานไม่จำกัดเวลา ทำงานที่บ้าน ธุรกิจอสังหาเพื่อการขายจะถูก disrupt เหมือนที่เกิดในอเมริกาซึ่งต้องดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปีนี้ ดังนั้นอนาคตของบริษัทคือเรื่องของบริการ ยิ่งสังคมเป็นดิจิทัลเท่าไหร่ คนเรียกหาเรื่องของ Human Touch มากขึ้น” นายโอภาสกล่าวปิดท้าย

เป้าหมายของแอล.พี.เอ็น.จึงเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี เพื่อขยายฐานสู่ธุรกิจบริการทั้งลูกค้าโครงการ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร