Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

โครงสร้างบ้าน งานสำคัญที่เจ้าของบ้านต้องใส่ใจ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

บ้านที่มั่นคงต้องเริ่มจากโครงสร้างบ้านที่แข็งแรง” คำพูดนี้ทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าโครงสร้างบ้านนั้นมีความสำคัญมากขนาดไหนในการสร้างบ้านให้แข็งแรง แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ คนกลับละเลยที่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อาจจะเป็นเพราะไม่มีความรู้ หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ในบทความนี้จะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดของโครงสร้างบ้านในแต่ละส่วน

1. รู้จักส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างบ้าน

บ้านหนึ่งหลังนั้นเกิดขึ้นมาจากการนำโครงสร้างในแต่ละส่วนมาประกบกัน และยึดติดกันให้แน่นด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามแต่ลักษณะของวัสดุที่นำมาใช้ทำโครงสร้าง ซึ่งส่วนประกอบหลักของโครงสร้างบ้านจะมีอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน

เริ่มต้นจากส่วนที่หนึ่งคือเสาเข็ม ซึ่งเสาเข็มนั้นเปรียบเสมือนรากฐานของบ้าน มีหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของบ้าน แล้วถ่ายน้ำหนักลงไปในดิน ทำให้การลงเสาเข็มให้ถูกต้องตามขนาด และความลึก ที่ผ่านการคำนวณตามมาตรฐานทางด้านวิศวกรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าลงเข็มไม่ถูกต้องบ้านก็จะพังในเวลาอันรวดเร็ว

โครงสร้างบ้านส่วนที่สองคือพื้น ซึ่งโครงสร้างในส่วนของพื้นนั้นอาจจะรวมในเรื่องการสร้างของเสา และคานเข้าไปด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โครงสร้างพื้นนั้นลำดับการทำงานจะอยู่ต่อจากการลงเสาเข็มนั่นเอง

โครงสร้างบ้านส่วนที่สามคือโครงสร้างหลังคา ซึ่งในปัจจุบันนั้นโครงหลังคาสามารถใช้วัสดุต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย ในการก่อสร้างนั้นเมื่อทำโครงสร้างพื้น เสา คาน เสร็จเรียบร้อยก็จะเริ่มทำโครงสร้างหลังคาเพื่อให้สามารถบังแดด และฝนสำหรับการทำงานในส่วนอื่น ๆ ต่อไปได้

โครงสร้างบ้านส่วนสุดท้ายคือโครงสร้างผนัง ถือว่าเป็นโครงสร้างหลักส่วนสุดท้ายที่ทำการก่อสร้าง มีการกำหนดขอบเขต และสัดส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอกของบ้าน

รู้จักส่วนต่างๆ ของโครงสร้างบ้าน2. โครงสร้างส่วนพื้น

โครงสร้างส่วนพื้นถือว่าเป็นโครงสร้างหลักที่สำคัญส่วนหนึ่งของบ้าน เพราะโครงสร้างส่วนพื้นคือโครงสร้างที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของตัวบ้าน แล้วถ่ายเทน้ำหนักออกไปสู่สิ่งอื่น ทำให้โครงสร้างพื้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ โครงสร้างที่ถ่ายน้ำหนักลงไปสู่ดินโดยตรง โดยที่ไม่มีเสาเข็ม เหมาะกับบริเวณที่มีดินแข็ง และโครงสร้างพื้นที่ถ่ายน้ำหนักลงไปที่โครงสร้างเสาเข็ม
 
ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การหล่อโครงสร้างกับที่ ซึ่งคือการนำคอนกรีตมาหล่อในบริเวณที่มีการก่อสร้างเลย กับการใช้พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปมาวางให้เป็นโครงสร้าง สำหรับโครงสร้างที่ถ่ายน้ำหนักสู่ดินโดยตรงต้องสร้างพื้นแบบหล่อโครงสร้างกับที่เท่านั้น เนื่องจากต้องใช้คอนกรีตช่วยถ่ายน้ำหนักลงไปสู่ดินโดยตรง ซึ่งพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปไม่สามารถทำได้

โครงสร้างส่วนพื้น

3. โครงสร้างผนัง

โครงสร้างบ้านในส่วนของผนังนอกจากจะเป็นการกำหนดบริเวณต่าง ๆ ทั้งภายในบ้าน และภายนอกบ้านแล้วนั้น โครงสร้างผนังยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสวยงามของบ้านอีกด้วย ในระบบการก่อสร้างนั้นโครงสร้างผนังเป็นส่วนที่ก่อสร้างทีหลังสุดต่อจากโครงสร้างหลักอื่น ๆ

สำหรับโครงสร้างผนังในปัจจุบันนั้นมีการใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบมาเป็นโครงสร้างผนังภายนอกสุด ซึ่งเป็นผนังที่มีหน้าที่ช่วยเสาและคานรับน้ำหนักของบ้าน นิยมทำเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนกันอยู่ เนื่องจากมีความสามารถในการรับน้ำหนักได้ดีกว่าวัสดุประเภทอื่น ส่วนผนังที่ใช้ในการแบ่งสัดส่วนภายในบ้านสามารถใช้วัสดุต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ เช่น อิฐมวลเบา ไม้ ยิปซัม เป็นต้น

ในส่วนรายละเอียดการก่อสร้างที่สำคัญของโครงสร้างผนังแบบก่ออิฐฉาบปูนที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลยนั้นมีดังนี้ ถ้าผนังมีความสูงมากกว่า 3 เมตรต้องมีคานทับหลังเพื่อความแข็งแรง ถ้าผนังมีความยาวมากกว่า 4 เมตรต้องมีเสาเอ็นช่วยเสริมความแข็งแรง ขอบประตูหน้าต่างต้องมีเสาเอ็น และคานทับหลังเพื่อป้องกันการแตกร้าวบริเวณขอบวงกบ หลักในการก่อสร้างทั้งสามอย่างนี้นั้นไม่สามารถมองข้ามได้อย่างเด็ดขาด

โครงสร้างผนัง

4. โครงสร้างเสาและคาน

สำหรับโครงสร้างเสาและคานนั้นเป็นโครงสร้างสำคัญอีกหนึ่งส่วนของการสร้างบ้าน เพราะว่าโครงสร้างของเสา และคานมีหน้าที่รับน้ำหนัก และกระจายน้ำหนักไปยังส่วนต่างๆ ของโครงสร้างที่อยู่ด้านล่างอย่างสมดุล ดังนั้นเสา และคานจึงเปรียบเสมือนกระดูกของบ้าน เป็นส่วนที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับบ้านทั้งหลังนั่นเอง

สำหรับการสร้างเสา และคานนั้นปัจจุบันนิยมใช้อยู่สองประเภทคือโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และโครงสร้างเหล็ก ซึ่งในปัจจุบันคอนกรีตเสริมเหล็กยังได้รับความนิยมมากกว่าในการนำมาสร้างเป็นเสา และคาน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า แต่ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานมากกว่าโครงสร้างเหล็กเนื่องจากต้องรอให้คอนกรีตที่หล่อเป็นโครงสร้างนั้นแข็งตัวตามเวลาที่กำหนด เพื่อประสิทธิภาพสูงที่สุด

โครงสร้างเสาและคาน

5. โครงสร้างหลังคา

โครงสร้างหลังคานั้นมีหน้าที่รับน้ำหนักของวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นหลังคานั่นเอง ซึ่งโครงสร้างหลังคาจำเป็นต้องออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และคำนวณการรับน้ำหนักให้ดี เพราะว่าวัสดุที่นำมาใช้ทำหลังคานั้นมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ในปัจจุบันโครงสร้างหลังคานั้นนิยมทำด้วยเหล็กเนื่องจากสามารถปรับใช้ได้หลากหลายรูปแบบ และถ้าใช้เหล็กคุณภาพสูงในการก่อสร้าง โครงสร้างหลังคาเหล็กสามารถมีอายุได้นานหลายสิบปีเลยทีเดียว

สำหรับโครงสร้างหลังคานั้นมีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญอีกหลายชิ้น ซึ่งเจ้าของบ้านควรหาข้อมูลว่าส่วนประกอบแต่ละชิ้นนั้นมีหน้าที่อะไร ส่วนประกอบของโครงสร้างหลังคาที่สำคัญได้แก่ อเส จันทัน อกไก่ ดั้ง ขื่อ แป เชิงชาย เป็นต้น ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้ต้องได้รับการผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ และมีการติดตั้งอย่างถูกต้อง บ้านถึงจะมีความแข็งแรง ปลอดภัย

โครงสร้างหลังคา

6. เลือกโครงสร้างอย่างไรให้บ้านแข็งแรง

การเลือกวัสดุต่างๆ เพื่อมาใช้เป็นโครงสร้างบ้านนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าถ้าเริ่มต้นด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ การก่อสร้างในส่วนต่อไปก็สามารถทำได้อย่างสะดวก การเลือกโครงสร้างบ้านให้แข็งแรงมีหลักการง่ายๆ เพียงหลักการเดียวคือเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพตามที่ผู้ออกแบบ หรือวิศวกรคำนวณมาแล้วอย่างเคร่งครัด ห้ามลดคุณภาพของวัสดุโดยเด็ดขาด แต่ถ้าจะเพิ่มคุณภาพนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องปรึกษากับผู้ออกแบบ หรือวิศวกรอย่างละเอียด  

เลือกโครงสร้างอย่างไรให้บ้านแข็งแรง

7. รายการประกอบแบบคืออะไร

รายการประกอบแบบ หรือที่เรียกว่ารายการก่อสร้างนั้นคือ เอกสารที่มีรายละเอียดของการก่อสร้างทั้งหมด รวมถึงแนวคิดในการก่อสร้างสิ่งนั้นๆ อย่างละเอียด เพราะรายการประกอบแบบนั้นถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด

รายการประกอบแบบนั้นคือการอธิบายรายละเอียดต่างๆ ของการก่อสร้างเพิ่มเติมจากในแบบแปลนให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น เพราะการก่อสร้างเป็นงานที่มีรายละเอียดมากมาย การใส่รายละเอียดทั้งหมดลงไปในแบบแปลนจึงไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติต่างๆ ของวัสดุ อุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ วิธีการก่อสร้าง ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ ซึ่งรายการประกอบถือว่าเป็นหนึ่งในเอกสารสัญญาการจ้างงานด้วย

รายการประกอบแบบคืออะไร

8. วิธีตรวจสอบงานโครงสร้างเบื้องต้น

การตรวจสอบงานโครงสร้างเบื้องต้นไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าเจ้าของบ้านไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ทางด้านการก่อสร้างมาก่อน เพราะการตรวจสอบงานโครงสร้างเบื้องต้นนั้นถ้ามองด้วยตาเพียงอย่างเดียว จะหาความผิดปกติได้น้อยมาก แต่การตรวจโครงสร้างบ้านด้วยตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถทำได้
 
เริ่มต้นการตรวจสอบโครงสร้างบ้านเบื้องต้นด้วยตัวเองนั้นทำได้โดยสังเกตภาพรวมของบ้านว่าตรงหรือไม่ ในแนวดิ่งบ้านต้องตั้งฉากกับพื้น เสา และคานที่เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักต้องตรง ไม่แอ่น หรือเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ปูนที่เทไว้เป็นโครงสร้างต้องไม่มีการแตกร้าว หรือกะเทาะหลุดล่อน ส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กอย่างโครงสร้างหลังคาต้องไม่มีสนิมในจุดเชื่อม มีการวางโครงสร้างหลังคาในส่วนต่างๆ อย่างสมดุล
 
แต่การตรวจสอบงานโครงสร้างเบื้องต้นให้ได้ผลดีที่สุดคือการจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ โดยผู้เชี่ยวชาญนั้นต้องไม่เกี่ยวข้องกับผู้รับเหมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบโครงสร้างเบื้องต้นจะเข้ามาตรวจสอบในรายละเอียดต่างๆ มากขึ้นให้ตรงกับในรายการประกอบแบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับการเทปูนที่พื้น ขนาดของเสา ความหนาแน่นของคอนกรีตที่ทำเป็นเสา หรือคาน คุณภาพของเหล็ก

วิธีตรวจสอบงานโครงสร้างเบื้องต้น

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าการทำความเข้าใจในโครงสร้างบ้านต่างๆ  ที่นำมาเป็นประกอบเป็นบ้านนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเรื่องโครงสร้างบ้านสามารถเข้าใจในพื้นฐานเบื้องต้นได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องใส่ใจในรายละเอียด มีความรอบคอบ และควบคุมผู้รับเหมาให้ทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้อย่างเรียบร้อย               

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร