Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

แบงค์พร้อมใจ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ‘MLR-MOR-MRR’

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลัง กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เหล่าธนาคารพาณิชย์ ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท มาดูกันครับว่ามีธนาคารอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเพื่อให้สอดรับกับมาตรการด้านการคลัง การเงินและสินเชื่อของรัฐบาล
ลดดอกเบี้ย

โดยหลังจากที่  กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% แล้วทำให้เหล่าธนาคารพาณิชย์ ทั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท

ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท มีผล 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลงเหลือต่ำสุด 5.25% โดยเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา เหลือ 5.25% เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี เหลือ 5.875% และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เหลือ 5.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

“ธนาคารมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้า ผู้ประกอบการและประชาชน ให้สามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบาง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผ่านมาธนาคารฯให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน โดยเฉพาะการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายสุวรรณกล่าว
ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาปรับลดดอกเบี้ย MLR-MOR และ MRR มีผล 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า กรุงศรีพร้อมสนับสนุนนโยบายทางการเงินของภาครัฐผ่านกลไกการทำงานของธนาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้า อันเนื่องมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และปัจจัยลบที่ตามมา ดังนั้น กรุงศรีจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ลงอีก หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อไปแล้ว 3 ครั้ง ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 24 มีนาคม และ 10 เมษายน 2563 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีมีอัตราดอกเบี้ยดังต่อไปนี้

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจาก 5.83% เป็น 5.58%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 5.95%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 6.05%

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงไทย
กรุงไทยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท มีผล 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการเร่งกิจกรรมและกิจการทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.125% ต่อปี เหลือ 5.25% ต่อปี MOR ลดลง 0.40% ต่อปี เหลือ 5.82% ต่อปี และ MRR ลดลง 0.125% ต่อปี เหลือ 6.22% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน นอกเหนือ จาก 5 มาตรการเยียวยาที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การสนับสนุน Soft Loan ในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อดูแลลูกค้าของธนาคารให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ รวมทั้งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์
ไทยพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีผล 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงสภาวะปกติ  เพื่อเร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมาโดยเร็ว ธนาคารฯ จึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยเร่งด่วน นับเป็นการลดดอกเบี้ยติดต่อกันต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19  ในหลายเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR ปรับลดจาก 5.375% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR ปรับลดลงจาก 6.095 % เป็น 5.845% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR ปรับลดลงจาก 6.345 % เป็น 5.995 % ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร

ธนาคารฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และช่วยให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด ทั้งนี้นอกจากมาตรการลดดอกเบี้ยแล้ว  ธนาคารฯ ยังสนับสนุนแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่นี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท มีผล 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตอบสนองการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ถึงมือลูกค้าทุกกลุ่มทันที โดยธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลงสูงสุดถึง 0.38% ทำให้อัตราดอกเบี้ย MOR คงเหลือเพียง 5.84%

อีกทั้งธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MRR ลงอีก 0.13% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยคงเหลือ 5.47% และ 5.97% ตามลำดับ เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความตั้งใจของธนาคารในการช่วยประคับประคองสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลและลูกค้าผู้ประกอบการ เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ค่อย ๆ ฟื้นตัวและเดินหน้าไปได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท มีผลวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ด้วยภารกิจหลักของธนาคารออมสินในการเป็นกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์และสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงมุ่งให้ความสำคัญต่อสภาวะการดำรงชีพในการช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้าและประชาชน ธนาคารฯ จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลด 0.125-0.25% ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Lending Rate) ปรับลดลงจาก 6.275% เป็น 6.150% (ปรับลด 0.125%) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ปรับลดลงจาก 6.245% เป็น 5.995% (ปรับลด 0.25%) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ปรับลดลงจาก 6.370% เป็น 6.245% (ปรับลด 0.125%) สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด 

“ปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ ได้ไม่มากก็น้อย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
ธนาคารออมสิน

ธนาคารทหารไทยและธนชาต 
ธนาคารทหารไทยและธนชาต ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไป ทั่วโลก ธนาคารได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทีเอ็มบี และธนชาตจึงขอประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR (Minimum Lending Rate), MOR (Minimum Overdraft Rate) และ MRR (Minimum Retail Rate) โดย MLR จาก 6.25% ลดลง 0.125% เหลือ 6.125% MOR จาก 6.275% ลดลง 0.125% เหลือ 6.15% และ MRR จาก 6.63% ลดลง 0.35% เหลือ 6.28% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

การลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ นอกจากเป็นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทแล้ว ธนาคารได้มีการปรับลดดอกเบี้ย MRR ลงมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางการเงินลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ต้องประสบปัญหาสภาพคล่องอันเนื่องจากเหตุการณ์ที่ยากลำบากในครั้งนี้ ให้ใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเพื่อเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19

ธนาคารทหารไทย

 

ดอกเบี้ยถูกแบบนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะหาซื้อที่อยู่อาศัยใครที่กำลังหาบ้าน ทาวน์โฮม หรือคอนโดอยู่สามารถค้นหาได้ที่ Baania นะครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร