Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เอกชนขานรับ ‘ผ่อนปรน’ LTV

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การปลดล็อคมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งล่าสุดนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.ตลาดฟื้นตัวได้ในบางส่วน 2.ระบายสต็อกของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ซัพพลายในตลาดลดลง และ 3.ส่งผลบวกต่อบริษัทในด้านการโอนโครงการต่างๆ

กระตุ้นแรงซื้อผู้บริโภค

ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากภาครัฐอนุมัติโครงการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วงปลายปีออกมาเพิ่มเติม ในส่วนของโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) โดยบ้านหลังแรก ไม่ต้องวางเงินดาวน์และสามารถกู้เพิ่มซื้อเฟอร์นิเจอร์ 10% ส่วนบ้านหลังที่ 2 หากมีการผ่อนบ้านหลังแรกมาแล้วตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปสามารถวางเงินดาวน์เพียง 10%

อีกทั้งการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียสำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขาย ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด โดยภาพรวมมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงปี 2563 ทำให้ตลาดกลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา

“มาตรการของภาครัฐเรื่องบ้านดีมีดาวน์ อนันดามีสัดส่วนของมูลค่าบ้านที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทเป็นจำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการและจะเริ่มส่งผลบวกในช่วงต้นปี 2563

ด้านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงยังเป็นผลดีต่อภาพรวมอสังหาฯ และปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของสายรถไฟฟ้าที่จะทยอยเปิดเพิ่มจาก 109 สถานี เป็น 133 สถานี ในปี 2563  ทั้งส่งผลดีต่อคอนโดแนวรถไฟฟ้า สุดท้ายคือปัจจัยบวกจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นปัจจัยเชิงบวกด้านจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี  

บริษัท ยังคงเดินหน้าด้วยกลยุทธ์พัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจที่ริเริ่มเป็นรายแรกและดำเนินการมาโดยตลอด การขยายเครือข่ายของรถไฟฟ้าจากปัจจุบัน 109 สถานีเป็น 221 สถานีในอีก 5 ปี และจะเป็น 319 สถานีในอีก 11 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้นำการพัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า อย่าง อนันดาฯ ได้รับผลดีจากการขยายตัวนี้โดยตรง

 “เรายังเน้นย้ำการรักษาวินัยทางการเงินไว้อย่างเข้มงวด โดยจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไว้ที่ 1 เท่า โดยเราต้องมั่นใจว่าการเติบโตของบริษัทจะไม่เพิ่มความเสี่ยงซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว”ดร. ชัยยุทธ กล่าว

LPN เร่งโปรคอนโดพร้อมอยู่

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) (LPN) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (loan to value ratio : LTV) ไม่ให้ตึงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องมากเกินควร โดยได้มีข้อเสนอให้ธปท.ผ่อนคลาย LTV ของบ้านหลังที่สองให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับบ้านหลังแรก

แนวคิดดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาวะที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังทรงตัว โดยเฉพาะการระบายสต๊อกคอนโดมิเนียมที่ยังคงเหลืออยู่ในตลาด  เนื่องจากในข้อเท็จจริงการซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อการได้อยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน และการลงทุน     ระยาวโดยการซื้อเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งไม่ใช่การเก็งกำไรก็มีอยู่จำนวนมาก หากธปท.พิจารณาปรับเงื่อนไข LTV สำหรับบ้านหลังที่สองโดยให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ LTV บ้านหลังแรก จะทำให้เกิดการซื้อขายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้

การที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย สำหรับการจัดเก็บภาษีตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้ที่ดินและสิ่งปลูกให้ที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย  จากเดิมที่จะจัดเก็บในอัตราการใช้ประโยชน์ที่ดินในประเภทอื่นๆ ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ และยังช่วยลดภาระด้านภาษีสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนระยะยาวโดยการปล่อยเช่าด้วย

“การผ่อนคลายมาตรการ LTV และการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับการอยู่อาศัยนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนโดยตรงแล้ว ยังช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในทางอ้อม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยหลังที่สองทั้งการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ในทำเลที่ใกล้แหล่งงาน และการซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาวจากการปล่อยเช่า จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกที่มีอยู่ในตลาดได้ดียิ่งขึ้น”

มาตรการสนับสนุนประชาชนในการซื้อที่อยู่อาศัย และช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านดีมีดาวน์ โดยการให้เงินคืน 50,000 บาท สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01 % สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่มีผลถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการสนับสนุน รวมไปถึงการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆ จะช่วยสร้างบรรยากาศของตลาดให้กลับมาคึกคัก และกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมา LPN ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนมาตรการรัฐ โดยการจัดโปรโมชั่นร่วมกับมาตรการรัฐ ทั้งโครงการบ้านดีมีดาวน์ นอกจากจะได้รับเงินคืนจากภาครัฐเป็นจำนวน 50,000 บาท แล้ว LPN  ยังให้เงินคืนเพิ่มเติมอีก 50,000 บาท รวมเป็น 100,000 บาท และการจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดเพิ่มเติมสำหรับมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โดยในปี 2563 บริษัทยังมีการจัดโปรโมชั่นสนับสนุนมาตรการรัฐอย่างต่อเนื่องกับโปรโมชั่นสำหรับคอนโดมิเนียม "ถูกที่ ถูกเวลาในราคาที่ถูกกว่า" สำหรับบ้านลุมพินีกับแคมเปญ “สวัสดีปีชวด ไม่อยากชวดต้องรีบจอง” ซึ่งเป็นแคมเปญพิเศษสำหรับคนอยากมีบ้านพร้อมอยู่ในราคาที่เหมาะสมบนความพอดีที่ดีกว่า

ล่าสุดบริษัทได้นำโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมขายที่ปัจจุบันมีอยู่ 23 โครงการ โดยแบ่งคอนโดมิเนียม 18 โครงการและบ้าน 6 โครงการ คัดเฉพาะโครงการที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตัวอย่างคอนโดมิเนียม ได้แก่ โครงการลุมพินี วิลล์ ราชพฤกษ์-บางแวก, โครงการลุมพินี วิลล์ สุขุมวิท 76(2) และโครงการลุมพินี วิลล์ ราษฎร์บูรณะ-ริเวอร์วิว 2 ฯลฯ ตัวอย่างบ้านลุมพินี ได้แก่  บ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์ เพิ่มสิน-วัชรพล, บ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์ รังสิต - คลอง ๒ และบ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์ ลาดปลาดุก – บางไผ่สเตชั่น เป็นต้น มาจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดพิเศษ เพื่อตอบโจทย์คนกำลังมองหาบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่อาศัย ภายใต้ความมั่นใจกับบริการหลังการขายด้วยกลยุทธ์ “ชุมชนน่าอยู่”

“นอกจากกลยุทธ์ในเรื่องของการบริหารหลังการขายภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” แล้ว ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ เพื่อรับมือการแข่งขันของปี 2563  ภายใต้แนวคิด “ความพอดี ที่ดีกว่า” เพื่อตอกย้ำปรัชญาการสร้างบ้านในแบบของ LPN ซึ่งก็คือ การสร้างบ้านที่พอดีกับชีวิตจริง อันเป็นความใส่ใจบวกกับการนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่บริษัทสั่งสมมาถ่ายทอดเป็นคุณค่าของทั้งผลิตภัณฑ์และบริการในทุกโครงการ เพื่อให้ทุกพื้นที่ของ “ลุมพินี” สามารถสร้าง “ความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัย” ให้แก่คนทุกเพศ ทุกวัยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการปรับสถาปัตยกรรมด้านนอกอาคาร (Façade) เพื่อให้มีความทันสมัยเหมาะกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่” นายโอภาสทิ้งท้าย

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร