Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อัพเดตโครงข่ายรถไฟฟ้า เปิดทำเลทองแห่งอนาคต

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การลงทุนภาครัฐที่ถือว่าโดดเด่นและจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการพัฒนาเมืองในอนาคตคือ การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งตามแผนจะเปิดบริการครบ 10 สาย ภายในปี 2568  นอกจากนี้ ยังมีแผนแม่บทในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเฟสที่ 2 หรือที่เรียกว่า M-map 2 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าในเฟส 1 อีกหลายเส้นทาง ถึงวันนี้รถไฟฟ้าของเราอยู่ถึงจุดไหน? มาอัพเดตกันสักหน่อยกับ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)


ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

ก่อนอื่นต้องทำทวนกันก่อน ปัจจุบันกรุงเทพฯและปริมณฑลมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการแล้ว 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 109.8 กิโลเมตร(กม.) ประกอบด้วย แอร์พอร์ต เรียล ลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ 28.5 กม. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ-เตาปูน 21 กม. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม หมอชิต-สำโรง 23.3 กม. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า 14 กม.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่  23 กม. ซึ่งผู้อำนวยการสนข. บอกว่า ตัวเลขผู้ใช้บริการของรถไฟฟ้าทั้ง 5 เส้นทางเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และต้องพยายามบริหารจัดการให้รองรับ

อัพเดตรถไฟฟ้า 6 สายกำลังก่อสร้าง

ส่วนที่กำลังก่อสร้างอยู่มีอีก 6 เส้นทาง ระยะทาง 120.7 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต 26.3 กม. สัญญา 1 คืบหน้า 63.49% สัญญา 2 คืบหน้า 94.65% และสัญญา 3 คืบหน้า 23.20 สายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน 15 กม.  ซึ่งงานโยธาแล้วเสร็จ รอสายสายสีแดงเข้มสร้างเสร็จ เพราะต้องใช้ระบบรถเดียวกัน เป็นระบบรถไฟชานเมืองเชื่อมจากทางตอนเหนือของกทม.เข้ากลางเมือง และออกไปทางฝั่งตะวันตกถึงตลิ่งชัน

สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค 27 กม.คืบหน้าไปแล้ว 97.56% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปีหน้าและจะเป็นสายที่มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็น Circle Line เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นทำให้สับเปลี่ยนเส้นทางไปได้ทุกทิศทุกทางในกรุงเทพฯและปริมณฑล

เช่นเดียวกับสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ได้แก่ สายสีเขียวเข้ม หมอชิต-คูคต 18.4 กม. คืบหน้าแล้ว 53.31% และสายสีเขียวเข้ม แบริ่ง-สมุทรปราการ 12.8 กม. ซึ่งงานโยธาแล้วเสร็จ 100% เหลืองานระบบไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีบทบาทสำคัญอีกเส้นทางหนึ่ง เพราะจะเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กทม. สมุทรปราการ และมีสายส้มที่จะเชื่อมเมืองตะวันออกและตะวันตก โดยขณะนี้ สายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี 21.2 กม. เพิ่งจะเริ่มก่อสร้างคืบหน้าไป7.56%

รถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายและสายสีส้ม จะมีความสำคัญมากทั้งในแง่ของการขนส่ง และการพัฒนา

ส่วนอีก 2 สายที่อยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 ระยะทางรวม  64.9 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี) 34.5 กม.และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กม.ซึ่งจะเป็นระบบเสริมที่วิ่งบนเส้นทางที่ส่วนใหญ่มีการพัฒนาไปแล้ว

รอคิวประกวดราคา-เสนอครม.

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการประกวดราคามีอยู่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 51.1 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำาโพง  8.5 กม. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก 19 กม. รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม.

นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่เตรียมจะเสนอครม.อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 85.9 กม.ซึ่งปลายเส้นทางของรถไฟฟ้าเหล่านี้ จะเกิดเมืองใหม่ ชุมชนชานเมืองขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม รังสิต–ม.ธรรมศาสตร์ 8.9 กม.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน–ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา 19.5 กม.

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 8 กม.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ–บางขุนนนท์ 13.4 กม. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม คูคต–ลำลูกกา 6.5 กม.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สมุทรปราการ–บางปู 9.5 กม.และแอร์พอร์ต เรียล ลิงก์ พญาไท–สนามบินดอนเมือง 21.8 กม.

ไทม์ไลน์เปิดบริการรถไฟฟ้า 10 สาย

รถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย จะมีระยะทางรวมกันทั้งสิ้น  464 กม.จำนวน 312 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 680 ตารางกม.รองรับการเดินทางของคนได้ 5.13 ล้านคน ซึ่งเป้าหมายคือ ทุกสายจะต้องเริ่มให้ได้ในรัฐบาลนี้ มาดูว่า ไทม์ไลน์ของการเปิดให้บริการของแต่ละเส้นทางเป็นเช่นไร

เปิดให้บริการปี 2561 ได้แก่

-สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม.

ข้ามไปปี 2563 จะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการในหลายเส้นทาง ได้แก่

-สายน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค  ระยะทาง 27 กม.
-สายสีเขียว หมอชิต-คูคต ระยะทาง 18.4 กม.
-สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม.
-สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม.

ในปี 2564 เปิดให้บริการเพิ่มอีก  2 เส้นทาง ได้แก่

-สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.
-สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.

ปี 2565 เปิดให้บริการอีก 3 เส้นทาง ได้แก่

-สายสีแดง รังสิต- ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 8.9 กม.
-สายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร
-สายสีแดง ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กม.

ปี 2566 เปิดบริการ 4 เส้นทาง ได้แก่

-สายสีแดง บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก ระยะทาง 25.5 กม.
-สายสีน้ำเงิน บางแค -พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม.
-สายสีเขียว คูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. เปิดให้บริการปี 2566
-สายสีเขียว สมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. เปิดให้บริการปี 2566

ปี 2567 เปิดอีก 2 สาย ได้แก่

-สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กม.
-สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม.

ปี 2568 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรถไฟฟ้าเฟส 1 มีเปิดให้บริการอีก 1 สาย ได้แก่

-สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม.  

รถไฟฟ้าเฟส 2 เปิดทำเลทองแห่งอนาคต

มาถึงแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเฟสที่ 2 มีชื่อเต็มๆ ว่า แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของการพัฒนาเมืองในระยะยาว โดยมีกรอบแนวคิด 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.ใช้รถไฟฟ้าในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้ใช้ประโยชน์สูงสุด 2.เน้นการใช้วัสดุในประเทศและพัฒนาบุคลากร 3.ลดต้นทุนในการลงทุนระบบ 4.เป็นรถไฟฟ้า เพื่อคนทุกกลุ่ม โดยที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะหาพื้นที่แนวรถไฟฟ้าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง 5.เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองบริวาร

สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าจะทำให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบของ TOD  : Transit Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน โดยในแผนของ M-MAP 2 รถไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาเมือง และกระจายความเจริญออกไปสู่รอบนอก โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในรัศมี 40 กม. 20 กม. และ 10 กม  

โดยมีสถานีสยาม สีลม มักกะสัน และพระราม 9 เป็นสถานีศูนย์กลาง โดยมีศูนย์พาณิชยกรรมการหลัก หรือที่เรียกว่า CBD : Central Business District อยู่ที่ พญาไท ปทุมวัน สีลม สาทร อโศก และมี sub CBD อยู่ที่ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือบริเวณสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์คมนาคมมักกะสัน และศูนย์คมนาคมตากสิน

สำหรับ พื้นที่ชานเมืองในรัศมี 20-30 กม.จะประกอบไปด้วย สมุทรปราการ ลาดกระบัง มีนบุรี รังสิต (เน้นพื้นที่มหาวิทยาลัย) บางใหญ่ ศาลายา บางขุนเทียน ส่วนเมืองรองในรัศมี 40 กม.ที่เป็นไปหมาย ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาครฉะเชิงเทรา

สำหรับแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าเฟส 2 ซึ่งทางสนข. ได้ทำการศึกษาร่วมกับไจก้า เบื้องต้นมี 5 เส้นทาง ได้แก่  1.สายสถานีแม่น้ำ-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 33 กม. รองรับกับการเติบโตของเมืองฝั่ง จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง 2.ส่วนต่อขยายสายสีเทา ช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา ระยะทาง 14 กม. รองรับการเติบโตของ จ.ปทุมธานี 3.สายรังสิต-ธัญบุรี ระยะทาง 12 กม. รองรับการเติบโตพื้นที่โซนเขตเทศบาลนครรังสิต และ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี  

4.สายสถานีขนส่งสายใต้จากบรมราชชนนี-หลักสี่ ระยะทาง 30 กม. รองรับเส้นทางคมนาคมที่มีหลากหลาย และรองรับผู้โดยสารจากสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้และ 5.สายบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะวงแหวน มีระยะทาง 42 กม. จะรองรับพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าเข้าไปถึง และเป็นระบบสายรองที่รองรับโครงข่ายหลักทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2563

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร