Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วินนี้ที่รัก สองล้อระบบขนส่งขวัญใจคนเมือง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การเดินทาง “คนเมือง” ในช่วงชั่วโมงเร่งรีบช่วงเช้าก่อนไปทำงาน ระหว่างวัน ตลอดจนการเดินทางกลับบ้านในตอนเย็นถึงค่ำ นอกจากบริการสาธารณะ รถเมล์ รถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินแล้ว ทางเรือ รถตู้ ยังมีอีกทางเลือกที่น่าสนใจและแน่นอนว่า “คนเมือง” ส่วนใหญ่ต้องเคยใช้บริการนี้ นั่นคือ “วินมอไซ” หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีจุดให้บริการอยู่ในทุกซอกซอย และแหล่งที่มีคนเดินทางหนาแน่น

  • เฉลี่ยแล้วคนเมืองจะพบวินมอเตอร์ไซค์ได้ในทุกๆ 420 เมตร
  • เขตบางรักมีตำแหน่งวินถี่ที่สุด เฉลี่ยทุก 114 เมตร รองลงมา เขตราชเทวี ป้อมปราบศัตรูพ่าย สาทร สัมพันธวงศ์และพระนคร เป็น 5 เขตที่มีวินอยู่ทุก 145-170 เมตร

เหตุใด “วินมอไซ” ถึงชนะใจ

จะด้วยสภาพอากาศร้อนของเมืองไทยทำให้เป็นเรื่องยากที่คนเมืองส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้สองเท้าเดินไปยังจุดหมาย สภาพการจราจรที่ติดขัด ชั่วโมงทำงานที่รีบเร่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามมีส่วนทำให้คนเมืองส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้บริการ “พี่วิน” เป็นตัวช่วยที่สำคัญเพื่อการเดินทางไปสู่จุดหมายได้ในเวลาที่รวดเร็ว และมีความคล่องตัว เรียกหาใช้บริการได้ในทุกที่ทุกเวลา

คุณอาจเคยเป็นหนึ่งในคนเมืองที่ต้องอาศัยวินมอเตอร์ไซค์ทุกวัน เพราะในกรณีที่บ้านห่างจากรถไฟฟ้าราว 2 กิโลเมตรในซอยที่ไม่มีทางเดินเท้าและต้องเดินบนขอบถนนแทน การใช้วินในลักษณะที่คนเมืองอีกมากมายใช้ มักถูกเรียกว่า First/Last-Mile Connectivity หรือการเชื่อมต่อที่กิโลเมตรแรกหรือกิโลเมตรสุดท้าย

บทบาทของวินมอไซ

บทบาทของวินจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ผสมผสานระหว่างหลายระบบเพื่อนำเราไปสู่จุดหมาย ทำให้ระบบขนส่งมวลชนในภาพรวมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยวินมักจะทำหน้าที่ในกิโลเมตรแรกหรือสุดท้ายของการเดินทางนั้นๆ เชื่อมต่อกับขนส่งมวลชนระบบราง เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เรือโดยสาร หรือ รถ BRT ในขณะเดียวกัน พื้นที่ที่ระบบขนส่งมวลชนยังเข้าไม่ถึงหรือยังทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ วินจึงยังคงทำหน้าที่หลักในการให้บริการการเดินทางในระยะสั้น ขับพผู้โดยสารจากต้นทางสู่สถานที่ปลายทางโดยตรง หรือที่เรียกว่า door-to-door service

ด้วยการพัฒนาระบบรางที่แผ่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ การเชื่อมต่อในทุกๆ กิโลเมตรสุดท้ายจึงกลายเป็นบทบาทที่วินรับหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ติดกับสถานีการเดินทางต่างๆจากมุมมองนี้ วิน กลายเป็นหนึ่งในกลไกธรรมชาติของเมืองที่ทำให้การขนส่งมวลชนรางสามารถรองรับคนได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

จากข้อมูลสะสมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ของ กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานครมีจำนวนวินทั้งสิ้น 5,670 วิน และมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะถึง 91,582 คน หรือโดยเฉลี่ยแล้วทั่วกรุงเทพฯ เราจะสามารถพบวินอยู่ 1 วินในทุกๆ 420 เมตร (วิธีการคำนวนอยู่ที่ท้ายบทความ)

ทั้งนี้ การกระจายตัวของความหนาแน่นวินก็ต่างกันตามบทบาทและลักษณะของพื้นที่และการเดินทางในแต่ละเขต 

เห็นได้ว่าพื้นที่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง หรือ Central Business District (CBD) ที่มีจุดหมายปลายทางของหลายคนอยู่มากมาย เช่น ที่ทำงาน สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ร้านรวง และกิจกรรมต่างๆ จะมีความถี่ของตำแหน่งวินมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก

ซัพพลาย-ดีมานด์ในเขตซีบีดี

โดยพื้นที่ เขตบางรักมีตำแหน่งวินถี่ที่สุด คือเฉลี่ยทุก 114 เมตร และในอันดับรองลงมาคือราชเทวี ป้อมปราบศัตรูพ่าย สาทร สัมพันธวงศ์และพระนคร เป็น 5 เขตที่มีวินอยู่ทุกๆ 145-170 เมตร

ในเขตเหล่านี้ วินน่าจะวิ่งในลักษณะที่กระจาย ตามจุดหมายของผู้โดยสารที่หลากหลายและกระจายตลอดวัน ทั้งจากพนักงานบริษัทไปทานข้าวในละแวก จนไปถึงการรับส่งเอกสาร

ในขณะเดียวกัน เขตที่มีวินมอเตอร์ไซค์เบาบางที่สุดคือเขตหนองจอก โดยมีวินอยู่โดยเฉลี่ยทุกๆ 1.3 กิโลเมตร

เขตที่มีวินเบาบางรองลงมาคือ เขตคลองสามวา ทวีวัฒนา บางขุนเทียน ในเขตเหล่านี้วินอยู่ห่างกันโดยเฉลี่ยราวๆ 850-900 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ไกลเกินกว่า 800 เมตรการเดินได้ของคนกรุงเทพฯ

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ จาก UddC ที่ทำการศึกษาในโครงการนี้เห็นได้ว่าในพื้นที่ดังกล่าว บทบาทของวินก็คงจะต่างไปเช่นกัน มันคงจะไม่ใช่การเดินทางในกิโลเมตรสุดท้าย เนื่องจากที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวคงจะอยู่ในระยะห่างจากวินเกินกว่า 1 กิโลเมตร หากมองไม่เห็นการเชื่อมต่อตั้งแต่กิโลเมตรแรก คนส่วนมากในพื้นที่เหล่านี้ก็หนีไม่พ้นการใช้รถยนต์ส่วนตัวด้วยความจำเป็น วินในพื้นที่เหล่านี้จึงอาจเป็นเพียงทางเลือกสุดท้ายสำหรับกลุ่มประชากรคนที่ไร้ทางออกในการเดินทาง

ในพื้นที่ที่เมือง มีความคึกคัก มีกิจกรรมมาก และมีจุดหมายปลายทางอยู่หลากหลาย วินก็จะชนะไปด้วย และในทางกลับกัน เมื่อวินมาตอบโจทย์การเดินทางระดับย่อยของพื้นที่ พื่นที่เหล่านั้นก็จะสามารถถูกเข้าถึงได้ในทุกซอกทุกมุม เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าถึงร้านค้าที่อยู่ตามตรอกซอกซอย

ถึงแม้ความหนาแน่นของวินจะช่วยบ่งบอกถึงพื้นที่ที่มีจุดหมายปลายทาง แผนที่ด้านบน แสดงขนาดของวินในแต่ละเขต สามารถช่วยให้เห็นได้ถึงความแตกต่างในลักษณะการรับผู้โดยสารและการเป็นระบบ “การเดินทางกิโลเมตรสุดท้าย” ที่ในบางครั้งอาจจะไกลกว่า 1 กิโลฯ

ในพื้นที่เขตชั้นในที่มีการตั้งวินอยู่มาก รวมถึงเขตบางรัก พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์ จริงๆ แล้ว แต่ละวินมีขนาดเล็กไม่ถึง 10 คน ซึ่งอาจตั้งสมมติฐานได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวคงมีความต้องการการใช้วินที่กระจายตลอดระหว่างวัน ต่างกันกับเขตในพื้นที่เมืองชั้นกลาง ถัดมาจากพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ที่มักจะติดกับสถานีต่างๆ ของระบบรางและเรือ เช่น เขตวังทองหลาง ราษฎร์บูรณะ จอมทอง บางขุนเทียน และพระโขนง วินในพื้นที่เหล่านี้น่าจะต้องมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มากระจุกตัวรอกันอย่างหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน

ยิ่งมีเป็นพื้นที่อยู่อาศัยมาก คนยิ่งต้องนั่งรถต่อไกล วินต้องยิ่งใหญ่ตาม เพราะ 1 รอบการส่งผู้โดยสารและการขับกลับมาที่คิววิน คือ การรอของผู้โดยสารที่นานขึ้นและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ

ในขณะที่วินมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมเส้นเลือดฝอยของเมืองมายาวนาน บริษัทแอพลิเคชั่นโบกรถ หรือ Ride-HailingApplication (RHA) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเดินทางในเมืองมากยิ่งขึ้น

โดย RHA ได้สร้างทางเลือกให้กับผู้คนที่ต้องเดินทางในเมือง ถึงแม้ผู้ขับขี่ในระบบ RHA หลายคนจริงๆ แล้วยังไม่สามารถรับผู้โดยสารอย่างถูกกฎหมาย แต่ด้วยระบบที่ทันสมัยและให้ข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้ความนอกระบบแบบใหม่นี้ได้รับการยอมรับ ความน่าเชื่อถือ และความนิยมตามมา

ในขณะที่วินมอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพที่อยู่ในระบบ แต่ด้วยภาพลักษณ์ของโครงสร้างวิน ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเมืองในฐานะทางเลือกของระบบขนส่งมวลชน เช่นการให้พื้นที่ที่ถาวร เป็นระเบียบ หรือสร้างเป็นสถานี ชาวต่างชาติและชาวไทยต่างถิ่นจึงอาจเข้าใจผิดได้ว่าวินยังคงความเป็นนอกระบบอยู่เสมอมา

การเข้ามาของ RHA สร้างคำถามและความขัดแย้งกับผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์มานานหลายปี แต่ในอีกมุมก็พบว่า ในบางพื้นที่วินกับ RHA อาจไม่ได้แข่งในตลาดเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วินที่ทำหน้าที่บริการการเชื่อมต่อที่กิโลเมตรแรกหรือกิโลเมตรสุดท้ายในการเดินทางแบบหลายระบบ (Multi-Modal Transportation) เพราะผู้โดยสารที่ใช้ RHA มักใช้เพื่อเดินทางจากต้นทางสู่ปลายทางโดยตรง

หากเมืองจะชนะในเรื่องของการเดินทางจริงๆ เมืองคงไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของการขนส่งมวลชนบนรถมอเตอร์ไซค์เหล่านี้ เพราะวินยังคงเป็นทางเลือกสำคัญของมวลชนโดยมากในกรุงเทพฯ

ส่อง “วินมอไซ” ในอินเดีย

ภาพด้านบนคือสถานีจอดจักรยานสาธารณะในเมือง Panchkula อินเดีย แต่หากเราผสมผสานแนวความคิดที่หลากหลายและคิดไกลกว่าระบบการเดินทางที่มีมา ระบบวินที่เริ่มต้นจากการเป็นนวัตกรรมาทางสังคม อาจต้องสร้างนวัตกรรมทางการเดินทางใหม่ในแบบของเราเอง

จริงๆ แล้วเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่มีซอยตันและถนนที่เล็กทำให้ขนส่งมวลชนระบบรางหรือรถเมล์ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เมืองได้อย่างทั่วถึง อาจจะต้องการการสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การปฏิรูประบบวินมอเตอร์ไซค์เพื่อให้เมืองวินของเรา Win ด้านการเดินทางในแบบของเราเอง

ที่มาข้อมูล

กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก (2561, 31 ธันวาคม)

การคำนวน: การหาความถี่ของวินในแต่ละเขตเริ่มจาก(พื้นที่ต่อวิน 1 วิน = พื้นที่เขต / จำนวนวิน) ทั้งนี้ การบอกเป็นพื้นที่ตารางเมตรในเมืองเป็นการอธิบายที่นึกภาพตามยาก จึงสมมติว่าถ้าพื้นที่ต่อ 1 วินเป็นพื้นที่วงกลมที่มีวินเป็นจุดศูนย์กลางแล้วมีรัศมีโดยรอบ จึงนำมาแทนค่าเหมือนการหาพื้นที่วงกลม

ทั้งนี้เนื่องจาก 1 วินแสดงถึงวงกลม 1 วง จึงต้องคูณ 2 ในตอนท้ายเพื่อให้เป็นระยะทางโดยเฉลี่ยระหว่างวิน

https://bit.ly/3870MmV

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร