Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีต่อปลั๊กไฟ 3 ตาใช้เองแบบง่าย ๆ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ปลั๊กไฟ ถือเป็นอุปกรณ์ใช้งานจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมี เพื่อนำไปต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ หลายท่านสนใจ วิธีต่อปลั๊กไฟ 3 ตา ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีทำและการเตรียมอุปกรณ์ก็ไม่ยุ่งยากมากนัก วันนี้ ทาง Baania จึงเตรียมวิธีการต่อปลั๊กแบบถูกต้องมานำเสนอ รวมไปถึงข้อมูลที่ควรทราบเกี่ยวกับปลั๊กไฟ 3 ตาด้วย

วิธีต่อปลั๊กไฟ 3 ตา 

ปลั๊กไฟ 3 ตา มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า รางเต้ารับ (Extension Socket) เป็นปลั๊กที่ได้รับความนิยมมากในอดีต ลักษณะจะเป็นตลับกลม ๆ มีช่องสำหรับหมุนเก็บสาย ซึ่งมักพบเห็นได้ทั่วไปตามร้านค้า ตลาดต่าง ๆ ขนาดมาตรฐานในสมัยก่อน จะเป็นช่องเสียบแบบ 2 ขาและมีทั้งหมด 3 ช่อง จึงนิยมเรียกกันว่า ปลั๊กสามตา

แต่ในปัจจุบันนั้น ปลั๊ก 3 ตาได้พัฒนารูปลักษณ์ให้มีความทันสมัย เพิ่มเต้าเสียบมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์การใช้งาน โดยมีตั้งแต่ 3 – 6 ช่องเสียบ และมีระบบตัดไฟในแต่ละรูเสียบขึ้นอยู่กับรุ่นที่เลือกนำมาใช้ แต่ทั้งนี้จะต้องเลือกใช้ปลั๊กที่ได้มาตรฐาน มอก. 166/2549 ซึ่งต้องมีสปริงเต้ารับ หรือตัวล็อกขาเต้าเสียบที่ทำจากทองเหลือง และกล่องฉนวนต้องทำจากพลาสติก ABS เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร

เหตุที่ต้องมีปลั๊ก 3 ตา เนื่องจากว่าจะมี 1 ขาที่ต่อลงกับสายดิน เพื่อเป็นการป้องกันผู้ใช้งานถูกไฟดูด อย่างในอดีตนั้นจะมีแบบปลั๊ก 2 ตาเท่านั้น เวลาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เช่น คอมพิวเตอร์ กาต้มน้ำอัตโนมัติ เมื่อเหยียบพื้นด้วยเท้าเปล่า และใช้มือสัมผัสกับตัวปลั๊ก อาจโดนกระแสไฟที่ส่งผ่านออกมาทำอันตรายต่อร่างกายได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ และ เตาไฟฟ้าบางรุ่น มีการทำหัวปลั๊กออกมาแบบ 3 ขา เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ดังนั้น จึงต้องใช้ปลั๊ก 3 ตาเท่านั้นถึงจะรองรับอุปกรณ์ในส่วนนี้ได้

ปลั๊กไฟ3ตาคือ

อุปกรณ์การต่อปลั๊กไฟ 3 ตา

สำหรับท่านที่อยากจะลองต่อปลั๊กไฟ 3 ตาด้วยตนเองนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง และต้องศึกษาอุปกรณ์สำหรับการต่อปลั๊กอย่างละเอียด เลือกใช้วัสดุที่ได้คุณภาพเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน ก่อนอื่นเลือกแบบของชุดรางเต้ารับ เพื่อให้สอดคล้องต่อการใช้งาน โดยจะมีทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และสี่เหลี่ยมจัตุรัส รวมถึงช่องเสียบมีให้เลือกตั้งแต่ 4 – 6 ช่อง ให้เลือกเต้ารับที่เป็นปลั๊กแบบ 3 ขาทั้งหมด และต้องมีระบบตัดไฟเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

  • เตรียมอุปกรณ์ ที่ใช้สำหรับต่อปลั๊ก 3 ตา แบบที่ได้คุณภาพ

  1. เตรียมกล่องยาง หรือจะใช้แบบบล็อกยางก็ได้ เพื่อป้องกันการตกหล่น เป็นการช่วยลดแรงกระแทก จะเลือกแบบแถวเดียวหรือสองแถว ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน สามารถเลือกได้ตามสะดวก
  2. ส่วนเต้ารับ ให้เลือกจากวัสดุเป็นหลัก เน้นคุณภาพและความทนทานในการใช้งาน ต้องทำจากทองเหลืองแท้ที่มีความหนาพอประมาณเพื่อเป็นสายพานไฟ
  3. ส่วนเต้าเสียบ เน้นแบบ 3 ขาเป็นหลัก เนื่องจากจะมี 1ขาไว้สำหรับต่อลงดินเพื่อความปลอดภัย เลี่ยงการเลือกแบบสองขามาสลับใช้ เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด
  4. สำหรับส่วนของสายไฟ ให้เลือกแบบ VCT ขนาด 1.5Q.MM. เลือกความยาวประมาณ 5 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในบ้านเรือน เพราะหากสายของปลั๊กสั้นไป อาจทำให้ใช้งานไม่สะดวก

อุปกรณ์

วิธีต่อปลั๊กไฟ 3 ตาแบบง่าย ๆ

การต่อปลั๊ก 3 ตาด้วยตนเองนั้น ทุกขั้นตอนจะต้องระมัดระวัง แม้ว่าจะไม่ได้เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แต่หากต่อผิดพลาด ก็อาจทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถใช้งานได้ หรืออาจเกิดการช็อต ลัดวรจรเมื่อเปิดใช้ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก แม้ไม่มีความรู้ด้านไฟฟ้าก็สามารถประกอบเองได้ เพียงแต่จะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เมื่อทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้องแล้ว ปลั๊ก 3 ตาจะใช้งานได้อย่างปลอดภัย

  • วิธีต่อปลั๊กสามตาใช้งานในบ้านง่าย ๆ อย่างปลอดภัย

  1. เริ่มจากการปลอกสายไฟที่ส่วนปลายของทั้งสองด้าน ปลอกจนกระทั่งเห็นลวดทองแดง แต่ระวังอย่าให้ขาด เนื่องจากลวดทองแดงมีความบางมาก ปลอกให้ปลายทั้งสองด้าน พอดีกับขนาดที่จะต่อลงบนอุปกรณ์
  2. ให้แกะเต้ารับออกมา จากนั้นขันน็อตแถบทองเหลืองออก แล้วนำลวดทองแดงของสายพัน พันเข้าไปในลักษณะตามเข็มนาฬิกา พันให้แน่นสักหน่อย แล้วขันน็อตกลับเข้าไปตามเดิม หากในบ้านมีตะกั่ว ก็สามารถนำมาเชื่อมติดได้
  3. เมื่อเรียบร้อยแล้ว ให้เดินสายจากอีกด้านของแผนทองเหลือง ต่อเข้ากับฟิวส์และทำการต่อสายดิน
  4. ปิดอุปกรณ์ให้เรียบร้อย สำหรับพร้อมใช้งาน

การต่อปลั๊ก 3 ตาด้วยตนเองนั้นไม่ยาก ถือเป็นจุดสำคัญ ต้องระมัดระวัง เพราะงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไฟฟ้านั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง

วิธีต่อปลั๊กไฟ3ตาแบบง่าย

 

ข้อควรระวังในการต่อปลั๊กไฟ 3 ตา

หลังจากทราบวิธีการต่อปลั๊ก 3 ตาไปแล้ว มาดูในส่วนของข้อควรระวังกันบ้าง เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่เน้นย้ำเสมอว่า เรื่องของไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท

  1. สำหรับเต้ารับและเต้าเสียบ จะต้องขันน็อตให้แน่นสนิท จะได้ไม่มีปัญหาเวลาใช้งาน เพราะหากขันน็อตไม่สนิท เมื่อใช้ไปนาน ๆ อุปกรณ์จะหลวม
  2. หากเป็นอุปกรณ์ที่มีระบบตัดไฟในแต่ละช่องเสียบ ควรตรวจสอบว่าเมื่อประกอบแล้วใช้งานได้หรือไม่ ไฟติดหรือเปล่า และเมื่อไฟติดแล้ว ยังมีไฟฟ้ารั่วไหลเข้ามาอยู่หรือไม่
  3. ในช่วงการพันลวดทองแดง ควรพันให้แน่น และทบหลาย ๆ รอบ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

ข้อควรระวัง

สำหรับ วิธีต่อปลั๊กไฟ 3 ตา ด้วยตนเองนั้น มีขั้นตอนการทำสั้น ๆ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ใช้ไม่เยอะ หาซื้อง่ายตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป เป็นอีกทางเลือกสำหรับท่านที่มีปลั๊กอยู่แล้ว แต่เกิดความเสียหาย ไม่อยากซื้อใหม่ ก็สามารถซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมมาประกอบ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อีกครั้ง

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร