Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ผ่อนบ้านไม่ไหวทำอย่างไรจึงจะรอด?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เมื่อมีบ้านเป็นของตัวเองแล้วนั้น บางครั้งความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ ทำให้ผ่อนบ้านไม่ไหว ซึ่งปัญหาการผ่อนบ้านไม่ไหวนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และไม่สามารถมองข้ามได้โดยเด็ดขาด โดยขั้นตอนต่างๆ ที่ควรต้องทำ รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ควรทำเมื่อเกิดผ่อนบ้านไม่ไหวนั้นมีอะไรบ้าง และวิธีการไหนสามารถนำไปปรับใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้นั้น บทความนี้มีคำตอบให้คุณครับ

1. สาเหตุที่ทำให้ผ่อนบ้านไม่ไหว

การผ่อนบ้านไม่ไหวนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งเมื่อเคยผ่อนบ้านได้ตามปกติ แต่กลับเกิดปัญหาการผ่อนบ้านไม่ไหว ทำให้จำเป็นต้องกลับมามองที่ต้นตอของปัญหานั้นว่าเกิดจากอะไร อย่างเช่นการถูกเลิกจ้าง การถูกลดเงินเดือน การลงทุนที่ผิดพลาด การเสียชีวิตของผู้ช่วยจ่ายเงิน เป็นต้น ซึ่งเมื่อรู้ว่าสาเหตุของปัญหานั้นคืออะไรแล้ว การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดจะช่วยให้ปัญหาการผ่อนบ้านไม่ไหวนั้นบรรเทาลงไปได้

สาเหตุ

2. ติดต่อสถาบันการเงิน

เมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถหาเงินมาผ่อนบ้านได้ไหว ไม่สามารถหาเงินมาผ่อนบ้านได้ตรงตามกำหนด สิ่งที่ลูกหนี้ควรทำคือให้รีบติดต่อสถาบันการเงินซึ่งเป็นหนี้อยู่ทันที ห้ามหนีหาย หรือตัดการติดต่อจากสถาบันการเงินเป็นอันขาด เพราะว่าการเข้าไปพูดคุยถึงทางออกต่างๆ กับสถาบันการเงินนั้นจะยังคงสถานะลูกหนี้ที่ดีไว้ได้ อาจจะมีทางทำให้สามารถกลับมาผ่อนได้ไหว และจะช่วยไม่ให้เกิดการฟ้องร้องอีกด้วย

ติดต่อสถาบันการเงิน 

3. ขยายเวลาชำระหนี้

ถ้าไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตรงตามเวลาที่กำหนด หรือไม่มีเงินมาผ่อนบ้าน ทางออกแรกคือการขยายเวลาชำระหนี้กับสถาบันการเงิน อย่างเช่นระยะเวลาผ่อนชำระเดิม 20 ปี ก็อาจจะขอขยายเพิ่มอีก 20 ปี ไปเป็น 40 ปี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลูกนี้สามารถขอขยายเวลาชำระหนี้เพิ่มได้ถึง 30 ปี นับจากเวลาปัจจุบัน แต่เวลารวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 70 ปี และต้อ ชำระดอกเบี้ยค้างชำระให้หมดก่อนจึงจะขอขยายเวลาได้

ซึ่งการขอขยายเวลาชำระหนี้นั้นจะช่วยให้เงินที่ต้องชำระต่องวดนั้นน้อยลง ทำให้มีโอกาสที่จะหาเงินมาจ่ายได้เพียงพอนั่นเอง แต่การขอขยายเวลาชำระหนี้ต้องแลกมาด้วยจำนวนงวดที่เพิ่มมากขึ้น และจำนวนดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ขยายเวลาชำระหนี้

4. ขอผ่อนผันหนี้ค้างชำระ  

การขอผ่อนผันยอดกนี้ค้างชำระนั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ลูกหนี้สามารถทำเรื่องของผ่อนผันกับทางสถาบันการเงินได้ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้คงค้างได้นานที่สุดถึง 36 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งการผ่อนชำระหนี้คงค้างนั้นสามารถทำได้หลายลักษณะตามแต่ความพร้อม และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการนำหนี้คงค้างทั้งหมดมาหารเฉลี่ยแล้วจ่ายคืนเป็นงวดๆ ทุกเดือน ในจำนวนเงินที่เท่ากัน, จ่ายทั้งหมดเป็นเงินสดตามเวลาในเวลาที่ตกลงกัน หรือจะจ่ายเป็นเงินก้อนแต่แบ่งจ่ายเป็นงวดก็ได้ แต่ในระหว่างที่จ่ายหนี้คงค้างนั้นค่าผ่อนบ้านก็ยังคงต้องจ่ายตามปกติถ้าหากไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม

ขอผ่อนผันหนี้ค้างชำระ  

5. ขอจ่ายลดลง

บางครั้งลูกหนี้นั้นยังพอมีเงินอยู่บ้าง แต่ไม่เพียงพอจะจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยในแต่ละงวด ลูกหนี้สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอลดการจ่ายเงินงวดลงได้ แต่เงินงวดที่ขอลดลงนั้นต้องมากกว่าดอกเบี้ยประจำงวดอย่างน้อย 500 บาท โดยการขอจ่ายเงินงวดลดลงนั้นสามารถขอดำเนินการได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น และมีระยะเวลาในการจ่ายเงินงวดลดลงไม่เกิน 2 ปี   

ขอจ่ายลดลง

6. ขอจ่ายแต่ดอกเบี้ย

ในกรณีนี้คล้ายๆ กับการขอจ่ายเงินงวดลดลง แต่เป็นการขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งทางสถาบันการเงินก็อาจให้ความยินยอมในเรื่องนี้กับลูกหนี้ที่มีประวัติดีเท่านั้น โดยระยะเวลาของการขอจ่ายแต่ดอกเบี้ยจะมีระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน และสามารถทำเรื่องของจ่ายแต่ดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น

ขอจ่ายแต่ดอกเบี้ย

7. ขอลดดอกเบี้ย

ในบางกรณีลูกหนี้อาจถูกขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจากปกติ ทำให้ไม่สามารถผ่อนบ้านได้ไหว ดังนั้นการของลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษกับทางสถาบันการเงินนั้นจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม ถ้าลูกหนี้สามารถชำระเงินได้ตามเงื่อนไขก็สามารถขอลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษได้

ขอลดดอกเบี้ย

8. โอนบ้านให้สถาบันการเงินชั่วคราว

ซึ่งการโอนบ้านให้สถาบันการเงินชั่วคราวเพื่อที่จะขอซื้อคืนทีหลังนั้นส่วนมากทางสถาบันการเงินจะไม่มีปัญหา โดยจะสามารถหักลบกลบหนี้ได้ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ถ้ายังมีหนี้มากกว่ามูลค่าลูกหนี้ต้องชำระภายในวันโอน ซึ่งการโอนบ้านให้สถาบันการเงินชั่วคราวนั้นจะทำให้เปลี่ยนสถานะจากลูกหนี้มาเป็นผู้เช่าแทน โดยลูกหนี้โดยจะเช่าบ้านหลังที่โอนให้สถาบันการเงินไว้เพื่ออยู่อาศัยนั่นเอง

ซึ่งการโอนบ้านให้สถาบันการเงินชั่วคราวนั้น สัญญาเช่าต่างๆ จะเป็นไปตามที่ทางสถาบันการเงินกำหนด ส่วนการซื้อคืนนั้นลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย 

โอนบ้านให้สถาบันการเงิน

9. ขอชะลอฟ้อง

สำหรับการที่ลูกหนี้ไม่สามารถหาวิธีการอื่นใดได้ทันจนเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา แต่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ลูกหนี้สามารถเจรจากับทางธนาคารเพื่อให้ขอชะลอการฟ้อง หรือขอถอนฟ้องได้ ซึ่งการชะลอฟ้อง หรือถอนฟ้องนั้นจะมีเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ทางธนาคารกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้ทั้งหมด หรือเงื่อนไขอื่นๆ

ขอชะลอฟ้อง

10. ขอยอมความ

ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องขึ้นมาโดยที่ลูกหนี้นั้นตกเป็นจำเลย และศาลพิพากษาให้ลูกหนี้แพ้คดี ลูกหนี้สามารถขอยอมความกับสถาบันการเงินได้ โดยลูกหนี้จะต้องเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีความทั้งหมดของสถาบันการเงิน รวมไปถึงต้องชำระหนี้ตามข้อตกลงต่างๆ ที่จะทำเพิ่มเติมหลังขอยอมความอีกด้วย

ขอยอมความ

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าปัญหาการผ่อนบ้านไม่ไหวนั้นแม้จะเป็นปัญหาที่ดูเป็นเรื่องร้ายแรง แต่เป็นปัญหาที่มีทางออกได้หลายทาง ซึ่งทางออกของปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการติดต่อกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่การหนีปัญหา ซึ่งทางออกของปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวที่ได้รวบรวมมาในบทความนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวอย่างแน่นอน 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร