Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ทำความรู้จักกับ "คานคอดิน" ส่วนประกอบสำคัญในการสร้างบ้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การสร้างบ้าน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักนั้นมีสิ่งให้ควรคำนึงถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้งของบ้าน การออกแบบห้องต่าง ๆ ภายในบ้านตามหลักความเชื่อ การตกแต่งภายใน อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างบ้าน รวมไปถึงโครงสร้างต่าง ๆ ที่สำคัญในการสร้างบ้าน เช่น หลังคา เสาเข็ม พื้น ผนัง และคานคอดิน สิ่งนี้ที่มีคนส่วนน้อยจะรู้จักจนส่งผลให้หลายคนมองข้ามส่วนสำคัญนี้ไป

คานคอดินคืออะไร อยู่ส่วนไหนของบ้าน?

Ground Beam หรือ Grade Beam เป็นชื่อเรียกในภาษาอังกฤษของคานพื้นชั้นที่ 1 บ้างก็เรียกคานพื้นชั้นล่าง โดยมีตำแหน่งอยู่ชั้นบนสุดของโครงสร้างพื้นบ้าน อยู่เหนือเสาตอม่อ ฐานราก และเสาเข็มตามลำดับ เพื่อเป็นการประคองฐานรากไม่ให้เคลื่อนที่จากระดับพื้นดิน มีหน้าที่ในการแบกรับน้ำหนักทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นภายในบ้าน และถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากตามระบบที่คำนวณโดยวิศวกร ไม่ว่าจะเป็นตัวน้ำหนักของบ้านหรือคำศัพท์ทางเทคนิคจะเรียกว่า น้ำหนักบรรทุกคงที่ (Dead Load) และน้ำหนักชั่วคราวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายในบ้านหรือคำศัพท์ทางเทคนิคจะเรียกว่า น้ำหนักบรรทุกจร (Live Load) เช่น คน สัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น คานพื้นชั้นที่ 1 นิยมสร้างโดยใช้โครงสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก

ระดับความสูงของคานพื้นชั้นที่ 1 ถูกแบ่งออกเป็นกี่ระดับ?

คานพื้นชั้นที่ 1 ส่วนมากจะอยู่ที่ระดับคอดิน หรือราบเสมอดิน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คานพื้นชั้นล่างนี้จะต้องอยู่เสมอดินดังชื่อเสมอไป ระดับความสูงของคานชนิดนี้ถูกแบ่งออกไว้ทั้งหมด 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 คานพื้นชั้นที่ 1 สูงจากคอดินไม่เกิน 1 เมตร

เป็นระดับที่ไม่แนะนำให้สร้างสักเท่าไหร่ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับน้ำขังเวลาฝนตก วิศวกรจะออกแบบให้ระดับพื้นดินมีความสูงเสมอกับคานพื้นชั้นที่ 1 ปรับความลึก และความกว้างให้ได้ขนาดสำหรับการประกอบไม้ที่เป็นโครงสร้างด้านซ้าย และด้านขวาเท่านั้น หลังจากนั้นจึงทำการผูกเหล็ก และเทปูนในโครงสร้างเป็นลำดับสุดท้าย

ระดับที่ 2 คานพื้นชั้นที่ 1 สูงจากคอดินเกิน 1 เมตร แต่ไม่เกิน 1.5 เมตร

เป็นระดับที่ไม่จำเป็นจะต้องปรับระดับพื้นดินให้มีความสูงเทียบเท่ากับคานพื้นชั้นล่าง เพื่อให้พื้นที่ภายใต้โครงสร้างบ้านเป็นหลุมโพรง ส่งผลให้ง่ายต่อการเข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างได้อย่างสะดวกสบายในภายหลัง หลังจากนั้นจึงประกอบไม้ที่เป็นโครงสร้างทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่  ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านล่าง หลังจากนั้นจึงทำการผูกเหล็ก และเทปูนในโครงสร้างเช่นเดียวกับระดับที่ 1

ระดับที่ 3 คานพื้นชั้นที่ 1 สูงจากคอดินเกิน 1.5 เมตร

ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสาตอม่อโดยตรง อาจจะทำให้เสียสมดุลในความมั่นคงของโครงสร้างบ้านได้ ดังนั้นถ้าต้องการสร้างคานพื้นชั้นที่ 1 ในระดับนี้ จำเป็นที่จะต้องมีคานทั้งหมด 2 ระดับ ได้แก่ คานระดับพื้นชั้นล่างที่ความสูง 0.5 เมตร และคานระดับความสูง 1.5 เมตร เพื่อเป็นการค้ำตอม่อให้มีความแข็งแรง และประคองฐานรากไม่ให้เคลื่อนที่จากระดับพื้นดิน

จะเห็นได้ว่า คานคอดิน เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างที่สำคัญในการสร้างบ้านที่คอยรับน้ำหนักภายในตัวบ้าน ทั้งน้ำหนักบรรทุกคงที่ และน้ำหนักบรรทุกจร เปรียบเสมือนกับรากของต้นไม้ใหญ่ที่มีหน้าที่คอยค้ำจุนให้ลำต้นมีความแข็งแรง และไม่โค่นล้มไปตามแรงลม

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร