Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

การเลือกและการตรวจสอบสภาพถังดับเพลิง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ไฟไหม้ นับว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งกับบ้านเราเองและบ้านข้างเคียง การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์จริงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ตามถังดับเพลิงมักเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไม่ยอมซื้อติดบ้านไว้ เพราะคิดว่าสิ้นเปลือง แถมคงไม่ค่อยได้ใช้ แต่ที่จริงแล้วการมีถังดับเพลิงไว้ที่บ้านก็ช่วยให้เราอุ่นใจในการใช้ชีวิตขึ้นเยอะ แม้ไฟไหม้บ้านจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนหลายคนเผลอละเลยที่จะตรวจสอบถังดับเพลิงให้ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ เมื่อต้องใช้งานจริง ถังดับเพลิงกลับฉีดไม่ออกขึ้นมาซะดื้อๆ ก็คงจะเป็นอะไรที่พลาดเอามากๆ นะครับ

Baania มีความรู้ที่เป็นประโยชน์มาฝากกันกับ "การเลือกและการตรวจสอบสภาพถังดับเพลิง" ต่อไปจะได้รู้จักใช้และสามารถตรวจสอบสภาพของถังดับเพลิงเองได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้งานจริงจะต้องมีสติและสามารถดับเพลิงได้เร็วและถูกต้องตามหลักการ ลองใช้เวลาอ่านกันสักหน่อยเพื่อความปลอดภัยของท่านและครอบครัวนะครับ

ประเภทของเพลิง

ก่อนอื่นเลยเราก็ต้องมารู้จักกับประเภทของไฟไหม้กันก่อน เพราะมีผลต่อการเลือกชนิดของถังดับเพลิง โดยถ้าเป็นไฟไหม้ในบ้าน มักเกิดจากการไหม้ของสิ่งของทั่วไปอย่างกระดาษ ไม้ ผ้า รวมทั้งไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้นก็ควรเลือกถังดับเพลิงที่ดับการไหม้ของเหล่านั้นได้ หรือถ้าใครที่หยิบถังดับเพลิงไปใช้ ก็ควรดูที่ฉลากข้างถังดับเพลิงด้วยว่า สามารถดับเพลิงประเภทใดได้บ้าง หากหยิบหยิบผิด จะใช้ดับไม่ได้ รวมถึงอาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้เองด้วย โดยลักษณะของเพลิงมีดังนี้

  • Class A (Ordinary Combustibles) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากวัสดุติดไฟปกติ เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ยาง และ พลาสติก
  • Class B (Flammable Liquids) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมัน จารบี น้ำมันผสมสี
  • Class C (Electrical Equipment) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร
  • Class D (Combustible Metals) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากโลหะที่ติดไฟได้ เช่น แม๊กนีเซียม ซินโครเมี่ยม โซเดี่ยม ลิเซี่ยม และ โปแตสเซียม
  • Class K (Combustible Cooking) เป็นเพลิงที่เกิดจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้งานการทำอาหารที่มีการใช้ไขมันจากพืชหรือสัตว์

ประเภทของเพลิงไหม้ (Fire Classes)

ประเภทของถังดับเพลิง

การเลือกถังดับเพลิง มีรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะถังดับเพลิงเองก็มีหลายชนิดด้วยกัน แล้วแต่ละชนิดก็ดับเพลิงได้คนละอย่างกัน แต่ที่นิยมใช้กันก็คงเป็นถังดับเพลิงแบบผงเคมีแห้งครับ เพราะหาซื้อได้ง่ายและราคาถูก ซึ่งเป็นถังสีแดงที่เราพบเห็นได้ในบ้านทั่วไป สามารถใช้ดับเพลิงได้หลายประเภท แต่สำหรับบ้านที่มีการทำอาหารที่ใช้ไฟอยู่บ่อยครั้ง ควรเลือกถังดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงประเภท K ได้ด้วย โดยถังดับเพลิงจะสามารถแบ่งประเภทได้ตามสิ่งที่ใช้บรรจุอยู่ในถังดังนี้

  • ผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Powder) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้ผงโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือผงโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต และมีสารกันชื้นผสมอยู่ด้วย ข้อดีคือใช้ได้ทั่วไป ราคาถูก ข้อเสียคือใช้แล้วสารจะฟุ้งกระจาย ทำให้สกปรก ใช้แล้วต้องส่งบรรจุใหม่ สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A,B,C
  • ฮาโลตรอน (Halotron) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้สารเหลวระเหย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย สะอาด ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้ มีอายุการใช้งานนาน เหมาะกับการรักษาทรัพย์สินในห้องคอมพิวเตอร์ สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A,B,C
  • เคมีสูตรน้ำ (Water Chemical) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้น้ำยาที่เรียกว่า ABFFC สามารถใช้ดับเพลิงได้ทุกประเภท หรือตั้งแต่ A,B,C,D,K ทำให้มีราคาสูง เหมาะในการวางไว้ใกล้ครัว
  • คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ไปลดก๊าซออกซิเจนลงเพื่อให้ไฟดับ ใช้แล้วไม่เหลือกากหรือคราบสกปรกไว้ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ในที่ลมแรง โดยควรอพยพคนก่อนใช้ เนื่องจากคนจะหายใจไม่ออกเพราะขาดออกซิเจน ใช้ดับเพลิงประเภท B, C
  • โฟม (FOAM) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้น้ำผสมโฟมเข้มข้น  โดยโฟมจะปกคลุมบริเวณผิวหน้าของเชื้อเพลง ช่วยลดปริมาณออกซิเจนและทำให้เพลิงไม่ลุกลาม สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A, B อนึ่งห้ามนำไปดับเพลิงประเภท C เพราะมีน้ำเป็นส่วนผสม ซึ่งเป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เหมาะกับห้องที่มีการเก็บเชื้อเพลิงประเภททินเนอร์ น้ำมัน ยางมะตอย
  • น้ำสะสมแรงดัน (Water Pressure) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้น้ำเป็นตัวดับเพลิง ใช้ดับเพลิงประเภท A อนึ่งห้ามนำไปดับเพลิงประเภท C เพราะมีน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เหมาะนำไปวางไว้ในห้องที่มีเชื้อเพลงประเภทกระดาษ โรงงานเสื้อผ้า

ชนิดของถังดับเพลิง

นอกจากการเลือกชนิดของถังดับเพลิงแล้ว ยังมีเรื่องการเลือกขนาดของถัง ซึ่งจะมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ขนาด 5 ปอนด์, 10 ปอนด์, 15 ปอนด์ และ 20 ปอนด์ โดยให้ดูว่า สมาชิกในบ้านสามารถยกและใช้งานไหวหรือไม่ เช่น ถ้าเลือกถังใหญ่เกินไป ผู้หญิงอาจจะยกได้ลำบาก ที่สำคัญควรเลือกยี่ห้อที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทย (มอก.) ด้วยนะครับ

ค้นหา บ้าน-คอนโด ในเชียงใหม่

การติดตั้งเครื่องดับเพลิง

การเลือกติดตั้งเครื่องดับเพลิงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ควรเลือกจุดติดตั้งที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ไม่กีดขวางทางเดินหรือทางออก สามารถวิ่งไปหยิบได้โดยที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง และไม่วางของเกะกะใกล้กับถังดับเพลิง เช่น บริเวณใกล้กับประตูหรือทางเข้าออก บริเวณที่พักบันได บริเวณใกล้กับครัว เป็นต้น

ส่วนการติดตั้งถังดับเพลิง สามารถแขวนไว้กับผนัง โดยใช้หูแขวนรูปตัว T ให้ปลายหงายขึ้น แล้วยึดพุกสกรูกับหูแขวนเข้ากับผนัง ความสูงประมาณ 1 เมตรจากพื้น แล้วแขวนถังดับเพลิงลงบนตัวแขวน เช็กดูว่าถังไม่เอียงและมีความแข็งแรงดี

นอกจากนี้ควรมีป้ายที่บอกรายละเอียดของถังดับเพลิงไว้เหนือถังที่ความสูงประมาณ 1.2-1.5 เมตร ซึ่งเป็นระดับสายตาของผู้ใช้ และควรมีป้ายที่แสดงจุดติดตั้งถังดับเพลิงไว้ที่ความสูง 2.0-2.2 เมตร เพื่อให้มองเห็นจุดติดตั้งถังดับเพลิงได้จากระยะไกล ทั้งนี้ควรวางในจุดที่คนภายนอกสามารถมองเห็นได้ง่ายไม่ควรเอาไปวางซ่อนไว้หลังบ้าน เผื่อกรณีที่ไฟไหม้บ้านและคนภายนอกต้องการเข้ามาช่วย

กรณีที่ไม่สามารถยึดถังดับเพลิงกับผนังได้ ควรวางเครื่องดับเพลิงบนฐานตั้งเครื่องพร้อมป้ายสัญลักษณ์ ไม่ควรวางไว้กับพื้นโดยตรง เพราะอาจจะทำให้ถังดับเพลิงเสียหายจากความชื้นจากพื้น หรืออาจมีการเกิดการเคลื่อนย้ายถังแล้วไม่นำกลับมาวางที่เดิม

การติดตั้งถังดับเพลิงกับผนัง

การตรวจสอบถังดับเพลิง (ชนิดมีเกจวัดแรงดัน)

การตรวจสอบถังดับเพลิงควรทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ถังดับเพลิงมีความพร้อมในการใช้งานอยู่เสมอ โดยมีแนวทางการตรวจสอบถังดับเพลิงดังนี้

  • ตรวจสายฉีดว่ามีการแตกหรือชำรุด พร้อมตรวจดูว่ามีการอุดตันของสายฉีดหรือไม่
  • ตรวจสอบสลักล็อคคันโยกว่ายังมีซีลอยู่หรือไม่หรือไม่ และมีการบิดเบี้ยวหรือไม่
  • ตรวจสอบสภาพภายนอกถังว่าเกิดสนิม ตัวถังบุบหรือมีรอยซึมของสารเคมีหรือไม่
  • ถ้าเป็นถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ให้ยกถังขึ้นและคว่ำลง 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ผงเคมีที่อยู่ด้านในแข็งตัว
  • ถ้าเป็นถังดับเพลิงชนิด CO2 ให้ตรวจสอบโดยการชั่งน้ำหนัก หากมีน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% ให้ส่งกลับไปตรวจสอบ
  • ตรวจสอบเกจวัดแรงดัน ถ้าเข็มอยู่ในพื้นที่สีเขียวบริเวณกึ่งกลางแสดงว่าพร้อมใช้งาน หากเข็มชี้ไปทางด้านซ้ายมือ แสดงว่าใช้งานไม่ได้
  • ตรวจสอบบริเวณที่วางถังดับเพลิงต้องไม่มีอะไรกีดขวาง เข้าถึงง่าย และสังเกตเห็นได้ง่าย
  • ถ้าถังดับเพลิงไม่ได้ใช้งานนาน 4-5 ปี ควรส่งถังดับเพลิงไปทดสอบกับบริษัทผู้ผลิตหรือส่งให้กับร้านที่ซื้อเป็นผู้ตรวจสอบ
  • ถ้าไฟไหม้ หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ให้ส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่
  • ตรวจสอบอายุการใช้งานของถังดับเพลิงซึ่งจะมีระบุไว้ข้างถัง ถ้าใกล้หมดอายุต้องเปลี่ยน

การตรวจสอบถังดับเพลิง

ก็คิดว่าน่าจะเป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่อยากให้หลายคนได้อ่านไว้นะครับ เวลาเกิดเหตุที่คาดไม่ถึงขึ้นมาจะได้รับมือได้ทัน ที่สำคัญอย่าลืมอ่านฉลากบนถังดับเพลิงก่อนการใช้งานด้วยนะครับ จะได้ใช้งานให้ถูกวิธีและดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเป็นห่วงจากพวกเราชาว Baania นะครับ

ค้นหา บ้าน-คอนโด ในกรุงเทพ

ส่วนใครที่อยากรู้แนวทางการตรวจบ้านก่อนรับโอนแบบสรุปมาให้ทุกส่วน เรามีเช็คลิสต์ตรวจบ้านก่อนรับโอนมาแนะนำด้วยเช่นกัน คุณสามารถติดตามได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยครับ

ดูบทความเช็คลิสต์ได้ที่นี่

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร