Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

แบงก์ชาติ ประกาศคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ เริ่ม 1 เม.ย 64

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติออกประกาศ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 เชื่อเกณฑ์นี้ทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ลดหนี้เสีย และเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คืออะไร

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คือ จ่ายค่างวดไม่ครบ หรือจ่ายล่าช้า ซึ่งจะถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น ซึ่งการไม่สามารถชำระได้ตามสัญญา เจ้าหนี้จะกำหนดในสัญญาไว้ให้มีสิทธิที่จะเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติมจากดอกเบี้ยปกติได้ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับ หากลูกหนี้ไม่จ่ายชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสีย ทั้งนี้ยังต้องรวมถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำรายได้ดอกเบี้ย และเงินต้นไปลงทุนต่ออีกด้วย

การผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลอย่างไรต่อลูกหนี้บ้าง

การผิดนัดชำระหนี้จะทำให้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนอาจเกินความสามารถในการชำระหนี้ได้ และจะทำให้โอกาสในการกลับมาเป็นหนี้ปกติเป็นไปได้ยาก รวมถึงค่างวดที่จ่ายตามมาอาจไม่เพียงพอที่จะตัดเงินต้นในงวดนั้น ซึ่งในการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้แบบเดิมที่เรียกเก็บด้วยมูลค่าที่สูงนั้น ทำให้ลูกหนี้มีภาระยอดเงินสุทธิที่ต้องจ่ายในงวดนั้นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกหนี้บางรายที่จ่ายล่าช้าเพียงงวดเดียว ต้องกลายเเป็นผิดนัดชำระหนี้ในหลายๆ งวดต่อมา

การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้เป็นธรรมแบบใหม่

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้แบบใหม่ใน 3 เรื่อง คือ

1. คิดดอกเบี้ยบนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง”

การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ที่สถาบันทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด จึงทำให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก แต่เกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้นนั่นเอง

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

2. กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% สถาบันทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยจะต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่สถาบันทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ซึ่งการกำหนดในรูปแบบนี้จะส่งผลกต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (affordability risk) ได้ ฉะนั้นเกณฑ์ใหม่นี้จึงช่วยให้ลูกหนี้ที่พยายามจ่ายชำระหนี้มีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ น้อยลง ช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น และการฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง 

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้   

3. กำหนดลำดับการตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก

การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น 

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้        

เริ่มใช้เกณฑ์การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่เมื่อไร

สำหรับเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากสถาบันทางการเงินจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงมาคำนวณ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติได้ส่งหนังสือเวียนไปให้สถาบันทางการเงินแล้วตั้งแต่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

ขอบคุณข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร