กทพ.ยกเลิกโครงการทางด่วนพิเศษ จ.เชียงใหม่ หลังลงพื้นที่สำรวจและผลการศึกษาพบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการเดินทางได้อย่างแท้จริง เนื่องจากขาดการเชื่อมต่อกับถนนในตัวเมือง อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพราะบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของเมืองเชียงใหม่ ด้าน “ปธ.บอร์ด กทพ.” เผยทิศทาง กทพ.ก้าวสู่ปีที่ 46 ลุยโครงการแก้จราจร
พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยย หรือ กทพ. เปิดเผยว่า ตามที่ กทพ.ได้ทำการศึกษาแผนแม่บททางพิเศษใน จ.เชียงใหม่นั้น โดยจากการศึกษารายละเอียดและลงพื้นที่แล้ว พบว่า อาจจะต้องยกเลิกการดำเนินการโครงการ เนื่องจากทางพิเศษ จ.เชียงใหม่ดังกล่าว ไม่สามารถเชื่อมต่อกับถนนอื่นๆในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ค่อนข้างแออัดได้อย่างจริงจัง รวมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพเมืองเชียงใหม่ จึงจำเป็นต้องยุติการดำเนินการโครงการ
ข่าวจาก กทพ. กล่าวถึงทางพิเศษ จ.เชียงใหม่ ว่า การศึกษาแผนแม่บททางพิเศษใน จ.เชียงใหม่ ใช้เวลาดำเนินการมากว่า 20 ปี แต่ล่าสุดไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสิ่งก่อสร้างที่จะอยู่สูงกว่าพระครูบา บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ เพราะถือเป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งประชาชนไม่ต้องการให้เข้าไปดำเนินการกับเกาะเมืองด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.วิวรรธน์ ยังกล่าวถึงในโอกาสที่ กทพ.ก้าวสู่ปีที่ 46 ว่า กทพ.ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของ โดยสิ่งที่จะเห็นชัดในปี 2561 คือ โครงการก่อสร้างทางเชื่อมจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ) ระยะทางประมาณ 360 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณดังกล่าว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในเดือน ส.ค. 2561
ขณะที่ โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาที่ปรึกษาควบคุมงาน และคาดว่าจะสามารถประมูลได้ในช่วงมี.ค.-เม.ย. 2561 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยให้การจราจรบนสะพานพระราม 9 คล่องตัวขึ้น จากนั้นจะทำการปิดซ่อมแซมสะพานพระราม 9 ในส่วนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก อยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงินลงทุน 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 5,000 ล้านบาท และก่อสร้าง 8,000 ล้านบาท ขณะนี้ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ขั้นวิชาการแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้าย ทั้งนี้ ได้นำเสนอกระทรวงคมนาคมแล้ว ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP ต่อไป
ที่มา : transportjournalnews