Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีต่อเต้ารับด้วยตนเองอย่างไรให้ปลอดภัย

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

วิธีต่อเต้ารับ หรือ วิธีต่อปลั๊กตัวเมีย คือการต่ออุปกรณ์ส่วนที่ติดอยู่กับวงจรไฟฟ้าอย่างถาวร ตามฝาผนัง โต๊ะทำงาน หรือส่วนอื่นๆ ภายในตัวบ้าน โดยจะทำหน้าที่ต่อกระแสไฟฟ้าเพื่อไว้รองรับการเสียบปลั๊กของเต้าเสียบจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ ดังนั้นเต้ารับจึงเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของทุกบ้าน  ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าวิธีการต่อเต้ารับแบบง่ายๆ ต้องทำอย่างไร

วิธีต่อเต้ารับด้วยตนเอง

วิธีการต่อเต้ารับเข้าอุปกรณ์ด้วยตนเอง สามารถทำได้ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน ดังนี้ครับ

1. การประกอบชุด

ขั้นแรกให้ทำการประกอบเต้ารับเข้ากับส่วนฝาครอบ โดยให้นำเต้ารับมาใส่เข้าไปในช่องว่างของส่วนฝาครอบที่เป็นฐาน แล้วออกแรงกดให้เต้ารับติดกับร่องส่วนฝาครอบ ซึ่งหากประกอบถูกต้องเต้ารับจะยึดกับฝาครอบแน่นและหลุดออกยากครับ จากนั้นก็ให้เรานำเต้ารับที่ประกอบเสร็จแล้วไปติดตั้งในกล่องที่อยู่ภายในผนัง

2. การเข้าสายไฟ 

ขั้นตอนต่อมาก็คือการต่อสายไฟเข้ากับเต้ารับ โดยจะมีสายไฟทั้งหมด 3 เส้น ได้แก่ สายดิน (G) สายไลน์ (L) และสายนิวทรัล (N) ซึ่งก่อนที่เราจะนำสายไฟไปต่อเข้ากับเต้ารับ ให้เราปอกเปลือกสายไฟออกประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตรก่อน จากนั้นให้นำสายไฟเสียบเข้ากับช่อง G, L และ N ตามสัญลักษณ์ หรือตำแหน่งที่ระบุไว้ของส่วนเต้ารับ โดยให้ใช้มือกดที่พลาสติกด้านข้างจะทำให้สายไฟถูกยึดไว้หนาแน่นทันที
เมื่อติดตั้งครบทั้ง 3 สายให้ทำการดึงสายไฟที่ต่อเข้ากับเต้ารับ เพื่อเป็นการทดสอบว่าสายไฟจะไม่หลุดจากช่องเสียบ จากนั้นให้นำฝาครอบมาปิด และใช้ไขควงขันน๊อต เพื่อช่วยยึดให้แน่น 

3. ทำการตรวจสอบอีกครั้ง

ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ใช้งานจริง เราควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า สายและเต้ารับต่อเข้ากันแน่น ไม่หลวม รวมไปถึงการตรวจสอบด้วยว่าปิดฝาครอบ และการขันน๊อต หรือสกรูแน่นหนาเรียบร้อยแล้ว หากทำการตรวจสอบครบทุกจุดแล้วให้สับสวิตซ์ และเสียบปลั๊กใช้งานได้เลยทันที 

อุปกรณ์

นอกจากการต่อเต้ารับด้วยตนเองแบบง่ายๆ แล้ว เรายังมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเต้ารับที่ทุกคนควรรู้ ดังต่อไปนี้

อุปกรณ์การต่อเต้ารับ 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องเตรียมให้พร้อมในการต่อเต้ารับก็คืออุปกรณ์ในการต่อเต้ารับนั้นเอง โดยมีอุปกรณ์ที่เราต้องเตรียมดังต่อไปนี้

  • สายไฟ ประเภทสายดิน
  • สายไฟ ประเภทสายไลน์
  • สายไฟ ประเภทสายนิวทรัล
  • ฝาครอบ
  • กล่องพลาสติก
  • น๊อตยึด
  • ไขควง
  • เต้าเสียบของเครื่องใช้ไฟฟ้า 

ประเภทเต้ารับ

ลักษณะของเต้ารับและเต้าเสียบที่ดี

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมเลยก็คือคุณภาพของเต้ารับที่เราจะนำมาต่อเต้ารับ เพราะหากเลือกไม่ดีอาจใช้ได้ไม่นาน และเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ เรามาดูกันครับว่าลักษณะของเต้ารับที่ดีมีอะไรบ้าง

  • ทำด้วยโลหะที่ไม่ก่อให้เกิดสนิมง่าย
  • มีพื้นที่ผิวสัมผัสมากจะนำกระแสไฟฟ้าได้ดี
  • ฉนวนที่นำมาหุ้มทั้งเต้ารับและเต้าเสียบต้องไม่กรอบ และแตกง่าย
  • ขนาดเหมาะสมกับปริมาณไฟฟ้าที่ไหลผ่าน
  • อุปกรณ์ต้องมีมาตรฐานการรับรอง

ประเภทของเต้ารับมีกี่แบบ

นอกจากวิธีต่อเต้ารับ อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อเต้ารับ และลักษณะของเต้ารับที่ดีแล้ว เราควรรู้จักประเภทของเต้ารับด้วยนะครับ ตอนต่อเต้ารับด้วยตนเองจะได้ทำได้ง่าย และไม่ผิดพลาด โดยเต้ารับซึ่งใช้ควบคู่กับเต้าเสียบ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด 

1. เต้ารับ และเต้าเสียบชนิด 2 ขา คือ อุปกรณ์ที่ติดมากับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ใช้สำหรับรับเต้าเสียบ 2 ขา โดยแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท 

  • เต้ารับแบบแบน เป็นแบบที่มีรูกลมอยู่ตรงกลาง เพื่อยึดเข้ากับปุ่มของเต้ารับได้อย่างพอดี กันการหลวม หรือการสั่นคลอน 
  • เต้ารับแบบกลม มีทั้งแบบที่มีฉนวน และไม่มีฉนวนหุ้ม ซึ่งควรใช้แบบมีฉนวน เพราะสามารถป้องกันอันตรายได้ดีกว่าแบบไม่มีฉนวนหุ้ม

2. เต้ารับ และเต้าเสียบชนิด 3 ขา คือ เต้าเสียบที่มีขาโลหะอยู่ 3 ขา ต้องใช้กับเต้ารับที่มีช่องรับอยู่ 3 ช่อง โดยช่องที่เพิ่มมาอีกหนึ่งช่อง คือ ช่องที่เป็นตำแหน่งต่อลงสายดิน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานมีความปลอดภัย หากเกิดกรณีกระแสไฟฟ้ารั่ว 

ทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกันที่จำนวนช่องที่เพิ่มเข้ามา นั่นก็คือ ตำแหน่งสายดิน ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ใช้งาน ทั้งเรื่องความปลอดภัย และการมีส่วนช่วยป้องกันไฟฟ้าให้ไหลลงสู่ดิน ไม่ให้เกิดไฟฟ้ารั่ว หรือลัดวงจร 

8 ข้อควรระวังในการใช้งานเต้ารับ

และสิ่งหนึ่งที่ไม่รู้ไม่ได้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องความปลอดภัย ที่ผู้ใช้งานต้องควรรู้ กับ 8 ข้อควรระวังในการต่อเต้ารับกัน

  1. การเลือกซื้ออุปกรณ์ ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพทั้งขาเต้าเสียบ และเต้ารับ โดยสังเกตสัญลักษณ์ มอก. “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” และสังเกตอุปกรณ์ว่ามีการชำรุด แตกหัก หรือมีรูรั่วของกระแสไฟหรือไม่ 
  2. การเลือกขนาด ควรเลือกขนาดของเต้ารับ และเต้าเสียบให้เหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่าน
  3. เสียบปลั๊กเข้ากับเต้ารับต้องแน่น ไม่หลวม เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลได้ดี หากหลวม อาจก่อความร้อน ทำให้เกิดประกายไฟ จนนำไปสู่ไฟฟ้าลัดวงจร
  4. ไม่ควรต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดเข้ากับเต้ารับอันเดียว เพราะจะทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเต้ารับมากเกินไป อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ 
  5. การดึงเต้าเสียบออกจากเต้ารับ ควรจับบริเวณที่มีฉนวน และห้ามดึงจากสายไฟโดยตรง เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือทำให้สายไฟหลุดออกจากเต้าเสียบ เกิดไฟฟ้าลัดวงจรตามมา
  6. เต้ารับที่ใช้ภายนอกอาคาร ต้องทนแดด และทนฝน หรือมีการติดตั้งอุปกรณ์ปิดปกคลุมเต้ารับ เช่น ใส่กล่องสี่เหลี่ยมที่มีฝาปิด หรือการทำหลังคา เป็นต้น
  7. การติดตั้งเต้ารับต่ำเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตราย ในกรณีที่เกิดน้ำท่วม หรือบ้านที่มีเด็กเล็ก โดยใช้นิ้ว หรือวัสดุอื่น ๆ เข้าไปแหย่เล่นทำให้เกิดไฟฟ้าดูดได้ 
  8. กรณีอุปกรณ์ชำรุด หากไม่มีความรู้ หรือความชำนาญ ไม่ควรซ่อมเอง ให้ทำการเรียกช่างเพื่อเข้ามาแก้ไข และไม่ควรแก้ไขทันทีเมื่อพบเห็นข้อบกพร่อง 

ทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ทุกท่านควรพึงปฏิบัติ โดยหมั่นสังเกต และเอาใจใส่ อย่าลืม! ว่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายลำดับต้นๆ ของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จึงควรใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ข้อควรระวัง

เต้ารับ ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการนำไปใช้ภายในบ้าน หวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่ Baania ได้นำมาฝากผู้อ่านทุกท่าน จะเป็นประโยชน์ในการนำไปเลือกซื้ออุปกรณ์ หรือวิธีต่อเต้ารับด้วยตนเอง ซึ่งควรปฏิบัติภายใต้คำแนะนำ และข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้งาน และคนในครอบครัว รวมถึงเพื่อช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร