Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธียาแนวอย่างไรให้เหมือนมืออาชีพ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หนึ่งในวัสดุที่หลาย ๆ บ้านจำเป็นต้องใช้ก็คือยาแนว โดยเฉพาะการก่อสร้างบริเวณพื้นด้วยกระเบื้องเพื่อให้การยึดติดของกระเบื้องดีขึ้น รวมถึงยังทำให้ช่องกระเบื้องมีความสวยงาม อย่างไรก็ตามการนำไปใช้อย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้บ้านของคุณดูดีขึ้นได้จริง อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างช่างแพงๆ มาคอยทำยาแนวให้ด้วย บทความนี้จึงพาไปรู้จักวิธีใช้งานยาแนวอย่างมืออาชีพ

1. ทำความรู้จักยาแนวคืออะไร?

เป็นวัสดุประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการปิดร่อง ซึ่งเป็นช่องรอยต่อของกระเบื้องแต่ละแผ่นที่อยู่บนพื้นหรือผนังบ้าน ส่วนใหญ่ผลิตจากซีเมนต์เพื่อให้ช่องว่างระหว่างกระเบื้องมีความสวยงามและดูเต็มพื้นที่มากยิ่งขึ้น จากการที่ยาแนวมักถูกใช้งานกับกระเบื้องเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้หลาย ๆ คนมักเรียกติดปากว่า “ยาแนวกระเบื้อง” โดยวัสดุประเภทนี้จะเป็นแบบผง มีสีสันให้เลือก การใช้งานต้องผ่านการผสมน้ำ หรือบางตัวอาจต้องผสมทรายเข้าไปขึ้นอยู่กับข้อกำหนดใช้งานที่สินค้าระบุไว้

ยาแนว

2. ยาแนวแบบไหน ตอบโจทย์บ้านที่สุด?

การเลือกยาแนวที่ดีต้องเลือกให้เหมาะกับวัสดุที่จะใช้นั่นคือ กระเบื้อง และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ หลัก ๆ แล้วการเลือกยาแนวสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  1. ยาแนวทั่วไป ใช้งานกับกระเบื้องหรือผนังธรรมดา ราคาประหยัด แต่ปัญหาคือไม่มีสารป้องกันเชื้อราจึงทำให้มองเห็นจุดราดำ ๆ บนร่องยาแนวได้ง่าย
  2. ยาแนวกันเชื้อรา ใช้กับกระเบื้องหรือผนังธรรมดาเช่นกัน แต่มีจุดเด่นคือจะผสมสารป้องกันเชื้อรา (สารไมโครแบน) เอาไว้ด้วย ทำให้บริเวณร่องยาแนวจะไม่เกิดเชื้อรา ดูสวยงาม แม้ราคาแพงกว่าแต่คุ้มเพราะสะอาด เช็ดล้างได้ง่าย
  3. ยาแนวร่องเล็ก จะมีความเหลวกว่าปกติเพื่อให้สามารถไหลเข้าไปตามร่องเล็ก ๆ ของกระเบื้อง ส่วนใหญ่ใช้กับงานกระเบื้องที่ปูแนบชิดกันหรือกระเบื้องที่ผลิตจากหินธรรมชาติ
  4. ยาแนวร่องใหญ่ เนื้อจะหยาบ ช่วยเติมร่องของพื้นที่ให้ดูสวยงาม เต็มร่อง นิยมใช้กับกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องที่เกิดการหดตัวได้ง่าย
  5. ยาแนวทนแรงดันน้ำ ทนแรงอัด นิยมใช้กับพื้นที่ที่ต้องโดนน้ำตลอดเวลา เช่น สระว่ายน้ำ ร้านสปา บ่อน้ำ ฯลฯ ยาแนวประเภทนี้จะทนต่อแรงดันน้ำและแรงอัดต่าง ๆ ได้ดี
  6. ยาแนวสำเร็จรูป เป็นยาแนวที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในการนำไปเติมร่องยาแนวกระเบื้อง อุดรอยรั่วต่าง ๆ เพราะมีการผสมมาให้เสร็จสรรพ นำไปใช้งานได้ทันที แต่ไม่สามารถใช้กับการปูกระเบื้องใหม่ได้ เนื่องจากไม่ผ่านการผสมน้ำหรือทรายเพื่อให้มีความแข็งแรง ยึดเกาะได้ดี
  7. ยาแนวอีพ็อกซี่ ราคาจะแพงกว่าตัวอื่น ๆ เพราะมีคุณภาพที่สุด ป้องกันน้ำและฝุ่น ทนต่อกรด ด่าง สารเคมี ทนแรงดันน้ำ นิยมนำไปใช้กับโรงงานหรือสระว่ายน้ำหรู

เลือกยาแนว

3. ยาแนวเองก็ได้ ง่ายกว่าที่คิด

เตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ให้เรียบร้อย เช่น เกรียงสามเหลี่ยม เหล็กขูดร่อง ถุงมือยาง ยาแนว ผ้าแห้ง ฟองน้ำ กะละมังผสม น้ำ และไม้พายสำหรับคน
 
วิธีทำยาแนวกระเบื้องด้วยตนเองง่ายมาก เริ่มจากใช้เหล็กขูดร่องแซะเอาสิ่งสกปรกออกจากร่องให้หมด จากนั้นนำยาแนวผสมกันในอัตราส่วนที่สินค้าระบุไว้ โดยเทน้ำลงไปก่อนจากนั้นค่อยเทยาแนว ใช้ไม้คนจนเข้ากัน ทิ้งไว้ครู่หนึ่ง เมื่อยาแนวได้ที่ก็ใช้เกรียงปาดเอายาแนวดังกล่าวมาฉาบเอาไว้บริเวณร่องกระเบื้อง แต่การฉาบนี้ให้ทำเกรียงเป็นมุม 45 องศา ด้วยเพื่อให้ตัวยาแนวเข้าร่องได้แบบเต็มสัดส่วน
 
เมื่อปาดจนครบแล้วให้ปล่อยทิ้งไว้พักใหญ่ ๆ เมื่อยาแนวเริ่มแข็งตัวให้ใช้ฟองน้ำจุ่มน้ำสะอาดเช็ดให้ส่วนที่สกปรกออก หากฟองน้ำสกปรกก็นำไปล้างแล้วเช็ดใหม่เรื่อย ๆ จนกว่ายาแนวจะหลุดออกหมดเหลือแต่ที่ฉาบเอาไว้ในร่อง

วิธียาแนวกระเบื้อง

4. วิธีเปลี่ยนสียาแนว

อย่างที่กล่าวไปว่าตัวยาแนวเองนั้นมีให้เลือกหลายสี หากต้องการให้ห้องดูพิเศษ สวยงามกว่าเดิม ก็สามารถเลือกสียาแนวที่ชอบมาใช้ในการก่อสร้างได้เลย แต่ถ้าหากใครลงยาแนวเอาไว้ พอเวลาผ่านไปรู้สึกถึงความไม่สวยงาม ต้องการทำสียาแนวให้เข้ากับกระเบื้อง วิธีคือต้องขูดเอายาแนวเก่าออกให้หมด จากนั้นจึงเลือกสีที่ตนเองชอบ ยาแนวลงไปแทนที่

เปลี่ยนสียาแนว

5. การทำความสะอาด

มีวิธีหลากหลายในการทำความสะอาดร่องยาแนวให้ดูสวยงาม ไม่สกปรก เช่น การใช้กระดาษทรายขัดคราบดำ ๆ ออก ใช้แปรงสีฟันที่ขนแข็งมาก ๆ ชุบน้ำส้มสายชูขัดตามร่องรอยดำ ๆ ที่เกิดขึ้น หรือใช้เบกกิ้งโซดาโรยลงบนร่องยาแนว ใส่น้ำส้มสายชูตามนิดหน่อย แล้วใช้แปรงทองเหลืองขัดได้เลย แต่ถ้าใครเน้นความสะดวกให้เลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดยาแนวโดยตรง รับรองว่าคราบสกปรกต่าง ๆ จะหายไป

การทำความสะอาด

6. วิธีซ่อมยาแนว

สำหรับบ้านไหนที่เคยวางยาแนวไว้อยู่แล้ว แต่ผ่านการใช้งานจนเก่า หากต้องการซ่อมแซมใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากการขูดยาแนวเก่าออกให้หมดด้วยคัตเตอร์ มีด กรรไกร หรือของมีคมแหลม ๆ ทำความสะอาดบริเวณพื้นกระเบื้องและร่องยาแนวด้วยฟองน้ำ จากนั้นให้ทำแบบเดียวกับการยาแนวด้วยตนเองจนเสร็จสิ้น เท่านี้ก็เป็นการซ่อมแซมยาแนวเก่าของคุณให้ดูใหม่ สวยงามยิ่งกว่าเดิม

วิธีซ่อม

7. อุปกรณ์ขูดยาแนว

ในส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ขูดยาแนวก็มีด้วยกันหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความสะดวก เช่น เหล็กขูดยาแนวแบบหัวแบนแหลม หัวกลมแหลม เกรียงขูดยาแนว ฯลฯ ทั้งนี้วัสดุที่นำมาผลิตนอกจากเหล็กก็ยังมีสเตนเลส อะลูมิเนียม และอื่น ๆ แต่ถ้าหากใครทำแบบเร่งด่วนไม่ได้เตรียมตัวไว้ จะใช้คัตเตอร์ กรรไกร มีดปลายแหลมก็พอช่วยได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน

อุปกรณ์ขูด

8. คำแนะนำ

ไม่ควรใช้ยาแนวในขณะพื้นที่ที่เจอกับแสงแดดหรือมีความร้อนโดยตรง เพราะจะทำให้ยาแนวแห้งเร็วกว่าปกติ อาจทำให้ยังไม่ได้ขนาดเหมาะสม อีกเรื่องคือ ให้เว้นร่องยาแนว 3 มิลลิเมตร กับงานพื้น และ 1.5 มิลลิเมตรสำหรับงานผนัง ป้องกันกระเบื้องเสียดสีกันและช่วยไม่ให้น้ำซึมเข้าไปใต้พื้นกระเบื้องด้วย เท่านี้การยาแนวของคุณก็ไม่มีปัญหา

คำแนะนำ

ใครที่อยากลองทำงานกระเบื้องด้วยตนเองอย่าลืมทำความเข้าใจกับยาแนว ให้มาก ๆ แล้วงานที่ออกมาจะสวยงาม ตรงใจ ใครเห็นก็ต้องชอบอย่างแน่นอน หวังว่าจะถูกใจไม่มากก็น้อยนะครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร