Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อสังหาฯ หันโฟกัสเรียลดีมานด์แก้เกมคุมสินเชื่อ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

บริษัทอสังหาฯมุ่งเจาะเรียลดีมานด์ ลดผลกระทบมาตรการคุมสินเชื่อ แสนสิริ ผนึกโตคิว-สมิติเวช ผุดคอนโดเจาะคนรักสุขภาพ วิจิตรากรุ๊ป ปักหลักภาคตะวันออกลุยตลาดบ้านแนวราบ

นายปิติ จารุกำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบริหารกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงต้องดูว่า รายละเอียดของมาตรการที่จะออกมาบังคับใช้มีอะไรบ้าง

"บริษัทคงต้องมีการปรับกลยุทธ์การลงทุน แต่จะปรับอย่างไร คงต้องดูความชัดเจนของมาตรการที่จะออกมาก่อน แต่ที่ทำอยู่ และหลายบริษัทก็เปลี่ยนมาในทิศทางเดียวกันคือ การให้ความสำคัญกับเรียลดีมานด์มากขึ้น เพราะลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของธปท. โดยล่าสุดบริษัทได้พัฒนาโครงการในเซ็กเมนต์ใหม่ในกลุ่มเรียลดีมานด์ที่รักสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง"

ปิติ จารุกำจร

จากรายงานการศึกษาเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ของสถาบันสุขภาพโลก พบว่า มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกลุ่มเวลล์เนส เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทั่วโลกมีมูลค่าตลาดกว่า 4.4 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโต 6.4% ต่อปี สูงกว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างของโลกที่เติบโตอยู่ที่ 1.5% และในปัจจุบันมีโครงการและชุมชนเพื่อสุขภาพประมาณ 740 แห่งทั่วโลก ทัและคาดว่าในปี 2565 จะมีมูลต่าตลาดอยู่ที่ 6.3 ล้านล้านบาท

บริษัทจึงได้ร่วมมือกับ โตคิว คอร์เปอเรชั่น และ สหโตคิว คอเปอร์ชั่น จัดตั้งบริษัท สิริ ทีเคโฟว์ จำกัด ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็น บริษัท แสนสิริ 70% โตคิว คอร์เปอเรชั่น 29% และ สหโตคิว คอร์เปอร์เรชั่น 1% พัฒนาโครงการ เวลล์เนส เรสซิเดนซ์ มูลค่าโครงการกกว่า 2,400 ล้านบาท โดยมีโรงพยาบาลสมิติเวช ร่วมเป็นพันธมิตรในการให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร  

โครงการดังกล่าวยังไม่ได้มีแบรนด์อย่างเป็นทางการ จะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมสำหรับคนรักสุขภาพ บนทำเลถนนกรุงเทพกรีฑา  เนื้อที่กว่า 7 ไร่ เป็นคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ สูง 8 ชั้น จำนวน 4 อาคาร 3 อาคารแรกเป็นที่อยู่อาศัยและอีกอาคารเป็นสปอร์ตคลับ  เจาะกลุ่มเป้าหมายสำหรับคนรักสุขภาพ จะเปิดพรีเซลล์ได้ในปี 2562 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)

ขณะที่ผู้ประกอบการอีกหลายรายมองว่า การพัฒนาพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดคอนโดมิเนียม ทำให้ในช่วงตรมาสสุดท้ายของปีมีโครงการบ้านแนวราบเปิดตัว และจัดกิจกรรมการตลาดกันอย่างคึกคัก รวมถึงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบในต่างจังหวัดก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

นายสืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร วิจิตรากรุ๊ป สะท้อนมุมมองต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะที่เป็นผู้นำในจังหวัด ผ่านการเปิดมาแล้ว 10 โครงการ ว่า หลังจากภาครัฐได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ส่งผลให้ในปี 2561 นี้ มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพฯเข้ามาลงทุนและพัฒนาโครงการมากยิ่งขึ้น โดยตามแนวถนนทางหลวงหมายเลข 314 ที่เชื่อมมอเตอร์เวย์ไปถึงบางนา โดยเฉพาะเส้นจากมอเตอร์เวย์ไปห้างสรรพสินค้าโรบินสันฉะเชิงเทรา มีผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาโครงการเป็นจำนวนมากถึง 51 โครงการ 

สืบวงษ์ สุขะมงคล 

ประกอบกับ ปัจจัยบวกเรื่องความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคทั้งจากในจังหวัดและลูกค้าที่มาจากกรุงเทพฯ และจากนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง  อันได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ และ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 304 ส่งผลให้ราคาที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 15- 20%

สำหรับ 51 โครงการในตลาดมีจำนวนรวมกว่า  12,400 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 36,000 ล้านบาท มีอัตราดูดซับค่อนข้างดี ประเภทที่อยู่อาศัยที่เปิดขายส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดรวม 55% ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์ 37% ระดับราคา 1.9-3 ล้านบาท และอาคารพาณิชย์และอาคารชุดเพียง 8% ทำเลๆ หลักที่โครงการเกิดขึ้นจำนวนมาก จะอยู่ที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา 60% อ.บางปะกง 22% อ.บ้านโพธิ์ 13% และอ.แปลงยาว 5%

นอกจากนี้ จากข้อมูลจะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2558-60 มูลค่าโครงการรวมที่เปิดตัวมากกว่า 10,000 ล้านบาททุกปี จากที่ในปี 2557 อยู่ที่ 9,858 ล้านบาท โดยยูนิตเหลือขายมีประมาณ 3,000 ล้านบาท

สำหรับทิศทางธุรกิจของบริษัทในปี  2562 และในอนาคต บริษัทได้กำหนด 4 กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1.การใช้นวัตกรรมในการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า 2.ขยายทำเลในการพัฒนาโครงการใหม่ให้กว้างขึ้น 3.”มารวย 4.0” ด้วยการลงทุนในระบบไอที และนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับบริษัท และ 4. การรีแบรนด์ เพื่อเป็นสร้างภาพลักษณ์และการสร้างจดจำในตัวขององค์กรให้มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของแผนพัฒนาโครงการใหม่ ตั้งเป้าพัฒนาโครงการอย่างน้อย 2 โครงการ เช่น ทำเลอ่อนนุช-ลาดกระบัง คือ โครงการ มารวย ลาดกระบัง-อ่อนนุช เลื่อนมาเปิดขายปี 2562 มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โครงการมารวยโสธร 5 และโครงการเดิมในเฟสต่อเนื่อง ทั้งในจังหวัดหลัก ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาท และมีแผนพัฒนาโครงการกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกทั้งใน กบินทร์บุรี ระยอง สระแก้ว และจันทบุรี 

สำหรับคืบหน้ายอดขายโครงการมารวยโสธร 4 ปัจจุบันขายไปแล้ว 60% และวางเป้าปิดขายปลายปีหน้า ปัจจุบันเหลือ 60-70 ยูนิต บ้านแฝดมียูนิตจำนวนมาก บ้านเดี่ยวมีเพียง 20% สำหรับในปี 2561 นี้บริษัทตั้งเป้ามียอดขาย 800 ล้านบาท เติบโต 10-15% และรับรู้รายได้ปีนี้ประมาณ 90% หรือ 720 ล้านบาท

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร