Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รู้! ก่อนจะติดตั้งฉนวนกันความร้อนให้บ้านเรา

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การติดฉนวนกันความร้อน คืออีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านลงได้ แถมช่วยให้บ้านเย็นได้ตลอดวันแม้ไม่มีร่มจากต้นไม้มาบัง เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนัก และป้องกันเหล่าสัตว์ที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาอาศัย มารู้จัก 7 วิธีเคล็ดลับไม่กับการเลือกฉนวนกันความร้อนให้บ้านดังต่อไปนี้

1. ฉนวนกันความร้อนคืออะไร?

ฉนวนกันความร้อน คือ วัตถุหรือวัสดุที่มีความสามารถในการสกัดกั้นความร้อนไม่ให้ส่งผ่านจากด้านใดด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งได้สะดวก โดยตัวฉนวนกันความร้อน จะใช้ค่าสัมประสิทธิ์ของการนำความร้อน ( ค่า K) แสดงการถ่ายเทความร้อนของฉนวนแต่ละชนิด หากมีค่า K ที่น้อยจะยิ่งจะทำให้ฉนวนตัวนั้นต้านทานความร้อนได้ดีที่สุด มีหน่วยเป็น W/mK เช่น วัสดุที่ทำมาจาก พอลิไอโซไซยานูเรต (PIR) จะมีค่า K อยู่ที่ 0.021 W/mK ฉนวนใยหิน (Rockwool) จะมีค่า K อยู่ที่ 0.034 W/mK และพอลิสไตรีนโฟม (EPS) จะมีค่า K อยู่ที่ 0.027 W/mK

ค่าการต้านทานความร้อน (ค่า R) จะแสดงความสามารถของวัสดุที่ยับยั้งการไหลหรือถ่ายเทความร้อน หากมีค่า R สูง จะทำให้ยับยั้งการเทความร้อนได้มากยิ่งขึ้น ความหนาของวัสดุ และค่า K มีผลต่อการต้านทานนี้ด้วย มีหน่วยเป็น m2K/W ตัวอย่าง เมื่อวัสดุมีความหนา 1 นิ้ว ฉนวนฟีโนลิคโฟม (Phenolic Foam) จะมีค่า R อยู่ประมาณ 1.5 m2K/W ฉนวนพอลิยูรีเทน (Polyurethane Foam) จะมีค่า R อยู่ที่ 1.2 m2K/W

ค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อน (ค่า U) คือปริมาณความร้อนที่ไหลผ่านเข้ามาในอาคาร หากมีค่า U ต่ำจะยิ่งทำให้ปริมาณความร้อนที่ไหลผ่านอาคารน้อยลงอีกด้วย จำเป็นต้องนำความหนาของฉนวน และค่า R มาคำนวณประกอบ มีหน่วยเป็น W/m2K ตัวอย่าง เมื่อฉนวนมีความหนา 250 มิลลิเมตร พอลิไอโซไซยานูเรต (PIR) จะมีค่า U อยู่ประมาณ 0.83 W/m2K พอลิสไตรีนโฟม (EPS) จะมีค่า U ประมาณ 0.15 W/m2K และใยแก้ว จะมีค่า U อยู่ที่ 0.17 W/m2K


ฉนวนกันความร้อน

2. รูปแบบการติดตั้ง

ในการติดตั้งฉนวนกันความร้อน มักติดตรงส่วนบนของบ้าน หรืออาคาร ที่เรียกว่า หลังคา เนื่องจากเป็นจุดที่รับแสงแดดมากที่สุด โดยมีรูปแบบด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้

  1. ติดตั้งบนฝ้า ตัวฉนวนจะต้องมีความหนาและหุ้มด้วยวัสดุกันความชื้น เพื่อป้องกันน้ำที่อาจรั่วซึมลงมาจากหลังคา วิธีการนี้ช่วยหน่วงความร้อนไม่ให้สะสมใต้หลังคา แต่จำเป็นต้องมีช่องระบายความร้อนออกตรงฝ้าชายคาบ้านไม่ให้เกิดความร้อนสะสมใต้หลังคา
  2. ใต้หลังคา ช่วยหน่วงความร้อนที่ผ่านเข้าสู่ใต้หลังคาให้น้อยลง มักติดตั้งพร้อมกับการสร้างบ้าน และมีประสิทธิภาพป้องกันความร้อนได้ดีที่สุด
  3. บนหลังคา มักนำมาติดเสริมให้กับรูปแบบการติดตั้งบนฝ้า และใต้หลังคาอีกครั้งหนึ่ง แต่วิธีการนี้จะทำให้ตัวฉนวนกันความร้อนถูกแสงแดดโดยตรงทำให้เสื่อมสภาพเร็ว หากมีฝนตกลงบนตัวหลังคาบ้าน อาจทำให้เกิดความสกปรกติดอยู่ตามแผ่นจนขาดความสวยงามได้

รูปแบบการติดตั้ง

3. ฉนวนแบบแผ่นประเภทต่าง ๆ

ในปัจจุบัน มีนวัฒกรรมการสร้างฉนวนกันความร้อนหลากหลายชนิด โดยไม่เพียงแต่ป้องกันความร้อนจากแสงแดดเท่านั้น ยังมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ป้องกันแมลง เชื้อรา หรือป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามาภายใน เพื่อให้ตอบจุดประสงค์ของผู้ซื้อไปติดตั้ง และง่ายต่อการดูแล โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  1. พอลิยูรีเทนโฟมหรือเรียกอีกชื่อว่าฉนวนกันความร้อนพียูโฟม (PU Foam) มีความสามารถในการยึดติดที่แน่นหนา กันความร้อนได้ดีมากกว่ารูปแบบอื่น ไม่ดูดซับความชื้น ป้องกันเสียงรบกวนได้เป็นอย่างดี และมีอายุการใช้งานยาวนาน จึงเหมาะแก่บ้านอาศัย อาคาร และโรงเรียน ตัวฉนวนมีราคาสูง และมีการผลิตออกมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบชนิดแข็ง แบบเคลือบ แบบนิ่ม หรือแบบหล่อ โดยแบบน้ำจะมีราคาจะอยู่ที่ 120-430 บาทต่อขวด หากเป็นแผ่นจะคิดตามตารางเมตรโดยมีราคา 1,800 บาทต่อตารางเมตร

  2. ฉนวนใยแก้ว (Fiberglass) ช่วยลดความร้อนที่ผ่านเข้าสู่บ้าน หรือตัวอาคารได้เป็นอย่างมาก ป้องกันเสียงรบกวนจากภายในและภายนอก ทนความชื้นสูง มีน้ำหนักเบายืดหยุ่นได้ดีแม้ถูกกดทับ เสื่อมสภาพยาก และป้องกันแมลงหรือเชื้อรา แต่เนื้อของฉนวนชนิดนี้มีความอันตรายไม่ควรสัมผัสโดยตรง เพราะจะทำให้ระคายเคืองผิวได้โดยทั่วไปนิยมขายเป็นแบบแผ่น และแบบม้วน โดยมีแผ่นฟอยล์หุ้ม มักมีสีเขียวหรือสีน้ำเงิน ราคาต่อแผ่นจะอยู่ที่ 180-550 บาท และแบบม้วนจะอยู่ประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป

  3. พอลิเอทิลีนบับเบิลฟอยล์ มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง ไม่ดูดซึมน้ำ ป้องกันไฟได้ดีเยี่ยม เมื่อถูกเผาไหม้จะไม่ลามและทิ้งควันพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัยภายในบ้าน คงทนมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี และติดตั้งง่าย ควรติดตั้งใต้แผ่นหลังคา โดยมีอุปกรณ์ยึดติดเอาไว้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาอาจหลุดออกจากพื้นที่ได้ มีลักษณะเป็นแผ่นสีเงิน และมีอากาศภายในคล้ายพลาสติกกันกระแทก มักขายเป็นม้วนราคาจะอยู่ที่ 940-1,800 บาท และแผ่นจะอยู่ที่ประมาณ 250 บาท

  4. พอลิเอทิลีนโฟม หรือฉนวนกันความร้อนพีอีโฟม (PE Foam) มีลักษณะเป็นโฟมเหนียว คล้ายฟองน้ำ และมีแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์​หุ้มตัวผิวโฟมอีกหนึ่งชั้น เป็นฉนวนที่มีน้ำหนักเบา ไม่ดูดซับน้ำ เมื่อถูกไฟจะไม่ลามและส่งควันพิษ ป้องกันการกัดกร่อนของกรดและด่าง จึงมักนำมาใช้ในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี หากถูกไฟหรือกาวหมดอายุ จะทำให้ฉนวนชนิดนี้ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ และมีอายุการใช้งานไม่ยาวนานนัก ปัจจุบันมีราคาต่อม้วนอยู่ที่ 450-1,400 บาท

  5. อะลูมิเนียมฟอยล์ เป็นแผ่นฟอยล์ผิวมัน มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อนได้เป็นอย่างดี ทนทานต่อความชื้นและไฟ เนื้อเหนียวขาดยาก มักใช้ในหลายหลายลักณะ เช่น หุ้มฉนวนสะท้อนความร้อนของเตาอบไฟฟ้า หรือแท่นหุ่นเชื่อมสำหรับป้องกันสะเก็ดไฟ นิยมปูแนบใต้แผ่นหลังคา หรือแนบกับโฟมฉนวนกันความร้อน ข้อเสียของอะลูมิเนียมฟอยล์คือ ไม่สามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกเข้าสู่ภายในตัวบ้าน หรือเป็นฉนวนกันความร้อนไม่ได้ โดยขายเป็นม้วนราคาอยู่ที่ 1,000 บาท

  6. โพลีสไตรีนโฟม มีชื่อเรียกย่อ ๆ ว่า PS Foam หรือ EPS Foam ช่วยป้องกันได้ทั้งความร้อนและความเย็น มักนำไปใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ฐานบ้าน เพดาน หรือทั้งโครง เนื่องจากตัวฉนวน สามารถผลิตออกมาได้หลายรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้ ช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของฉนวนประเภทนี้คือ เมื่อถูกเผาไหม้สามารถก่อให้เกิดมลพิษต่อผู้อาศัยและสิ่งแวดล้อม และราคาของโพลีสไตรีนโฟมมักขายเป็นแผ่นโดยปกติอยู่ที่ 470-800 บาท

ฉนวนแบบแผ่น

4. ฉนวนแบบพ่นประเภทต่าง ๆ

หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า โฟมกันความร้อน เป็นการฉีดพ่นโฟมลงไปบนพื้นที่ที่ต้องการ และใส่สารกันแมลงไม่ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบบแผ่น โดยส่วนใหญ่มักใช้กับโรงงาน อาคาร หรือสำนักงานที่มีขนาดใหญ่ เพราะจะได้ราคาที่ถูกกว่า เนื่องจากการติดตั้งฉนวนกันความร้อนมีราคาสูง และมีความยุ่งยาก จึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินงาน ปกติการคิดราคา จะคิดตามแบบพื้นที่ประมาณ 250 บาทต่อตารางเมตร และอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยวัสดุกันร้อนประเภทนี้ความแบ่งออกได้ 2 อย่างคือ

1. เซรามิกฉนวนกันความร้อนเซรามิกเซรามิกโค๊ตติ้ง (Ceramic Coating)

เป็นการใช้สีสะท้อนความร้อน โดยนำเทคโนโลยีชั้นสูงของเซรามิกและสารต้านทานความร้อนสูงมาผสมกัน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานรังสีอัลต้าไวโอเลต ทนสภาพบรรยากาศ สารเคมีทั้งกรดและด่าง มีความยืดหยุ่นสูงเกาะกับผิวได้ดี จึงช่วยป้องกันการแตกร้าว รักษาหลังคาและผนังอาคารให้มีอายุยาวนาน  เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ที่อาศัย แม้อยู่ในสภาพของเหลว หรือแห้งบนหลังคาหรือผนังแล้ว แถมติดตั้งได้ง่ายและสามารถใช้แปรงทา ลูกกลิ้ง หรือเครื่องพ่นน้ำได้อีกด้วย

2. เยื่อกระดาษ ฉนวนกันความร้อนใยเซลลูโลส (Cellulose)

เป็นการนำเยื่อกระดาษจากธรรมชาติหรือกระดาษนำกลับมาใช้ใหม่ จะทำให้มีแรงต้านทานต่อความร้อน และดูดซับความชื้น ป้องกันเสียงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดี มักใช้เทบรรจุเข้าไปในช่องผนัง เป็นแผ่นฉนวนบนเพดาน หากใช้แบบพ่นจะฉีดตามด้านใต้หลังคาและดาดฟ้า เนื่องด้วยฉนวนชนิดนี้มีความไวต่อน้ำ ไม่ควรนำไปใช้บนพื้นที่ที่มีการทำความสะอาดด้วยน้ำบ่อยครั้ง การผสมสารไม่ได้ปริมาณจะลดประสิทธิภาพลง และราคาจะสูงตามระดับความหนาของเยื่อกระดาษ

ฉนวนแบบพ่น

5. การติดตั้งฉนวนแบบแผ่น

เป็นการนำฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นที่มีความแข็งแรงมาติดกับผนังโดยทำการยึดด้วยอุปกรณ์ ซึ่งจะมีการติดตั้งอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ

  1. ติดตั้งภายนอกตัวบ้านหรืออาคาร มักเป็นฉนวนที่มีราคาสูง ทนน้ำและความร้อนได้ดี
  2. ติดตั้งภายในตัวบ้าน ซึ่งจะมีราคาถูกลงมา แต่ให้ประสิทธิภาพกันความร้อนด้อยกว่าแบบแรก ทั้งนี้สีของผนังยังสามารถลดความร้อนของแสงแดดได้

แบบผนัง

6. การดูแลฉนวนกันความร้อนชนิดต่าง ๆ

ฉนวนกันความร้อนนั้นมีหลากหลายชนิด จึงทำให้วิธีการดูแลในแต่ละประเภทของฉนวนแตกต่างกันไป โดยดูจากสภาพแวดล้อมของบ้านรวมถึงภายในตัวบ้านอีกด้วย หากบ้านที่ความร้อนสูง มีความชื้นบ่อยครั้ง หรือมีการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานจะทำให้ฉนวนมีอายุที่น้อยลงไปด้วย สามารถทำได้โดยการตรวจเช็กสภาพของฉนวน และพื้นที่โดยรอบว่า การติดตั้งมีความชำรุดเสียหายหรือไม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที หากมีสภาพปกติก็ควรทำความสะอาดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งหรือทุก 6 เดือน เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ได้ ตัวฉนวนกันความร้อน ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ในทุก 10-15 ปีตามสภาพการใช้งาน หากใช้งานเกินกว่าที่ผลิตภัณฑ์ระบุเอาไว้ อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

การดูแล

7. ข้อควรคำนึงก่อนติดตั้ง

ฉนวนกันความร้อนนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ชนิด และคุณสมบัติหากต้องการเลือกให้เหมาะสมกับตัวบ้านควรพิจารณาปัจจัยดังนี้

  1. งบประมาณในการติดตั้งฉนวนกันความร้อนมีมากน้อยเพียงใด เพราะจะส่งผลถึงคุณภาพของฉนวนโดยตรง
  2. พื้นที่ในการติดตั้ง จำเป็นต้องวัดระยะก่อนการซื้อฉนวนมาวาง โดยฉนวนหนึ่งม้วนจะมีพื้นที่โดยประมาณ 2.4 ตารางเมตร และความหนาของฉนวนควรให้ได้ 6 นิ้วจะเกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด 
  3. แสงแดด ต้องสังเกตให้เข้าใจชัดเจนว่าแสงที่ส่องลงมาสู่ตัวบ้านนั้นเกิดความร้อนตรงไหนมากที่สุด และมีความร้อนจุดอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อให้สามารถลงงบแก้ไขตรงจุดที่รับแสงได้อย่างถูกต้อง ควรใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงและรับกับสภาพอากาศได้ดีสำหรับจุดที่มีแสงมาก จากนั้นจึงมาแก้ไขในส่วนอื่นตามมา

คำแนะนำ
หากเลือกฉนวนกันความร้อนผิดจะทำให้บ้านได้รับความร้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้วัสดุเสื่อมสภาพเร็ว เนื่องจากฉนวนจะเก็บ และสะสมสิ่งสกปรก และเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ส่งร้ายต่อผู้อาศัยภายในบ้าน จึงจำเป็นต้องรู้จักตัวฉนวนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในระยะยาว ได้บ้านที่มีอากาศเย็นสบายแม้อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนแถมช่วยประหยัดไฟได้อีกด้วย

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร