Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ขนส่งระบบรางเชื่อมต่อระบบรอง เมืองนนท์ - ฝั่งธนฯ บูมแน่

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

โครงข่ายคมนาคมที่กระจายสู่เขตเมืองชั้นนอก โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าหลายๆ เส้นทางที่เชื่อมโยงจากนอกเมืองสู่ในเมือง และนอกเมืองสู่นอกเมืองที่อยู่คนละฝากฝั่ง ได้สร้างพื้นที่ความเจริญให้เกิดขึ้นกับเขตเมืองรอบนอก ไม่ว่าจะเป็นเมืองชั้นกลางหรือชานเมืองอีกหลายๆ พื้นที่ จากการเชื่อมโยงการเดินทาง ด้วยคมนาคมสายหลักและสายรอง ที่เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน

ล่าสุดจังหวัดนนทบุรี กำลังจะมีโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายรอง ซึ่งได้แก่รถบัสขนส่งมวลชน (Transit bus) อัจฉริยะ ที่ให้บริการโดย บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC สายแรกในเส้นทาง ราชพฤกษ์-ติวานนท์ (วงกลม) เพื่อขนคนจากพื้นที่ต่างๆ ป้อนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-บางใหญ่

นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นนทบุรีแล้ว ระบบรถบัสอัฉริยะสายนี้ยังจะเชื่อมโยง 3 พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดเข้าด้วยกันซึ่งจะอัพเลเวลให้เมืองนนท์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เชื่อม 3 ศูนย์เศรษฐกิจเมืองนนท์
ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมผังเมืองไทย กล่าวว่า ศูนย์กลางเศรษฐกิจของจังหวัดนนทบุรี มีอยู่ 3 แห่งใหญ่ๆ ได้แก่ ปากเกร็ด ซึ่งมีขนาดใหญ่สุด มีเซ็นทรัล กับ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ แกนของพื้นที่นี้ ได้แก่ จุดตัดของแจ้งวัฒนะ และติวานนท์ ที่มีรถไฟฟ้าสายสีชมพูรองรับ  และยังเชื่อมต่อไปยังดอนเมือง ที่มีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเขียว รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรองรับ ซึ่งจะส่งเสริมให้ปากเกร็ดกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่มาก จะมีการลงทุนออฟฟิศ และโรงแรม เพิ่มในพื้นที่อีกหลายโครงการ

ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งที่ 2 ของนนทบุรี คือ งามวงศ์วาน-รัตนาธิเบศร์ ที่มีเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน แม้ว่าในพื้นที่ดังกล่าวจะมีสต๊อกคอนโดมิเนียมเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็เริ่มที่ระบายออกสู่ตลาดได้มากขึ้น และคาดว่าในปีหน้าจะลดลงอีกมาก หลังจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ และยังมีแรงสนับสนุนจากรถไฟฟ้าถึง 3 สาย ได้แก่ สีชมพู สีม่วง และน้ำตลาดที่บริเวณแยกแคราย ซึ่งในพื้นที่ปริมณฑลมีอยู่ไม่มากที่เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้า 3 สาย  บวกกับการขนส่งทางเรือบริเวณท่าน้ำนนท์ จะทำให้ พื้นที่งามวงศ์วาน-รัตนาธิเบศร์ มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแยกแคราย

ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งที่ 3 ของนนทบุรี คือ ฝั่งตะวันตกของจังหวัดบริเวณ เซ็นทรัล เวสต์เกต และบางใหญ่ มีเซ็นทรัล เวสต์เกต เป้นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และเป็นจุดที่เชื่อมโยงระหว่างรถไฟฟ้าสีม่วง ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก และมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งเมืองจะเกิดขึ้นตาม Node  ได้แก่ แจ้งวัฒนะ แคราย บางบัวทอง โดยมีระบบขนส่งรองเชื่อมต่อเข้ากับระบบหลัก เชื่อมโยง 3 ศูนย์เศรษฐกิจเข้าด้วยกัน นนทบุรีจะเติบโตแบบกระชาก

เปิดเดินรถขนคนขึ้นรถไฟฟ้าสีม่วง

ด้าน ภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ​จังหวัดนนทบุรีมีนโยบายจัดระบบการเดินทางและระบบการสัญจร เพิ่มความสะดวกสบาย ส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างความปลอดภัย ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง และสร้างรูปแบบเมืองที่มีความยั่งยืน ตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด หรือ Smart Growth และ​เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทาง และสร้างรูปแบบเมืองนนทบุรีให้มีความยั่งยืน จังหวัดจึงกำหนดนโยบายการจัดการระบบการเดินทางและการขนส่งของจังหวัดนนทบุรี

ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและเพิ่มทางเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ได้แก่ การลงทุนศูนย์การเดินทาง 3 ศูนย์ ประกอบด้วย  ศูนย์การขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางศูนย์เศรษฐกิจถนนแจ้งวัฒนะ ศูนย์การขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางถนนรัตนาธิเบศร์ และศูนย์การขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางพื้นที่บริเวณนนทบุรีฝั่งตะวันตก บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้เอกชนลงทุนระบบขนส่งมวลชนรองทั้งรถฟ้ารางเบาและรถบัสขนส่งมวลชน (Transit bus) เชื่อมต่อระหว่างศูนย์เศรษฐกิจ สถานีรถไฟฟ้า และเชื่อมต่อระหว่างชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่กับศูนย์เศรษฐกิจ ​สำหรับการเปิดตัวโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนรองสายแรก ติวานนท์-ราชพฤกษ์ เป็นระบบ feeder ป้อนคนเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีชมพูในปี 2565

คาดว่าระบบขนส่งมวลชนรองสายแรกนี้ จะเพิ่มปริมาณผู้เดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 30 และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในพื้นที่บริการรถไฟฟ้ารัศมี 2.5 กิโลเมตรได้ร้อยละ 20 โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. ในราคา 24 บาทตลอดสาย

ปั้นแคราย-พระนั่งเกล้าพื้นที่ศก.ใหม่
ขณะเดียวกันจะมีการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจเพื่อสร้างให้เป็นเมืองแห่งการเดิน (Nonthaburi Walkable City) ลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเสริมสุขภาพ และจัดระบบการพัฒนาเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยดำเนินการในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนนทบุรี 1 (สนามบินน้ำ) และถนนรัตนาธิเบศร์

สำหรับ จังหวัดนนทบุรีมีศูนย์เศรษฐกิจจำนวน 6 ศูนย์ประกอบด้วย ศูนย์เศรษฐกิจรอบศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานี ศูนย์รอบเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ศูนย์เทศบาลนครปากเกร็ด ศูนย์รอบเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ศูนย์รอบเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ และศูนย์เซ็นทรัลเวสต์เกต  และยังมีศูนย์เศรษฐกิจขนาดกลางอีก 6 แห่งได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมนครนนทบุรีเดิม ศูนย์กระทรวงพาณิชย์และ ปปช. ศูนย์กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์เมืองบางใหญ่ ศูนย์เมืองบางบัวทอง และศูนย์บางกรวย

“นนทบุรีกำลังจะมีศูนย์เศรษฐกิจใหม่เพิ่มอีก 2 แห่งในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจการขนส่งแครายซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนผ่านการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และรถไฟฟ้าสายสีชมพู อีกศูนย์ได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจท่าเรือพระนั่งเกล้า ซึ่งจะเป็นศูนย์เชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วง ท่าเรือพระนั่งเกล้า และถนนรัตนาธิเบศร์” ภานุ กล่าว

ข้ามมาอีกฝั่งเมืองในย่านฝั่งธนบุรี บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี เนื้อที่รวม 120 ไร่ ได้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์คมนาคม 1 ใน 3 ของเมือง นอกเหนือจากสถานีกลางบางซื่อ และสถานีมักกะสัน ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ โดยในส่วนของสถานีธนบุรีจะมีรถไฟฟ้า 3 สาย เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี ที่มีสถานีศิริราชเป็น interchange หรือจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร  ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ บริเวณสถานีบางขุนนนท์ และช่วง หัวลำโพง-บางแค บริเวณสถานีอิสรภาพ ก็อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่มากนัก

เปิดพื้นที่สถานีธนบุรีผุดรร.-ศูนย์สุขภาพ

ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำที่ดินบริเวณสถานีธนบุรีเกือบๆ 22 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักพนักงานรถไฟมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เป็นโครงการนำร่อง โดยให้บริษัท บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบเบื้องต้น และรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) ไปเมื่อเร็วๆ นี้

วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้นำที่ดินบริเวณสถานีธนบุรี เนื้อที่ 22 ไร่  มาศึกษาเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น และทำ Market Sounding ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้

สำหรับรูปแบบการพัฒนาที่บริษัทที่ปรึกษาไดก้ทำการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นไว้ จะพัฒนาเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว และพื้นที่ค้าปลีก รองรับญาติและผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี เป็นโรงแรมสูง 13 ชั้น จำนวน 720 ห้อง ค่าห้องพักไม่เกินวันละ 1,000 บาท โดยในส่วนด้านหน้าจะเป็นมอลล์สูง 3 ชั้น พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 1,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ จะพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพ (Health & Wellness Center)จำนวน 280 ห้อง รองรับผู้ป่วยพักฟี้น และดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี ใช้เงินลงทุน 879 ล้านบาท และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และที่อยู่สำหรับผู้สูงวัย จำนวน 300 ห้อง เงินลงทุน 754 ล้านบาท รวมทั้งพัฒนาบ้านพักให้กับพนักงานรถไฟ จำนวน 315 ห้อง เงินลงทุน 425 ล้านบาท

วสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า จากการศึกษาพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมจะพัฒนาเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล เช่น ศูนย์พักฟี้น โรงแรม ที่พักอาศัย รีเทล เพราะเทรนด์ตลาดที่พักผู้สูงวัยและ เทรนด์ดูแลสุขภาพจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต  ขณะที่ราคาที่ดินบริเวณสถานีธนบุรีปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 220,000 บาทต่อตารางวา โดยในอนาคตราคาจะปรับขึ้นไปได้ถึง 500,000 บาท ต่อตารางวา เนื่องจากจะเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมระบบราง และธุรกิจเวลเนสที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งธนบุรี รองรับด้วยรถไฟฟ้า 3 สาย บริเวณสถานีธนบุรีจึงเป็นอีกศูนย์กลางความเจริญอีกแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร