Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

well being เทรนด์บ้านในอนาคต

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายคนคงจะคุ้นหูคำว่า Well-being กันมาเรื่อยๆ แต่ดูจะได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาด แล้วที่จริงเทรนด์ Well-being คืออะไรกันแน่ มีความเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของเราอย่างไร ทำไมมีแต่คนบอกว่า Well-being  คือเทรนด์บ้านในอนาคต เรามาทำความรู้จักกันครับ

Well-being คืออะไร

คำว่า ‘Well-being’ นั้นไม่ได้มีคำนิยามที่เป็นสากล แต่เป็นคำที่เข้าใจและมีความหมายประมาณว่าความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาวะที่ดีในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ซึ่งแต่ละส่วนมีความดังนี้

1. สุขภาวะทางกาย (Physical Wellbeing) หมายถึง การมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ 
2. สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) หมายถึง การไม่เครียด  การไม่วิตกกังวล การมีความพึงพอใจในชีวิต 
3. สุขภาวะทางสังคม (Social Wellbeing) หมายถึง การอยู่ร่วมกันด้วยดี มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมมีความยุติธรรม มีความเสมอภาค มีภารดรภาพ มีสันติภาพ เข้าถึงสวัสดิการ ระบบบริการสาธารณะที่ดี 
4. สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) หมายถึง การมีทักษะชีวิต การเรียนรู้ต่อเนื่อง มีโลกทัศที่ถูกต้อง มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) ด้วย เช่น การรู้ผิดชอบชั่วดี การไม่ยึดถือตัวตนอัตตา การเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งถ้ามีมิตินี้ทำให้มีการเป็นมนุษย์สมบูรณ์

Well-being เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างไร

เมื่อคนเราต้องการสุขภาวะที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แน่นอนว่าเราก็ย่อมต้องการที่อยู่อาศัยที่พร้อมตอบโจทย์สิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสะอาด การรักษาระยะห่างได้ การออกแบบฟังก์ชันบ้านให้สามารถใช้กันได้อย่างทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงการทำงานที่บ้าน และมุมผ่อนคลายต่างๆ เมื่อผู้บริโภคต้องการ ผู้พัฒนาอสังหาฯ โครงการต่างๆ ก็พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยนั่นเองครับ

เรามาดูกันครับว่าแล้ว Well-being อะไรบ้างที่โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ กำลังทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เลือกสรร

1. Universal Design

Universal Design  การออกแบบให้กับคนทุกๆ กลุ่ม โดยไม่ว่าจะเป็นเพศไหน วัยไหน สมรรถภาพร่างกาย ต่างๆ ได้ใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งประกอบไปด้วย 7 หลักการ คือ

1. การใช้งานอย่างเท่าเทียมกัน คือทุกคนในบ้านต้องใช้งานได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย เช่น ทางเข้าบ้านมีทางลาดสำหรับรถเข็น พื้นห้องน้ำไม่ลื่นเหมาะกับเด็กและคนสูงวัย

2. มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน คือสามาปรับเปลี่ยนฟังก์ชันให้เหมาะกับการใช้งานของทุกคนในบ้าน เช่น Digital Door Lock, ก๊อกน้ำโยกเปิดปิด โต๊ะและเก้าอี้ที่มีล้อเลื่อน เป็นต้น

3. ใช้งานได้ง่าย คือการออกแบบให้ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน สะดวกกับคนในบ้าน เช่น ตู้เก็บของในห้องครัวอยู่ในระยะพอดีไม่ต้องเอื้อมสูงหรือก้มต่ำไป, สวิตช์ ไฟที่มีแสง เมื่ออยู่ในที่มืดได้เห็นสวิตช์ ไฟได้ชัดเจน

4. ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย คือการออกแบบให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าคืออะไรและใช้อย่างไร เช่น การปรับเครื่องทำน้ำอุ่นด้วยการใช้สีที่คนเข้าใจทันที หรือติดป้ายไว้ที่สวิตช์ไฟว่าคือไฟอะไร

5. ลดความผิดพลาด คือการออกแบบเพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เช่น ติดตั้งราวจับในห้องน้ำและราวจับที่บันได

6. ไม่ต้องออกแรงมากก็ใช้ได้ คือการออกแบบให้ใช้งานได้ดี แม้จะออกแรงเพียงเล็กน้อย เช่น ติดตั้งประตูและหน้าต่างบานเลื่อนแบบระบบเซนเซอร์หรือระบบสัมผัส

7. ขนาดและพื้นที่ในการใช้งาน การออกแบบที่มีการจัดสรรขนาดของพื้นที่และขนาดของเครื่องใช้ที่เข้ากับสรีระของทุกคนในบ้าน เช่น เคาน์เตอร์ครัวควรลึก 60 เซนติเมตร และสูงจากพื้นถึงท็อป 90-105 เซนติเมตร 

บ้าน Well-being

2. Smart Home แบบ Touchless

บ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home ที่หลายโครงการกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การใช้แอปพลิเคชันในการสั่งเปิดปิดไฟ เปิดปิดโทรทัศน์ ตู้อบซักผ้าแบบฆ่าเชื้อโรค รวมถึงการทำความสะอาดบ้าน เช็คอุณหภูมิต่างๆ แม้กระทั้งเช็คของในตู้เย็น เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องเดินมาทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองแล้ว แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะเริ่มมีการเพิ่มเติมการรักษาระยะห่างและลดการสัมผัสยิ่งกว่าเดิมด้วย Touchless  เทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส เช่น การเข้าออกโครงการโดยไม่ต้องสัมผัสอะไร ใช้เพียงระบบเซนเซอร์ หรือสแกนใบหน้าแทน, ประตูห้องน้ำหรืออ่างล้างหน้าในพื้นที่ส่วนกลางใช้ระบบเซนเซอร์ โดยที่ไม่ต้องจับหรือสัมผัสอะไร เป็นต้น

บ้าน Well-being

3. Work From Home ได้สบาย

โควิด 19 คงเห็นได้ชัดว่า การทำงานอยู่บ้านของเรายาวๆ เป็นอย่างไร หากบ้านมีพื้นที่กว้างขวางคงไม่รู้สึกอึดอัดเท่าไร แต่ใครที่อยู่คอนโดห้องเล็กๆ คงรู้สึกอึดอัดไม่น้อย ฉะนั้นคอนโดห้องใหญ่ หรือทาวน์โฮมจึงได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากได้พื้นที่ที่มากกว่า แล้วสำหรับพื้นที่เท่าเดิมล่ะ อะไรกันแน่ที่อาจเปลี่ยนไป นั่นก็คือ โซนห้องนั่งเล่นครับ

หลายโครงการอาจมีการชูจุดเด่นในเรื่องการออกแบบปรับเปลี่ยนฟังก์ชันห้องที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจว่าสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้ง่าย เช่นเปลี่ยนเป็นห้องทำงานหรือห้องประชุมพร้อมวิดีโอคอลกับฉากสวยๆ หรือเปลี่ยนเป็นห้องไลฟ์ขายของ, ทำYoutube,​ ถ่าย Tiktok หรือจะเปลี่ยนเป็นห้องออกกำลังกายได้ง่ายขึ้นในยามที่ไปฟิตเนสหรือใช้พื้นที่ส่วนกลางไม่ได้ รวมถึงอาจให้ความสำคัญกับห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขกมากขึ้น เพื่อให้เราสามารถใช้พื้นที่ตรงนั้นทำงานแทนที่ห้องนอนที่เห็นเมื่อไรก็ง่วงทันที

บ้าน Well-being

4. ปลอดภัย อุ่นใจใกล้หมอ

เมื่อหลายคนตระหนักกันดีว่าการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ หรือหากเกิดโรคแล้วต้องได้รับการรักษารวดเร็วทันใจ สิ่งเรานี้นอกจากเริ่มที่ตัวเราแล้ว ต้องเริ่มจากที่อยู่อาศัยด้วย คงจะเห็นได้ว่าแต่ละโครงการเริ่มมีโปรโมชันบ้านสิทธิพิเศษ หรือบริการต่างๆ ที่ผูกอยู่กับโรงพยาบาลหรือสิทธิทางพยาบาลต่างๆ เช่น อยู่ในโครงการนี้แล้วได้ส่วนลดค่าตรวจสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล, บริการแพทย์และพยาบาลมาที่บ้านของเรา, ซื้อบ้านพร้อมประกันสุขภาพ, บริการปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นโดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปที่โรงพยาบาล เป็นต้น รวมถึงในอนาคตอาจมีบริการที่จะทำให้ลูกบ้านตรวจโรคต่างๆ ได้ทันทีอย่างมีชุด Kit ตรวจโรคเบื้องต้น, ชุด Kit ตรวจการแพ้อาหารเบื้องต้น

อีกทั้งมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นบริการหลังการซื้อขายก็มีมากมาย เช่น การพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ เป็นต้น

บ้าน Well-being

5. พื้นที่สีเขียว ที่ทำสวนผักได้

อาหารการกินอีกหนึ่งเรื่องที่เราต้องใส่ใจ เพื่อสุขภาพในด้านต่างๆ ที่ดี หากมีบ้านคงสามารถสร้างพื้นที่ปลูกผักปลอดสารกินเองได้ไม่ยาก แต่หากเป็นคอนโดคงทำได้อย่างมากก็คงเป็นสวนแนวตั้งริมระเบียงหรือพื้นที่เล็กๆ ฉะนั้นถ้าการออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่เราปลูกผักเองได้ก็คงจะดี เช่น ดาดฟ้า หรือพื้นที่สวนสาธารณะเดิม

บ้าน Well-being

6. ประหยัดพลังงาน

ทำงานอยู่กันนานๆ ยิ่งหน้าร้อนด้วย คงทำให้รู้แล้วว่าค่าไฟบ้านนั้นแพงเกินจะทนไหว คงจะดีถ้าบ้านมีระบบแอร์โฟลว์ช่วยระบายอากาศ ป้องกันบ้านร้อน รวมถึงผนังกันความร้อน หรือกระจกตัดเขียวกันแสงเข้าบ้าน ที่สำคัญถ้ามีโซล่าเซลล์ ช่วยกักเก็บพลังงานไว้ให้เราใช้ช่วยแบ่งเบาประหยัดค่าไฟในบ้าน ทำให้เราไม่ต้องเครียดหรือวิตกกังวลกับเรื่องค่าไฟฟ้ามากจนเกินไปด้วย และจะดียิ่งกว่าถ้าพื้นที่ส่วนกลางของโครงการก็มีการใช้โซล่าเซลล์มาช่วย จะได้ช่วยลดค่าส่วนกลาง สร้างความสบายใจ เสริมสุขภาวะทางจิตให้เราได้ดี

บ้าน Well-being

7. พื้นที่ส่วนกลางที่มีความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น

สุขภาวะทางสังคมสำคัญ แต่ต้องมาพร้อมความปลอดภัยสุขภาวะทางกายและจิตที่ดีด้วย ฉะนั้นส่วนกลางของแต่ละโครงการจึงถูกนำมาพิจารณาในมุมที่เปลี่ยนไปจากดูว่ามีอะไรบ้าง แต่ตอนนี้นอกจากดูว่ามีอะไรบ้างแล้ว เรายังดูว่าเราจะสามารถลดการสัมผัส รักษาระยะห่าง และสร้างความเป็นส่วนตัวได้เพิ่มเติมด้วยได้หรือไม่ เช่น มี Co-Working Space ที่ทำงานแบบคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่มเล็กๆ ได้หรือไม่, อุปกรณ์ในฟิตเนสมีระยะห่างที่พอดีกันหรือเปล่า, การเข้าออกส่วนกลางต่างๆ ลดการสัมผัสแบบ Touchless  หรือไม่ เป็นต้น

บ้าน Well-being

8. ชมบ้านเสมือนจริง

แม้ว่าจะสมัยก่อนจะมีการหาข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยที่จะซื้อในออนไลน์กันก่อนอยู่แล้ว แต่เป็นการเก็บข้อมูลในระดับหนึ่ง แล้วถึงจะลงพื้นที่ดูบ้านจริงๆ แต่ในเมื่อไปดูบ้านจริงๆ ได้ยาก การดูบ้านออนไลน์เสมือนจริงจึงเริ่มขึ้น ทั้งรูปแบบ 360 องศา, ดูบ้าน 3 มิติ, ดูบ้านแบบ VR และดูบ้านด้วยเทคโนโลยี Mixed Reality (MR) เทคนิคการนำภาพดิจิทัลกราฟิกมาซ้อนทับกับสภาพแวดล้อมรอบข้างได้สมจริง เป็นต้น เพื่อให้เสมือนไปลงพื้นที่จริง และตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ปลอดภัยรักษาระยะห่าง และงดการเดินทางได้ดีมากขึ้น

บ้าน Well-being

ตอนนี้หลายโครงการเริ่มนำกระแส Well-being มาปรับใช้ในการออกแบบและชูจุดเด่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและช่วยคลายความกังวลใจให้ผู้ที่จะซื้อกันแล้ว ใครที่กำลังมองหาอยู่ว่าเทรนด์อะไรที่มาแน่และอยากสัมผัสเทรนด์เหล่านั้น เพื่อเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้ชีวิตเราได้ อย่าลืมมองหาโครงการที่มีการทำเทรนด์ Well-being มาใช้กันนะครับ


ขอบคุณข้อมูล [1], [2]

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร