Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

UddC ผนึก สสส. ปลุกคน กทม. 'เดิน' เปลี่ยนเมือง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

BTS เสียรายวัน กลายเป็นประเด็นพีคที่สุดของคนกทม. ณ เวลานี้  ก็จะไม่พีค ไม่พูดถึง ไม่อารมณ์เสีย ยังไงไหว เมื่อการเดินทางของคนกทม.ทุกวันนี้ รถไฟฟ้าทั้ง BTS-MRT คือสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวันไปแล้ว แม้จะต้องจ่ายแพงกว่าระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น เขาก็พร้อมยอมแลกกับเวลาที่จะได้กลับคืนมา เมื่อรถไฟฟ้ามีอาการเสีย ติดขัด ทำให้เดินทางไม่สะดวกก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตในวันนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ออก 

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คนกรุงส่วนใหญ่ผูกติดกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแบบแยกกันไม่ออก บางคนถึงขั้นยอมลางาน เมื่อรถไฟฟ้าเสีย เพราะเมื่อต้องไปเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นแล้วอาจทำให้ชีวิตในวันนั้นของเขาเปลี่ยนไปทันที และหากมองให้ลงลึกไปถึงแก่นของปัญหาจริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน หลังจากคนเมืองยอมศิโรราบให้กับรถยนต์ ถนนหนทาง มากกว่าที่จะใช้เท้าของเรา 'เดิน'  

เพราะรถไฟฟ้าก็คือระบบขนส่งที่เข้ามาแก้ปัญหาการจราจรที่หนักหนาสาหัส จากปริมาณรถที่มากกว่าเนื้อถนน เช่นเดียวกับ สะพานลอย ที่เข้ามาแก้ปัญหารถติด เพื่อให้รถวิ่งได้ flow ขึ้น ไม่ต้องหยุดบ่อยๆ เวลาคนเดินข้ามถนน  หากในวันนั้นเมื่อนานมาแล้ว เรายึดมั่นกับการเดินด้วย 2 เท้าของเรามากกว่าการเคลื่อนไปกับล้อยาง เมืองและบริบทต่างๆ ของเมืองจะเปลี่ยนไปแตกต่างจากวันนี้อย่างสิ้นเชิง 

แม้วันนี้ปัญหาจะหยั่งรากลึก และซับซ้อน จนนึกไม่ออกว่าจะแก้ไขมันอย่างไร และจะเริ่มจากตรงไหน แต่ในระยะ 3-5 ปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในการที่จะฟื้น การเดินและเมืองที่เหมาะกับการเดินให้คืนกลับมาอีกครั้งภายใต้โครงการ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี โดยมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันผลักดันโครงการนี้จนเริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม

การปล่อยให้รถยนต์และถนนมีบทบาทสำคัญต่อการสัญจรของมนุษย์แทนการเดินเท้ามาอย่างเนิ่นนานได้ส่งผลต่อชีวิต และทรัพย์สินของเราอย่างคาดไม่ถึง ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือสสส. อธิบายว่า ประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการเดินคือ ทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันคนเมืองกรุงเดินน้อยลง ทำให้คนกรุงเทพฯ อ้วนลงพุง เพราะใน 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง จะใช้เวลาอยู่กับการนั่งนานถึง 13 ชั่วโมง เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนน กับสถานที่ทำงานเป็นเวลานาน ทำให้ 44% ของคนเมืองเป็นโลกอ้วน การเดินให้มากขึ้นจึงจะช่วยในด้านของสุขภาพให้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ การเดินยังช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น เพราะใช้รถน้อยลง ควันเสีย ที่เป็นมลภาวะจึงน้อยลงไปด้วย ที่สำคัญ การเดินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน เพราะเมื่อคนเราเดินกันมากขึ้น จะเกิดการปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ เกิดการซื้อขายสินค้าในชุมชน แทนการไปจอดรถซื้อตามห้างสรรพสินค้า และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การเดินทำให้เราได้พบเจอคนมากขึ้น จากที่เคยครองชีวิตโสดใช้ชีวิตอยู่แต่ในรถเป็นเวลานาน การเดินจะเพิ่มโอกาสในการพบปะผู้คน พบเนื้อคู่ หรือคู่ครองก็จะมีมากขึ้นไปด้วย 
การเดิน จึงทำให้สภาวะคนโสดลดน้อยลงไปด้วย แบบไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่มันก็คือ เรื่องจริง 

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี เสริมว่า การเดินถือเป็นต้นทุนพื้นฐานของการใช้ชีวิตในเมือง "ยิ่งเดินมาก ยิ่งได้มาก" โครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี จึงเป็นการจัดการต้นทุนพื้นฐานที่เรามีอยู่ การเป็นเมืองน่าอยู่ คือ เมืองที่ทุกคนมีโอกาสหาความสุขอย่างเท่าเทียมกันได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ ถ้าไปดูเมืองที่เอื้อต่อการเดินจะพบว่า จะต้องเป็นเมืองที่กระชับ มีการใช้ประโยชน์อย่างผสมผสาน (Mixed Use) ที่อยู่ ที่กิน ที่ทำงาน ที่จับจ่ายใช้สอย จะถูกออกแบบให้เดินได้สะดวก อยู่ในระยะที่เดินถึง เดินได้อย่างน่ารื่นรมย์

ประโยชน์ที่เราจะได้จากการเดินมีอะไร ผศ.ดร.นิรมล ขยายความต่อว่า ถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจของเมือง การเดินจะทำให้ร้านค้าเล็กๆ ในชุมชนจะมีมูลค่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากความถี่ในการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น ร้านค้าเล็กๆ ในถิ่นจะอยู่ได้ ถ้าสามารถออกแบบเมืองให้สามารถเดินได้ในทุกสภาพอากาศ ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ก็ยังสามารถขายของได้จะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า คน Gen M (Millennial Generation) 49% จะเลือกอยู่ในเมืองที่สามารถเดินได้ ซึ่งจะมีผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ และจะเกิดนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในเมืองมากขึ้น ส่วนในทางสังคม การเดินจะช่วยสร้างพื้นฐานของความรักในท้องถิ่นเป็นพื้นฐานของการสร้างชุมชนที่ปลอดภัย และการเดินจะทำให้เกิดความรู้สึกที่เท่าเทียมกันในสังคม 

โครงการดังกล่าวดำเนินการมาแล้ว ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาศักยภาพของและจัดทำแผนที่ดัชนีชี้วัดศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 เป็นการกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับใช้เป็นพื้นที่นำร่องและการดำเนินการสำรวจพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางในการออกแบบ และปัจจุบันโครงการกำลังดำเนินการในระยะที่ 3 คือ การเสนอผังการพัฒนาพื้นที่นำร่องให้เหมาะสมกับการเดินที่สามรรถนำไปปฏิบัติได้จริง 

สำหรับ 3 พื้นที่ นำร่องได้มีการกำหนดเป้าหมายในการเดิน ได้แก่ ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ สร้างการเดินเพื่อสร้างพลวัตและชีวิตชีวาของย่าน  ย่านทองหล่อ-เอกมัย เดินเพื่อขยายพื้นที่ชีวิตของคน และย่านคลองสาน-ท่าดินแดง เดินเพื่อฟื้นฟูต้นทุนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น  ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูเมืองจะทำในลักษณะของการฝังเข็มเมือง ภายใต้แนวคิด ทำน้อย ได้มาก คือ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพให้น้อยที่สุด แต่ให้ได้ผลลัพธ์หรือผลกระทบทางบวกให้ได้มากที่สุด โดยในแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการในการส่งเสริมให้เกิดการเดินขึ้น เช่น การปรับปรุงโครงข่ายการเดิน เปิดพื้นที่แบ่งบัน  เพิ่มซอยลัด รวมไปถึงการลดอำนาจของถนน เพิ่มอำนาจการเดินเท้า เพิ่มกิจกรรมบนถนนสายสำคัญและเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่พัฒนาโดยเอกชน เป็นต้น
นอกจาก 3 ย่านนำร่องแล้วในอนาคตจะเพิ่มอีก 5 ย่าน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย ย่านสยาม-ปทุมวัน ย่านราชประสงค์-ประตูน้ำ ย่านสีลม-สาทร ย่านอโศก-เพชรบุรี ย่านพร้อมพงษ์ รวมทั้งการขยายออกไปสู่เมืองทั่วประเทศไทยกว่า 24 เมือง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น หากโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่ หน่วยงานรัฐและเอกชน หลายพื้นที่ในเมืองหลวงจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเดินมากยิ่งขึ้น 

ถึงวันนั้น รถไฟฟ้าจะเสียสักกี่ครั้งต่อวัน เราก็อาจจะไม่รู้สึกว่า มันคือปัญหาสำหรับเรา ถ้าเราเริ่มที่จะก้าวเดินให้มากยิ่งขึ้นตั้งแต่วันนี้

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร