Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

EEC ศูนย์กลางใหม่ของทวีปเอเชีย

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

 

เชื่อว่าหลายๆท่าน คงเคยได้ยินคำว่า EEC มาบ้างแล้ว ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งทาง วิทยุ โทรทัศน์ หรือโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงจากนโยบายของภาครัฐบาลเองที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปยัง Eastern Economics Corridor หรือ EEC แล้วจริงๆ EEC คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? และจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหน? วันนี้ Baania จะขอนำเสนอรายละเอียดของโครงการนี้เพื่อความกระจ่างกันครับ

ในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2524 รัฐบาลได้กำหนด “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก Eastern Seaboard”  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย โดยมีบริเวณแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่เป้าหมายในระยะแรก สำหรับการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์  เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสู่จังหวัด รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ชลบุรีเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์และคลัสเตอร์ โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรม 5 ด้าน ได้แก่  

  • ยานยนต์และชิ้นส่วน
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม
  • ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • เกษตรแปรรูป

ต่อมา มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ได้เห็นชอบหลักการ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development : EEC)” ที่กำหนดให้จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง เพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในหลักการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)

ด้วยทำเลของประเทศไทยที่เป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย จากเหนือสู่ใต้ ตั้งแต่จีนลงสู่อินโดนีเซีย จากตะวันออกมายังตะวันตก ตั้งแต่เวียดนามถึงพม่า และเป็นจุดยุทธศาสตร์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในด้านการผลิต การค้า การส่งออกและการขนส่ง และประเทศไทยยังตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ประเทศไทยจึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียน 

EEC คืออะไร ?

Eastern Economic Corridor หรือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี – ระยอง) เป็นประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย เสริมสร้างศักยภาพพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล และเชื่อมเมืองชายฝั่งสู่การพัฒนาเมืองตอนใน

กว่า 30 ปีที่ Eastern Seaboard บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ครอบคลุมจังหวัด สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับทั่วโลก เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย เป็นฐานการผลิตยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก พร้อมท่าเรือน้ำลึกและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เป็นแหล่งจ้างงานและแรงงานทักษะสูงที่สำคัญของเอเชีย EEC จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด และมีศักยภาพสูงที่สุดในการพัฒนาต่อยอดเพื่อก้าวเป็นผู้นำของเอเชียต่อไป

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความตั้งใจที่จะผลักดัน พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง โดยยกระดับขึ้นเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC บนพื้นที่กว่า 13,000 ตร.กม. ที่พร้อมจะเป็นเขตศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมในอนาคตและเป็นที่ตั้งของสำนักงานระดับภูมิภาคของบริษัทชั้นนำของโลก เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การขนส่ง และเพื่อยกระดับ ประเทศไทย สู่หัวใจของการเป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจเอเชียในทศวรรษที่จะมาถึง เพื่อขยายระบบการ คมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างเต็มรูปแบบ และครบวงจร มากที่สุดในประเทศไทย โดยแบ่งการพัฒนาในหลายด้าน ดังนี้

การพัฒนาทางอากาศ

ท่าอากาศยานอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3 ล้านคน/ปี พร้อมทั้งได้รับการยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติ และเป็นศูนย์กลางการซ่อมอากาศยานที่ทันสมัยที่สุด รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบินต่างๆ บนพื้นที่ 575 ไร่ เพื่อประสานกับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ จะส่งผลให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชีย

การพัฒนาทางบก

ภายในปี 2020 นี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเชื่อมต่อพื้นที่ เริ่มจาก

  • โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อมต่อสนามบินนานาชาติหลัก 3 แห่ง คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
  • รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรม กับท่าเรือทั้ง 3 แห่ง
  • โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. รองรับการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างท่าเรือ แหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด และรองรับท่าอากาศยานอู่ตะเภา
  • โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 61 สายแหลมฉบัง-นครราชสีมา ระยะทาง 288 กม.
  • โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 72 สายชลบุรี - ตราด ระยะทาง 216 กม.

การพัฒนาทางน้ำ  

ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือหลักในการขนส่งตู้สินค้าและรถยนต์ จะได้รับการขยายให้มีศักยภาพ รองรับจำนวนตู้สินค้าได้มากขึ้นถึง 18 ล้าน TEU ต่อปี และรองรับส่งออกรถยนต์ 3 ล้านคันต่อปี  ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบัง ก้าวขึ้นเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า อันดับ 1 ใน 15 ของโลก เป็นประตูสู่อินโดจีน ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้า ที่สำคัญที่สุดของอาเซียน 
ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 สำหรับเรือสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลังงาน รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงของประเทศ มูลค่า 360,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ให้เป็นท่าเรือสำหรับจอดเรือเฟอร์รี่และเรือสำราญที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเรือ การประกอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน พัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อเชื่อมต่อจุดท่องเที่ยวหลัก และเชื่อมการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะส่งผลให้ EEC กลายเป็นศูนย์กลาง การคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียอย่างครบวงจร  รองรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน/ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 4,600 ล้านบาท

จุดเปลี่ยนที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม ทันสมัยและธุรกิจการค้า ที่ครบวงจรที่สุด โดยเน้นส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมหลัก  (S-CURVE) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย

การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-CURVE) ได้แก่

  • อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง
  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

และเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-CURVE) ได้แก่

  • อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทั้งสำหรับภาคอุตสาหกรรม และใช้งานในชีวิตประจำวัน
  • อุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ชิ้นส่วนอะไหล่  รวมทั้งศูนย์ฝึกการบิน
  • อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร
  • อุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี โดยเฉพาะเคมีชีวภาพ ในด้านพลังงาน นอกจากนี้ยังได้ขยายเขต อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ปิโตรเคมีที่มาบตาพุดให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้รวมไปถึงการจัดตั้งเขตปลอดภาษีอากร บริเวณท่าเรือและสนามบิน ตลอดจนจัดตั้งเขตเสรีทางการค้าพิเศษที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดทางภาษี และทางการเงิน เพื่อให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ ศูนย์บริหารเงิน ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาค ของบริษัทชั้นนำต่างๆ รวมไปถึงการจัดตั้งเขตนวัตกรรม และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล นอกจากการยกระดับอุตสาหกรรมหลักต่างๆ แล้ว ยังมุ่งส่งเสริมและสร้างความพร้อมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค อีกทั้งยังยกระดับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการแพทย์แบบครบวงจร เพื่อความสมบูรณ์แบบของการใช้ชีวิตของทุกคนในพื้นที่อีกด้วย

การพัฒนา 4 เมืองใหม่ คือ ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง และพื้นที่ที่จะเป็นมหานครแห่งใหม่ จะมีการจัดวางระบบผังเมืองที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยในระดับสากล โดยคำนึงถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ และมีความกลมกลืนกับวัฒนธรรมในพื้นที่และธรรมชาติอย่างลงตัว เพียบพร้อมด้วยระบบสากลและสาธารณูปโภค นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ตอบรับกับการชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ

การพัฒนา EEC จะดำเนินการภายใต้ พรบ.พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นพรบ.พัฒนาพื้นที่ฉบับแรกของไทย ที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง การลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยจะให้สิทธิประโยชน์ในระดับสูงที่สุดแก่นักลงทุน รวมทั้งจัดให้มีระบบ One-Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ในการให้บริการข้อมูลข่าวสาร การขออนุญาต ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการค้า การส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ในโครงการที่สำคัญ ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากกองทุน เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย

EEC จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการลงทุนแห่งอนาคตอย่างชัดเจน ที่จะเป็นมหานครเมืองใหม่ ที่จะเปิดประตูสู่เศรษฐกิจไทย สู่ความสำเร็จในอาเซียน ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของทวีปเอเชีย และตอบโจทย์อนาคตที่สวยงามของการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของนักลงทุน และคนไทยทุกๆ คน

บทความที่น่าสนใจ : 

Neighborhood Guide: เมืองนนท์

แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย "เมืองนนท์"

วิเคราะห์ราคาบ้านและคอนโดรอบ 16 สถานีสายสีม่วง

ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2560

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร