Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

Better City, Better Living for Better Life: 30 ปีที่รอคอย

11/7/2018
x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ตอนนี้ผมกำลังเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็นลอดใต้ทะเลที่ระดับความลึก 240 เมตรจากระดับน้ำทะเลผ่าน Seikan Tunnel อุโมงค์รถไฟลอดใต้มหาสมุทรเชื่อมละหว่างจังหวัดอาโอโมริเกาะฮอนชูกับเกาะฮอกไกโด ระยะทางของอุโมงค์ 53.85 กิโลเมตร โดยมีระยะทางที่อยู่ใต้ทะเล 23.3 กิโลเมตร

โครงการอุโมงค์รถไฟใต้ทะเลนี้เดิมทีเกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเดินทางข้ามช่องแคบ Tsugaru ที่ต้องเผชิญภัยจากธรรมชาติ โดยในเดือนกันยายนปี 1954 เกิดพายุใต้ฝุ่นทำให้เรือบรรทุกผู้โดยสารอับปางมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน จึงเกิดโครงการที่ท้าทายทางวิศวกรรมครั้งใหญ่ของประเทศในการขุดอุโมงค์ทางรถไฟเชื่อมละหว่างเกาะทั้งสอง ทางรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มองแต่เพียงมิติความปลอดภัยของประชาชนเท่านั้นแต่ยังเล็งเห็นถึงการกระจายตัวทางเศรษฐกิจไปสู่เกาะทางเหนือของประเทศ



โดยโครงการเริ่มก่อสร้างในปี 1964 และรถไฟขบวนแรกที่รอดผ่านใต้ทะเลมาให้ประชาชนบนเกาะฮอกไกโดได้เห็นใน ปี 1988 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 24 ปี เงินลงทุนกว่า 6.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานให้กับประชากร 14 ล้านคน นอกจากใช้ขนส่งคนแล้วยังใช้ขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาค

แม้จะมีเส้นทางรถไฟเชื่อมกันแล้วแต่ด้วยระยะทางจากปลายอุโมงค์ฝั่งฮอกไกโดไปสู่เมืองซัปโปโรเมืองหลวงของเกาะยังต้องใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ด้วยความเป็นประเทศพัฒนา (คือไม่หยุดที่จะพัฒนา) จึงมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากอาโอโมริ-ซัปโปโร เป็นเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี จากรถไฟขบวนแรกที่ลอดผ่านอุโมงค์ใต้ทะเลมาสู่เกาะเหนือ รถไฟความเร็วสูงขบวนแรกก็ได้ข้ามฝากมาปรากฏให้เห็นในปี 2016 สู่ปลายทางที่สถานี Shin-Hakodate สถานีรถไฟแห่งใหม่ที่ถูกวางแผนให้เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากทางใต้ของเกาะให้ไปถึงเมืองซัปโปโรที่อยู่ตอนกลาง ตลอดแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะเกิดสถานีแห่งใหม่ขึ้นคาดว่าจะนำความเจริญและกระตุ้นเศรษฐกิจไปตามเส้นทาง คาดว่าโครงการจะเสร็จในปี 2031



ตอนนี้ไปตามสถานีรถไฟใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นจะเห็นป้ายเชิญชวนให้นั่งรถไฟไปท่องเที่ยวฮอคไกโดด้วยชินคันเซ็น โครงการนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่มีแผนแม่บทที่ชัดเจนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยว หรือทีเรียกว่า MLIT (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) เป็นเจ้าภาพคอยกำกับดูแล เมื่อมีแผนที่ชัดเจนแม้จะเกิดความคาดเคลื่อนจากปัจจัยอื่น ๆ บ้างแต่ประชาชนเขาก็เข้าใจและรอได้แม้จะผ่านไปหลายสิบปี

 



เขียนโดย: มนต์ชัย บุญยะวิภากุล 
นักคิด นักเขียน นักเดินทาง นักธุรกิจ
ผู้เชียวชาญด้านการบริหารจัดการหลักสูตรสถาปัตยกรรม
อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

11/7/2018

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร