Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

6 วิธี อยู่บ้าน-คอนโด ในพื้นที่ฝุ่นพิษ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ใครๆ ก็อยากสัมผัสทะเลหมอก แต่หมอกยามเช้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลขณะนี้ มิใช่หมอกที่มากับฤดูหนาวแต่อย่างใด แต่กลับเป็นภัยร้ายที่ทำลายระบบร่างกายเราได้อย่างคาดไม่ถึงที่เรียกว่า "ฝุ่นพิษ"

ฝุ่นพิษ เป็นฝุ่นขนาด PM 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลองจินตนาการเทียบกับเส้นผมของคุณก็ได้ เพราะเจ้าฝุ่นนี้เล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมถึง 25 เท่า จนขนจมูกไม่สามารถกรองไว้ได้ แปลว่าเมื่อฝุ่นหลุดเข้าไปที่จมูกมันจะเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ทันที เห็นแบบนี้แล้ว Baania รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยผู้ที่มีที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ฝุ่นมลพิษ จึงได้นำวิธีป้องกันตัวเองมาบอกกันครับ

ฝุ่นพิษหรือหมอกควันคืออะไร

ก่อนจะไปรู้วิธีป้องกันฝุ่นพิษเมื่ออยู่บ้านหรือคอนโด เราไปทำความรู้จักกับเจ้าฝุ่นร้ายตัวนี้กันก่อน เพราะเมื่อต้นปีก่อน (พ.ศ. 2561) ฝุ่นพิษนี้เคยดังระเบิดในไทยไปหนึ่งรอบในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากอากาศนิ่งและปิด เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนหรือฝนตกถี่ๆ ฝุ่นพิษจึงเบาบางลงไป แต่ในปีนี้เหตุการณ์ฝุ่นพิษกับทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเก่า ซึ่งเหตุที่รุนแรงมากขึ้นก็มาจากมนุษย์ชาวเราสร้างมลพิษขึ้นมานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รถยนต์ที่ปล่อยควันกันอยู่ทุกวัน รวมถึงการก่อสร้างถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง หรือระบบคมนาคมต่างๆ รวมถึงยังมาจากพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งแจ้ง ไปจนถึงควันบุหรี่อีกด้วย

สำหรับพื้นที่อันตรายที่ฝุ่นพิษจัดหนักในตอนนี้ก็คือเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่างๆ โดยสามารถเช็กสถานการณ์ฝุ่นพิษรายวันและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ที่ กรมควบคุมมลพิษ หรือโหลดแอปพลิเคชัน Air Visual มาเลือกจุดมาร์คโลเคชันแล้วเช็กได้ทันที หากพบว่าอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ถือว่ามีมลพิษเกินมาตรฐาน ควรป้องกันและหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่นั้นๆ จะดีกว่า

อันตรายที่ต้องระวัง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 1 ใน 8 ของประชากรโลก และจากการศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า ปัจจุบันมลพิษอากาศในประเทศไทยเป็นตัวการสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงราว 50,000 รายต่อปี ที่สำคัญผู้คนที่อยู่ในไทยยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบพบว่า มีพื้นที่ 14 แห่งทั่วไทยที่มีค่ามลพิษเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก และในปีนี้คาดว่าระดับมลพิษในอากาศจะทวีสูงขึ้นไปอีกจนเป็นอันตรายมากขึ้น ด้วยฝุ่นที่มีขนาดเล็กและเบามาก ทำให้ฝุ่นลอยเคว้งอยู่ในอากาศ และทำให้คนสูดฝุ่นพิษเข้าไปซึ่งจะเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ภาวะสโตรค ปอดติดเชื้อ และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น 

อีกทั้งฝุ่นขนาด 2.5 PM ยังแฝงไปด้วย P-A-Hs  สารพิษชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง, สารปรอทที่ทำลายระบบประสาท มะเร็ง และความผิดปกติทางพันธุกรรม, สารหนู อาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง มึนชา อยากอาเจียน และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้ รวมถึงแคดเมียม ซึ่งจะเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร และกระดูก

สำหรับกลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษมากที่สุด 4 กลุ่ม ได้แก่

  • เด็กยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยง เพราะปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา และมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงกว่าผู้ใหญ่
  • หญิงมีครรภ์  อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำ รวมทั้งยังเสี่ยงที่จะแท้งมากขึ้น
  • ผู้สูงวัย เพราะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ อาจทำให้โรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจกำเริบได้ง่าย
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบปอดหรือโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากโรคจะกำเริบได้ง่าย

คนอยู่คอนโดฯ หรือบ้านในเขตฝุ่นมลพิษควรทำอย่างไรดี

สภาวการณ์ฝุ่นพิษจะเบาบางลงได้ เมื่อมีฝนตกลงมา เพราะน้ำฝนจะช่วยชะล้างฝุ่นพิษในอากาศลงสู่พื้นดินแทนที่จะลอยในอากาศให้เราสูดดม ในระหว่างที่ฝนยังไม่ตกบ่อยๆ ทุกคนควรป้องกันตัวเองด้วยหน้ากาก N95 แต่สำหรับคนที่มีที่พักอาศัยอยู่ในเขตมีฝุ่นพิษนั้น วันนี้ Baania มีวิธีมาแนะนำกันครับ

  • ใช้เวลาอยู่ภายในที่พักอาศัยหรืออาคารให้มากขึ้น ใครที่ชื่นชอบการไปออกกำลังกลางแจ้ง ลองเปลี่ยนมาออกกำลังกายในฟิตเนสที่บ้านหรือคอนโดมิเนียมแทน เพื่อลดความเสี่ยงกับฝุ่นพิษภายนอก
  • ปิดหน้าต่าง แล้วปรับโหมดเครื่องปรับอากาศใหม่ ให้ปรับเครื่องปรับอากาศเป็นโหมดใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนการดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา 
  • ซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีเครี่องกรองอนุภาคฝุ่นละอองสูง เพื่อลดระดับอนุภาคภายในอาคาร 
  • เลือกอยู่คอนโดฯ​ ชั้นสูงๆ หากกำลังเล็งว่าจะซื้อคอนโดในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่กลัวฝุ่นพิษ แนะนำว่า ลองเลือกอยู่ในชั้นสูงๆ ขึ้นไปดีกว่าครับ เพราะฝุ่นพิษจะลอยเป็นแนวดิ่งสูงขึ้นไปได้ถึง 100 เมตร เมื่อไปปะทะกับอากาศข้างบนที่ร้อนกว่าจากแสงอาทิตย์ จะดันฝุ่นให้กลับลงมา สำหรับผู้ที่อยู่ชั้นต่ำลงมาแนะนำว่า ในช่วงนี้ให้ปิดหน้าต่างไปก่อนครับ อย่าเพิ่งเปิดรับอากาศหรือออกไปสูดอากาศธรรมชาติกันเลย
  • อย่าให้บ้านมีควัน ต้องคอยดูแลให้บริเวณแวดล้อมบ้านปราศจากควัน และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่มีการเผาไหม้ เช่น เทียน การปิ้งย่าง หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำให้เกิดควัน
  • ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ ใครที่อยู่บ้านแนวราบ แนะนำว่า ให้ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศเพิ่ม เพราะต้นไม้สามารถดูดสารพิษด้วยกรรมวิธีการคายน้ำ โดยจะทำการดูดก๊าซพิษที่อยู่รอบๆ ลงสู่ดิน อีกทั้งรากจะเปลี่ยนสารพิษเป็นอาหารของพืชได้ เช่น ต้นลิ้นมังกร ต้นเดหลี ต้นจั๋ง ต้นบอสตันเฟิร์น ต้นปาล์มไผ่ ว่านหางจระเข้  ต้นสาวน้อยประแป้ง ต้นไอวี่ ต้นสัตบรรณ ต้นไทรใบใหญ่ ต้นวาสนา ต้นหมากเหลือง ต้นเบญจมาศ เป็นต้น

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ให้ข้อแนะนำว่า การลดภาวะฝุ่นพิษเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน หนทางที่ทำได้เร็วที่สุดในตอนนี้ คือ ลดน้ำในบริเวณบ้าน เพื่อลดฝุ่น ในระยาวจะต้องมีการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองฝุ่น สำหรับโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียม การมีพื้นที่สีเขียว และมีสระน้ำในโครงการจะช่วยลดปัญหาเรื่องฝุ่นภายในโครงการได้ ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมควรเลือกอยู่ในชั้นที่สูงๆ ขึ้นไปหน่อย จะช่วยลดปัญหาเรื่องฝุ่นได้

แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะขึ้นลงตามสภาพอากาศ  แต่อย่างไรเสีย มลพิษทางอากาศบ้านเราคงจะเป็นปัญหาที่จะยังอยู่กับเราไปตลอด ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ ทางที่ดีควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข เมื่อฝุ่นพิษ และมลภาวะทางอากาศก่อให้เกิดอันตรายต่องร่างกายของเราแล้วนะครับ

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก กรมอนามัย
 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร