Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

5 ขั้นตอนยื่นกู้ซื้อบ้านให้ผ่าน ไม่ยากอย่างที่คิด

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ยื่นกู้ซื้อบ้านหรือขอสินเชื่อบ้าน ขั้นตอนหนึ่งของการมีบ้านในฝัน แต่ไม่ได้มีเงินก้อนโต และต้องการซื้อบ้านด้วยเงินผ่อน เรื่องแบบนี้ต้องให้ธนาคารช่วยเราด้วยการขอสินเชื่อบ้านโปรโมชันดีๆ ที่เหมาะกับตัวเรา ความสามารถในการผ่อนของเรานั่นเอง แต่ขั้นตอนในการยื่นกู้ซื้อบ้านนั่นมีขึ้นตอนอย่างไรบ้าง เรามาอ่านกันครับ

ซึ่งก่อนที่เราจะยื่นใบนำขอสินเชื่อบ้านนั้น เราจะต้องศึกษาโปรโมชันสินเชื่อที่ต้องการจะกู้ซื้อบ้านให้เรียบร้อยก่อนนะครับ ท่องไว้ว่าเราจะต้องผ่อนค่าบ้านและดอกเบี้ยไปอีกหลายสิบปี หรืออย่างต่ำก็ 3 ปีถึงจะขอรีไฟแนนซ์ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะดอกเบี้ย วงเงิน เงื่อนไขต่างๆ จะต้องดูมาอย่างละเอียดแล้ย ที่สำคัญเราจะเตรียมเอกสารยื่นขอสินเชื่อเรียบร้อยด้วย เผื่อให้การยื่นของเรารวดเร็ว และเมื่อเตรียมทุกอย่างที่เล่ามาแล้วครบถ้วนก็ถึงเวลาในการซื้อกู้ซื้อบ้านกับธนาคารที่หมายปองไว้กันแล้วละครับ โดยขั้นตอนหลักๆ ในการกู้ซื้อบ้านมีดังนี้

1. ทำเรื่องยื่นคำกู้สินเชื่อบ้านที่สาขาธนาคารที่ต้องการ

ขั้นแรกเลยเราต้องเดินทางหรือติดต่อธนาคารที่เราจะกู้สินเชื่อทั้งทางออนไลน์หรือสาขาธนาคารนั้นๆ เพื่อยื่นคำขอสินเชื่อพร้อมเอกสารประกอบนั่นเองครับ หลังจากนั้นพนักงานจะติดต่อกลับมา ซึ่งพนักงานจะใช้เวลาเบื้องต้นในการพิจารณาสินเชื่อเบื้องต้นจากข้อมูลเอกสารที่เราส่งไป เช่น รายได้ ภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อประเมินว่าเรามีความสามารถในการผ่อนมากน้อยเท่าไร

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมแนะนำว่าให้ศึกษาและเตรียมเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการกู้เงินซื้อบ้านหรือค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็น

1. ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ กู้ใหม่และกู้เพิ่ม เพื่อใช้ในการดำเนินการขอสินเชื่อ ซึ่งปกติจะอยู่ที่วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท ไม่เก็บค่าธรรมเนียม และวงเงินกู้เกิน 500,000 บาท จะคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.1 ของวงเงินทำนิติกรรม แต่ในบางครั้งธนาคารก็ไม่เก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นะครับ

2. ค่าธรรมเนียมอากรแสตมป์ เงินสำหรับค่าธรรมเนียมในส่วนนี้คือเงินส่วนที่จ่ายให้แก่รัฐบาลตามกฎหมายเมื่อมีการกู้เงิน โดยปกติแล้ว อัตราจะอยู่ที่ประมาณ 0.05% ของวงเงินสินเชื่อ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่อย่างไรก็ดีต้องสอบถามกับทางธนาคารอีกครั้งนะครับว่าต้องจ่ายเท่าไรบ้าง

3. ค่าสำรวจและประเมินราคาของหลักประกันประกอบกับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับพื้นที่และประเภทของหลักประกันนะครับ

4. ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมส่วนใหญ่จะเป็นแบบคิดเหมา 1,000 บาทต่อราย ซึ่งจะเป็นอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและนิติกรรมตามกฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บ 2% ของราคาซื้อขายที่คู่สัญญาแจ้งเว้นแต่ราคาซื้อขายที่แจ้งต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ก็จะเรียกเก็บตามราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นหลัก แต่ต้องบอกว่าบางธนาคารจะมีโปรฯ สินเชื่อแบบฟรีค่าธรรมเนียมเหล่านี้

ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดในการเตรียมค่าใช้จ่ายต่างๆในการยื่นกู้สินเชื่อนั้น จะต้องสอบถามกับทางธนาคารที่เราจะยื่นให้ดีเสียก่อนนะครับ

ยื่นกู้ซื้อบ้าน

2. รอพนักงานติดต่อกลับ

เมื่อพนักงานเห็นข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่าเราน่าจะสามารถผ่อนเงินที่ขอกู้ซื้อบ้านได้ พนักงานก็จะส่งเรื่องต่อไปยังกลุ่มงานประเมินหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่ภายใน 3 วันทำการ หลังจากที่เราได้ยื่นใบคำขอสินเชื่อไปแล้วจะมาพนักงานโทรมาหาเรา เพื่อนัดหมายประเมินมูลค่าหลักประกัน ซึ่งในตอนที่พนักงานโทรมานั้น เขาจะบันทึกการสัมภาษณ์ของเราด้วยนะครับ 

ยื่นกู้ซื้อบ้าน

3. รอการพิจารณาเงินกู้ซื้อบ้าน

หลังจากนั้นพนักงานจะนำคำสัมภาษณ์และเอกสารประการพิจารณาที่เรายื่นเอาไว้มาเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อบ้าน โดยจะส่งให้ผู้อนุมัติสินเชื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับใครที่กังวลว่าตอนเองนั้นอยากซื้อบ้านแต่เงินเดือนน้อยจะกู้ผ่านหรือเปล่านะ ส่วนใหญ่หลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อบ้านนั้นจะดูจาก

  • วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ ว่าสินเชื่อที่ขอนั้นจะเอาไปทำอะไรบ้าง เช่น ซื้อบ้าน ,ซื้อคอนโด , ซื้อทาวน์โฮม, ไถ่ถอนจำนอง เป็นต้น
  • คุณสมบัติผู้ขอกู้ว่าเป็นใคร จะผ่อนไหวหรือไม่ เช่น สถานภาพ, รายได้, เงินเดือน, การศึกษา, อาชีพ เป็นต้น
  • ความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ โดยดูทั้งเรื่องรายรับ รายจ่าย และภาระหนี้สินว่ามีมากน้อยขนาดไหน
  • ประเภทและมูลค่าของหลักประกัน เพื่อดูว่ามูลค่าหลักประกันที่เรายื่นมานั้นมีราคาหรือมูลค่าเท่าไร ธนาคารมั่นใจได้มากพอหรือไม่หากปล่อยกู้ซื้อบ้านไป

 ดังนั้นหากเราเงินหรือรายได้น้อยนั้น เราสามารถใช้วิธีกู้ร่วมได้นะครับ โดยการกู้ร่วมซื้อบ้าน คือการร่วมเซ็นสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน หรือการเป็นหนี้ร่วมกัน ผ่อนร่วมกัน มีหน้าที่รับผิดชอบในการชำระและมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินเห็นว่าผู้ร่วมรับภาระหนี้มีความสามารถทางการเงินเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ตามสัญญาได้

ซึ่งบุคคลที่จะสามารถกู้ร่วมกันได้ มักจะเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันก่อน เช่น พี่ น้อง พ่อ แม่ ลูก และสามีภรรยา ในกรณีสามีภรรยา รวมถึงกลุ่มคู่รัก LGBTQ ด้วยนะครับที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น ต้องหาหลักฐานการแต่งงานมายืนยันได้ เพราะต้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยผู้กู้ร่วมจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีเหมือนผู้กู้หลัก คือมีหลักฐานรายได้ชัดเจน มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี  มีภาระหนี้สินที่ไม่เสี่ยงต่อการชำระไม่ไหว และรายได้ที่เหลือเพียงพอที่จะร่วมรับภาระหนี้ได้

ยื่นกู้ซื้อบ้าน

4. แจ้งผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

เมื่อธนาคารพิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้วธนาคารจะติดต่อกลับเราอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วันทำการ ว่าผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อขอกู้ซื้อบ้านของเราเป็นอย่างไรบ้าง หากผ่านการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ก็จะเข้าสู่การนัดวันทำสัญญากู้เงินและสัญญาจดจำนองต่อไป แต่หากไม่ผ่านธนาคารอาจให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมหรือมีคำแนะนำให้เพิ่มเติมว่าควรจะทำอย่างไรต่อ

ยื่นกู้ซื้อบ้าน

5. ทำสัญญากู้เงินและสัญญาจดจำนอง

เมื่อเราได้รับการอนุมัติสินเชื่อเรียบร้อย และธนาคารนัดหมายมาทำสัญญากู้เงินที่สาขาของธนาคาร รวมถึงนัดวันนิติกรรมที่กรมที่ดินที่หลักประกันหรือโฉนดที่ดินนั้นๆ จดทะเบียนไว้นั่นเองครับ แต่ถ้าหากเป็นสัญญากู้ร่วมก็จะต้องนัดหมายให้คนที่กู้ร่วมทั้งหมดมาลงนามร่วมกันในสัญญาทุกฉบับด้วยครับ

ยื่นกู้ซื้อบ้าน

คงทราบกันแล้วว่าขั้นตอนยื่นกู้ซื้อบ้านมีอะไรบ้าง หรือหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อบ้านมีอะไรบ้าง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้การช่วยให้คุณเตรียมตัวกู้ซื้อบ้านได้ผ่านฉลุยนะครับ หากใครที่ไม่มั่นใจว่าจะต้องขอสินเชื่ออย่างไร ผมแนะนำว่าให้ลองติดต่อสอบถามธนาคารที่เล็งไว้สักธนาคารแล้วให้เขาแนะนำนะครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร