Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

5 ข้อควรรู้กับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลังจากรัฐบาลได้ปฎิรูปกฎหมายภาษีหลายเรื่อง ทั้ง ภาษีมรดก, ภาษีสรรพสามิต, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว กระทรวงการคลังเตรียมนำร่างกฎหมายดังกล่าว เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อให้บังคับใช้ในปี 2560 ทีมงาน Baania.com ได้สรุป 5 ประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

1. อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ หากมีผลบังคับใช้แล้วจะยกเลิกกฎหมายพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ สำหรับกฎหมายที่ดินภาษีและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่จะยกเลิกหลังจากกฎหมายภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้คาดว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ, แก้ไขปัญหาเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์, สนับสนุนให้นำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ อีกทั้งเพิ่มรายได้ในท้องถิ่นผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

2.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้แบ่งการจัดเก็บออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทเกษตรกรรม จัดเก็บภาษีสูงสุดร้อยละ 0.2 แต่จะยกเว้นให้ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่ดินมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 0.05 ทั้งนี้ที่ดินมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทจะคิดอัตราภาษีร้อยละ 0.1

ประเภทบ้านพักอาศัยหลัก(บ้านหลังแรก) จัดเก็บภาษีสูงสุดร้อยละ 0.5 แต่จะยกเว้นที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีสำหรับบ้านหลัก สำหรับบ้านหลังที่สอง จะจัดเก็บอัตราขั้นบันได โดยตั้งแต่หนึ่งบาทแรกแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาทคิดอัตราภาษีร้อยละ 0.03, ที่ดินมูลค่าระหว่าง 5-10 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.05, ที่ดินมูลค่าระหว่าง 10-20 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.1, ที่ดินมูลค่าระหว่าง 20-30 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.15, ที่ดินมูลค่าระหว่าง 30-50 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.2, ที่ดินมูลค่าระหว่าง 50-100 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.25และ, ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป จะคิดอัตราร้อยละ 0.3

ประเภทพาณิชกรรมและอื่นๆ จัดเก็บภาษีสูงสุดร้อยละ 2 ทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ0.3, ทรัพย์สินมูลค่าระหว่าง 20-50 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.5, ทรัพย์สินมูลค่าระหว่าง 50-100 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.7, ทรัพย์สินมูลค่าระหว่าง 100-1,000 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ 0.9, ทรัพย์สินมูลค่าระหว่าง  1,000-3,000 ล้านบาท คิดอัตราร้อยละ  1.2 และทรัพย์สินมูลค่าตั้งแต่ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราร้อยละ1.5 ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า จัดเก็บภาษีสูงสุดร้อยละ5 โดยจะจัดเก็บจริงสำหรับที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์หรือทิ้งเปล่าดังนี้ ระหว่าง 1-3 ปี คิดอัตราร้อยละ1, ระหว่าง 4-6 ปี คิดอัตราร้อยละ 2, ปีที่ 7 ขึ้นไปคิดอัตราร้อยละ 3

3. ภาระภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีคำนวณจากฐานภาษีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คิดจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินรวมกับสิ่งปลูกสร้างมีวิธีการคำนวณภาระภาษีในแต่ละกรณีดังนี้

ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี

ทั้งนี้กำหนดให้มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี

ทั้งนี้ กำหนดให้มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา

ห้องชุด

ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี

ทั้งนี้ กำหนดให้มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)

โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือน, สิ่งปลูกสร้าง, ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคา

4.ธุรกิจที่ต้องใช้ที่ดินเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อรอการพัฒนาเชิงธุรกิจ รวมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการขาย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่เป็นของตนเอง และลดภาระภาษีที่ประชาชนผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงลดอัตราภาษีสำหรับที่ดินที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ซื้อมาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย โดยให้จัดเก็บภาษีในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งนี้ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับที่ดินประเภทดังกล่าวเพื่อความชัดเจนต่อไป

5.ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ทรัพย์สิน 12ประเภท ดังนี้

  • ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
  • ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐหรือในกิจการสาธารณะโดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ,ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติหรือ, องค์การระหว่างประเทศอื่นที่มีข้อผูกพันให้ยกเว้นภาษีตามสนธิสัญญาหรือความตกลง
  • ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศ
  • ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
  • ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใด เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
  • ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การที่ประกอบกิจการสาธารณะเฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น
  • ทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และ
  • ทรัพย์สินตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดเตรียมพระราชกฤษฎีกา, กฎกระทรวง และประกาศต่างๆ รวมถึงดำเนินการในด้านอื่นๆเพื่อเตรียมพร้อมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหากบังคับใช้เชื่อว่าจะเป็นผลดีสำหรับประชาชน ช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านภาษีจะถูกลงกว่าเดิม

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร