Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

5 ขั้นตอนตรวจงานผนังก่ออิฐ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

คงไม่แปลกเกินไปนัก ถ้าจะบอกว่าบ้านพักอาศัยในบ้านของเรานั้น ส่วนใหญ่ใช้ผนังก่ออิฐฉาบปูน แต่หลายครั้งเมื่องานแล้วเสร็จแล้วกลับได้ผนังที่ดูไม่เรียบเนียบ หรือได้ผนังที่ดูเอียงๆ ทั้งนี้ต้องบอกว่าการก่อผนังก่ออิฐฉาบปูนให้ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ เพราะกว่าจะได้ผนังที่ดี สวยงาม และแข็งแรงด้วยนั้น ต้องใช้ฝีมือช่าง และการเอาใจใส่ค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าได้ช่างที่มีประสบการณ์ไม่เพียงพอ หรือขี้เกียจก็อาจจะลดหรือข้ามขั้นตอนทำงานบางอย่างไป Baania จึงอยากแนะนำท่านเจ้าของบ้านที่อยากมีผนังบ้านสวยๆ เกี่ยวกับการตรวจโครงสร้างก่ออิฐ โดยมีขั้นตอนการตรวจดังนี้ครับ

1. ตรวจวัสดุก่อนเริ่มงานก่ออิฐ

วัสดุที่ใช้ก่อผนังอิฐมีหลายชนิด ได้แก่ อิฐมอญ (อิฐแดง), อิฐบล็อค (บล็อกคอนกรีต), อิฐมวลเบา, และอิฐมวลเบาเทียม โดยเริ่มต้นจากการตรวจวัสดุที่ผู้รับเหมาซื้อเข้ามาวางที่ไซด์งานว่า ตรงกับชนิดที่ท่านเจ้าของบ้านกำหนดแบบไปหรือไม่ และควรกำชับว่า ไม่ให้เอาก้อนที่แตกหักมาใช้ ต่อมาตรวจดูปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อว่าช่างใช้ปูนถูกชนิด โดยปูนซีเมนต์ที่ใช้สำหรับงานก่อผนังจะเขียนมาบนถุงปูนว่าสำหรับงานก่อ เช่น ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท (ผสมกับทรายและน้ำก่อน) หรือ มอร์ตาร์ ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ก่อทั่วไป (ผสมน้ำใช้ได้ทันที) แต่ถ้าเป็นอิฐมวลเบาต้องใช้ประเภทที่ใช้ก่ออิฐมวลเบา เช่น มอร์ตาร์ ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ก่ออิฐมวลเบา (ผสมน้ำใช้ได้ทันที) ถ้าช่างเลือกใช้ปูนที่ต้องผสมทราย ก็ต้องตรวจทรายที่นำมาใช้ต้องเป็นทราบหยาบที่เป็นทรายน้ำจืด ไม่มีเศษไม้ ซากพืช หรือ สารเคมีเจือปน ส่วนการผสมปูนช่างต้องกำหนดอัตราส่วนและวิธีตามที่ระบุหลังถุงปูน นอกจากนี้ท่านเจ้าของบ้านก็ดูว่าเครื่องมือของช่าง และการผสมปูนเป็นไปอย่างเรียบร้อย ได้ปูนซีเมนต์ที่พร้อมใช้งาน

2. ตรวจการเตรียมพร้อมก่อนเริ่มการก่ออิฐ

ก่อนจะเริ่มก่อผนังอิฐ ต้องนำอิฐไปแช่น้ำหรือรดน้ำเสียก่อน เพื่อให้อิฐดูดน้ำจนอิ่มตัว ไม่ไปแย่งน้ำจากปูนซีเมนต์ แล้วทิ้งไว้ให้หมาดค่อยนำไปก่อ ช่างบางท่านก็ลืมขั้นตอนนี้และเอาอิฐไปก่อเลยก็มีนะครับ หรือไม่ได้ผึ่งให้หมาดก่อนเอาขึ้นจากน้ำแล้วก่อเลยก็มี ท่านเจ้าของบ้านก็ต้องลองดูว่าช่างมีการนำอิฐไปแช่น้ำก่อนและนำอิฐไปผึงลมให้หมาดก่อนหรือไม่

สำหรับการเตรียมพื้นที่ที่จะก่อ ควรมีการทำความสะอาดพื้นที่ไม่ให้มีเศษขยะหรือฝุ่น และให้ตรวจสอบระยะและแนวการก่อว่าตรงตามแบบก่อสร้าง สำคัญว่าต้องมีการขึงเอ็นแนวนอนและแนวดิ่งก่อนเริ่มการก่อ เพื่อให้ก่อผนังอิฐได้ฉาก ท่านเจ้าของบ้านก็ดูลักษณะการทำงานของช่างว่ามีกระบวนทำการอย่างไร ไม่ลัดหรือข้ามขั้นตอนใดๆ โดยที่ไม่ถึงขั้นต้องไล่ดูทุกผนังก็ได้ครับ ค่อยไปตรวจอีกทีตอนผนังก่อเสร็จแล้วพร้อมกันก็ได้

3. การตรวจขั้นตอนวิธีก่ออิฐ

ในขั้นตอนการก่อ ให้ดูวิธีก่ออิฐของช่างว่าถูกต้องตามวิธีการหรือไม่ โดยควรเริ่มก่อจากริมเสาแล้วไล่มาตรงกลาง และต้องก่อให้ตรงตามแนวที่ขึงเอ็นไว้ สำหรับอิฐมอญและอิฐบล็อก ชั้นปูนก่อไม่ควรหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร เพราะจะทำให้เกิดการทรุดตัวผนังมากและอาจทำให้ผนังโน้มเอียงไม่ได้ดิ่ง ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองปูนซีเมนต์ที่ใช้ก่ออีกด้วย

จากนั้นให้ตรวจดูว่ามีวิธีก่ออิฐที่ถูกต้องตามรูปแบบการวาง เช่น การก่ออิฐแบบครึ่งแผ่น กึ่งกลางของอิฐชั้นบนต้องตรงกับรอยต่อของอิฐชั้นล่าง นอกจากนี้ถ้าเป็นการก่ออิฐโชว์แนวที่ไม่มีการฉาบทับ ต้องมีการทดลองวางเรียงอิฐเพื่อกะระยะให้สวยงามก่อนการก่อจริง และเมื่อก่อผนังจนใกล้เต็มแผงแล้ว ต้องตรวจดูว่าช่างได้เว้นช่องว่างทิ้งไว้ 10-15 เซนติเมตร โดยให้ทิ้งไว้ 1-2 วันให้ปูนอยู่ตัว ถึงจะให้ช่างก่อเสริมโดยการเอียงอิฐทำมุม 30-45 องศาและใช้ปูนก่ออุดให้เต็ม

ถัดมาตรวจดูว่าช่างมีการหล่อเสาเอ็น คานทับหลัง และเสาที่มุมของห้องหรือไม่ เพราะการก่อผนังอิฐจะต้องยึดติดกับเสาเอ็น คานทับหลัง และเสา โดยควรมีทุกๆ ระยะความกว้าง 2.5 เมตร และทุกๆ ความสูง 1.5 เมตร ไม่ควรก่อผนังเป็นผืนใหญ่ๆ โดยที่ไม่มีเสาเอ็นใดๆ เลย เพราะจะทำให้ผนังหนักและอาจจะล้มลงมาได้ รวมไปถึงต้องมีเสาเอ็นที่วงกบประตูและหน้าต่าง รวมถึงช่องเปิดอื่นๆ ด้วย ส่วนตรงมุมของห้องต้องมีเสาหรือเสาเอ็นที่มีเหล็กหนวดกุ้งยื่นออกมาเพื่อยึดผนังอิฐเข้ากับโครงสร้างด้วย เพื่อความแข็งแรงและผนังไม่เลื่อนออกจากแนวเสา



4. การตรวจขั้นตอนการฉาบ

หลังจากขั้นตอนการก่ออิฐ ต้องมีการทิ้งให้ปูนเซ็ตตัวและมีการรดน้ำผนังก่อนวันฉาบและในวันฉาบ เพื่อไม่ให้อิฐแย่งน้ำจากปูนฉาบ ซึ่งจะทำให้ผนังเกิดการแตกร้าวได้เมื่อฉาบเสร็จ และเมื่อหลังจากก่ออิฐเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่ามีผนังเอียงหรือไม่สม่ำเสมอกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มาก สามารถใช้ปูนโป๊ะลงส่วนที่ไม่สม่ำเสมอก่อนแล้วรอให้แห้งถึงจะค่อยฉาบให้เรียบพร้อมกับส่วนอื่นๆเพื่อปรับระดับไปพร้อมกัน โดยเมื่อฉาบเสร็จแล้ว ก็ต้องมีการรดน้ำผนังต่อไปอีก 3-7 วันด้วย โดยรดน้ำวันละครั้ง แต่หากเป็นผนังด้านที่โดนแดดหรือเจอลมให้รดน้ำวันล่ะ 2-3 ครั้ง เมื่อก่อผนังอิฐแล้วเสร็จควรเช็คว่าผนังมีการโย้เอียงหรือไม่ มีการปาดปูนทิ้งอย่างเรียบร้อย หากผนังเอียงหรือไม่สม่ำเสมอกันไม่มาก อาจจะไปแก้ไขในขั้นตอนการฉาบได้

5. การตรวจขั้นตอนทาสีผนังอิฐ

หากเป็นผนังที่ทาสี เริ่มต้นจากการตรวจสีที่ทำว่ามีความอ่อนเข้มตรงกับที่ต้องการหรือไม่ โดยหากสีอ่อนไป แสดงว่าทาทับน้อยครั้งอาจจะต้องทาทับ ทั้งนี้ควรตรวจเรื่องของความอ่อนเข้มเมื่อมีแสงสว่างเพียงพอเพื่อให้ได้เห็นสีจริง ต่อไปให้ตรวจเรื่องความเรียบของการทาสีว่าต้องเรียบเนียน ไม่มีสีหยด หรือรอยแปรง ทั้งนี้หากมีรอยร้าวที่ไม่มากก็ควรจะซ่อมก่อนที่จะทาสีทับ

ส่วนถ้าเป็นผนังก่ออิฐโชว์แนว ก็ต้องดูความเรียบร้อยของแนวการก่ออิฐ ไม่มีก้อนที่แตกหักและให้ช่างทำการเคลือบผนังด้วยน้ำยาต่างๆ เช่น น้ำยาเคลือบอิฐโชว์แบบใส เมื่อทาเสร็จก็ให้ตรวจว่าทาได้ครบทั้งผนังแล้วก็เป็นอันเสร็จครับ



สำหรับการตรวจผนังก่ออิฐ อาจจะดูยุ่งยากไปซักหน่อย เพราะต้องคอยตรวจเช็คกันตั้งแต่ต้นจนจบซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ถ้าอยากได้ผนังบ้านสวยๆ และแข็งแรงที่จะอยู่กับบ้านเราไปนานก็คุ้มค่าที่จะรอนะครับ

แต่หากใครไม่มีเวลามากนัก เราสามารถช่างก่ออิฐที่ชำนาญมาช่วย แต่เราจะต้องตรวจเช็ควิธีก่ออิฐทุกขั้นตอน เพื่อให้งานออกมาเนี้ยบครับ จากนั้นเราค่อยไปตรวจตอนผนังเสร็จแล้วทีเดียวเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามควรแวะเข้าไปดูช่วงก่อสร้างด้วย เพื่อดูว่าผนังบ้านเรามีเสาเอ็นไม่ใช่ผนังก่ออิฐเปล่าๆ เพราะเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่งั้นอาจจะได้ผนังที่ร้าวง่าย และพังล้มยกแผงเอาได้เลยนะครับ ส่วนใครที่อยากรู้แนวทางการตรวจบ้านก่อนรับโอนแบบสรุปมาให้ทุกส่วน เรามีเช็คลิสต์ตรวจบ้านก่อนรับโอนมาแนะนำด้วยเช่นกัน คุณสามารถติดตามได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร