Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

10 สิ่งต้องเตรียมพร้อมก่อนขายของออนไลน์อยู่บ้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลากความอยากของหลายคนในช่วงนี้ที่สถานการณ์เศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก ทำให้การหารายได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ และเป็นทางออกให้กับชีวิตที่อาจได้รับผลกระทบเรื่องงานและเงิน หรือบางคนที่ต้องใช้วิถีชีวิตแบบ New Normal ที่ต้อง Work From Home อาชีพขายของออนไลน์ จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่หลายคนคิดถึง เพราะแค่อยู่บ้านก็ทำได้ ด้วยการเปิดร้านค้าออนไลน์เพื่อขายสินค้าออนไลน์ มาดูกันครับว่าก่อนที่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพื่อขายของออนไลน์ เราควรจะเตรียมสิ่งใดให้พร้อมก่อนเปิดร้านค้าขายของออนไลน์กันบ้าง

1. ชื่อร้านค้าเพื่อขายของออนไลน์

ชื่อร้านค้าออนไลน์ คือเรื่องสำคัญในการสร้างตัวตนให้คนซื้อสามารถจดจำเราได้ ฉะนั้นจึงก่อนที่เราจะขายของออนไลน์ ควรจะตั้งชื่อร้าน พร้อมสร้างเรื่องราวของแบรนด์เราให้คนจำได้ โดยเราต้องยึดจากจากสินค้าและตัวตนของแบรนด์เราก่อนว่าเราขายอะไร มีกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร โดยผมได้นำเทคนิคการตั้งชื่อร้านออนไลน์มาให้เป็นไอเดีย ดังนี้ครับ

หลักการตั้งชื่อร้านค้าออนไลน์

  • ใช้คำสั้น อ่านง่าย และกระชับ
    ความยาวของชื่อร้านไม่ควรยาวเกินไป เพราะอาจทำให้จดจำได้ยาก หรือหากใช้คำหลายพยางค์คำนั้นจะต้องเป็นเอกลักษณ์หรือคนสามารถออกเสียงได้ง่าย และไม่ควรใช้คำซ้ำกันเยอะ
  • สื่อถึงตัวสินค้า
    ชื่อร้านที่ดี ควรจะสื่อถึงสินค้าที่เราจะขายได้ เพื่อให้ชาวออนไลน์เข้าใจทันทีที่เจอร้านเราบนโลกโซเชียล โดยควรเป็นหมวดหมู่สินค้ากว้างๆ นะครับ เผื่ออนาคตเราขยายไลน์สินค้าจะได้ทำได้ง่ายขึ้น
  • ใช้คำที่คุ้นเคย
    คำที่เข้าปากหรือคำที่เข้าใจได้ทันทีจะทำให้คนอ่านสามารถจำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ลูกค้าจะคิดถึงร้านเราเป็นร้านแรกๆ เมื่อต้องการจะซื้อสินค้าที่เราขาย
  • ไม่ซ้ำกับคนอื่น
    สิ่งสำคัญในการตั้งชื่อร้านก็คือ ชื่อร้านของเราควรมีเอกลักษณ์และไม่ซ้ำใคร เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับร้านค้าออนไลน์อื่นๆ นะครับ

ไอเดียการตั้งชื่อร้านค้าออนไลน์

  • ตั้งชื่อที่ดูแปลก ไม่เหมือนใคร เพื่อให้สะดุดตา โดยอาจสร้างคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นต้น
  • ชื่อเป็นสิริมงคลหรือความหมายดีๆ โดยอาจตั้งชื่อร้านตามความเชื่อหรือหาชื่อมงคลมาจากคู่มือต่างๆ มาใช้ หรือในบางครั้งหลายคนก็ไปดูดวงหรือให้พระดูครับ
  • ใช้ภาษาถิ่น ในบางครั้งหากสินค้าของเรามีเอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นท้องถิ่นได้ เราอาจนำภาษาท้องถิ่นมาตั้งเป็นชื่อร้าน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ บอกถึงลักษณะสินค้า หรือสไตล์ร้านของตนเอง
  • ใช้ภาษาต่างประเทศ อีกเทคนิคการตั้งชื่อร้านที่มักใช้กับสินค้าที่มีความทันสมัย สินค้าออกแบบ หรือสินค้าแฟชั่น เพื่อสะท้อนสไตล์ของร้านค้าและสินค้าของเรา
  • ใช้จุดเด่นของสินค้าที่เราขายมาสร้างสรรค์เป็นชื่อร้านขายของออนไลน์ได้ เพื่อให้คนเข้าใจและรู้จักร้านเราทันทีที่อ่านชื่อ

2. สินค้าออนไลน์ที่จะขาย

อยากขายของออนไลน์ แต่...จะขายอะไรดี คำถามที่ผุดขึ้นมาเมื่ออยากขายของ โดยแนะนำว่าสินค้าออนไลน์ที่จะนำมาขายนั้น ควรเป็นของที่เราถนัดหรือใช้สิ่งนั้นอยู่เป็นประจำ เนื่องจากจะทำให้เรารู้จักแหล่งหาของมาขาย รู้จักกลุ่มเป้าหมายที่จะขาย และรู้จักคุณสมบัติของสินค้าเป็นอย่างดี เมื่อลูกค้าสอบถามจะสามารถตอบได้รวดเร็วครับ ส่วนคำถามต่อมาเมื่อคิดคำตอบได้แล้วว่าจะขายอะไร ก็คือจะซื้อหรือหาของมาขายออนไลน์ได้จากที่ไหนบ้าง ผมนำตัวอย่างแหล่งหาของขายออนไลน์มาแนะนำกันครับ

1. เว็บไซต์จากจีน

ต้องยอมรับว่าสินค้าในทุกวันนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากจีน ดังนั้นหากเราหาซื้อสินค้าจากเว็บไซต์จีน เช่น Alibaba เราก็จะได้สินค้าจำนวนมากและราคาถูกมากด้วยเช่นกันครับ ที่สำคัญยังมีดีไซน์แปลกตาเยอะด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูความน่าเชื่อถือของคนขายด้วยนะครับ จะได้ไม่ถูกหลอก

2. เว็บประมูลสินค้า

อีกช่องทางของการได้ของถูกมาขายต่อ นั่นก็คือการประมูลสินค้า จากเว็บประมูลสินค้าออนไลน์มาขาย แถมในหลายครั้งยังได้สินค้าคุณภาพเยี่ยม ราคาถูกมากๆ เรียกได้ว่าเอามาสร้างกำไรงามๆ ได้ไม่ยากเลย 

3. ภูมิปัญญาท้องถิ่น

กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ มักอุดมไปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างสินค้าที่ไม่เหมือนใคร แต่พวกเขามีจุดอ่อนที่ขายของออนไลน์ไม่คล่อง โอกาสสร้างรายได้เสริมนี้จึงตกเป็นของเรา โดยเราสามารถสั่งซื้อหรือรับของจากชาวบ้านมาขายต่อ หรืออาจนำมาพัฒนาต่อให้กลายเป็นสินค้าออนไลน์ของร้านเรา ที่สำคัญสินค้าเหล่ามักจะไม่ซ้ำใคร มีคุณภาพดี จึงทำให้เราสามารถนำมาบวกราคาเพิ่มได้เยอะเลยครับ

4. แหล่งขายสินค้าขายส่ง

นอกจากหาในช่องทางออนไลน์หรือติดต่อชุมชนแล้ว แหล่งขายสินค้าขายส่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะได้ของราคาถูก เพราะเราซื้อในปริมาณเยอะ เช่น สำเพ็ง เสือป่า ประตูน้ำ จตุจักร เป็นต้น 

5. จ้างผลิตสินค้าเอง

หากเราหาสินค้าในแบบที่ต้องการจะมาขายของออนไลน์ไม่เจอ การผลิตเองก็เป็นอีกช่องทางหาสินค้ามาขาย เพราะเราสามารถระบุสิ่งที่ต้องการได้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ครีม สบู่ อาหารสำเร็จรูป หรือเสื้อผ้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่านอกจากค่าจ้างผลิตแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าจดทะเบียน ใบรับรองต่างๆ ค่าบรรจุภัณฑ์

3. ตั้งราคาสินค้าที่จะขายออนไลน์

โลกออนไลน์ เป็นโลกแห่งการค้นหาและเปรียบเทียบได้ง่ายมากๆ เพียงแค่เข้า google แล้วค้นหาเท่านั้น ผู้ซื้อก็สามารถเปรียบเทียบร้านเรากับร้านอื่นได้ ฉะนั้นราคาสินค้าที่เราจะขายของออนไลน์จึงต้องตั้งอย่างระมัดระวังซึ่งหลักการตั้งราคาสินค้าส่วนใหญ่จะมาจาก 3 รูปแบบ

1. ตั้งจากต้นทุนสินค้า

วิธีนี้คือการคำนวณต้นทุนทั้งหมดของเราเสียก่อน ทั้งค่าสินค้า ค่าบรรจุภัณฑ์ที่ทำเพิ่ม ค่าขนส่ง เป็นต้น เมื่อได้แล้วเราอยากได้กำไรเพิ่มกี่บาทหรือกี่เปอร์เซ็นต์ก็บวกเพิ่มเข้าไปเลยครับ ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพกำไรได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนวณให้ยาก แต่จุดอ่อนหากเราใช้วิธีตั้งราคาจากต้นทุนนี้อย่างเดียวก็คือเราอาจคำนวณต้นทุนได้อย่างไม่ครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับราคาตลาดที่เขาขายกันอยู่ครับ

2. ตั้งจากราคาตลาด  

วิธีนี้เป็นวิธียอดฮิตที่คนใช้กัน เพราะหากสินค้าของเรามีความใกล้เคียงกับสินค้าที่ขายในตลาดออนไลน์อยู่แล้ว เราก็เพียงแค่ตั้งล้อไปกับราคาที่เขาตั้งกัน หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์บางคนที่ต้องการขายในปริมาณเยอะอาจขายถูกกว่าคนอื่น การใช้วิธีนี้ในการตั้งราคาแบบนี้จะต้องระวังในเรื่องการคำนวณต้นทุนให้ดี เพราะต้นทุนของแต่ละคนอาจไม่เท่ากันนะครับ

3. ตั้งจากลูกค้า  

วิธีนี้อาจจะทำได้ยากหน่อยครับ แต่หากทำได้ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีเลยทีเดียว เพราะเป็นการหาว่าลูกค้าต้องการที่จะซื้อสินค้าออนไลน์ของเราในราคาเท่าไร โดยอาจต้องทำการเทียบคู่แข่ง หรือหาวิจัยมาช่วยสนับสนุนว่าราคาที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นว่าเท่าไรกันแน่นั่นเองครับ    

สำหรับวิธีคิดราคาสินค้าก็คือให้เราลองคิดราคาในแต่ละรูปแบบออกมา แล้วหาตรงกลางของราคาที่คุ้มทุนและได้กำไรที่สุดครับ ซึ่งนั้นจะเป็นราคาสินค้าที่เราควรจะนำมาขายของออนไลน์ในร้านของเราครับ

4. เงินทุนในการขายของออนไลน์

สิ่งสำคัญในการขายของออนไลน์ก็คือเงินทุนครับ แม้จะเป็นการขายของออนไลน์ที่ไม่ต้องมีหน้าร้านจริง แต่เราต้องมีหน้าร้านออนไลน์อยู่ดีครับ นอกจากเงินทุนตัวสินค้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อมาขายไป หรือซื้อมาเก็บเป็นสต็อกไว้ รวมถึงการจ้างผลิตด้วย เรายังจะต้องทำการเปิดหน้าร้านออนไลน์ให้ผู้ซื้อแวะมาเห็นร้านเรา และวิธีนั้นก็ต้องใช้เงินในการทำโฆษณาออนไลน์  ไม่ว่าจะเป็นการยิงแอดเฟซบุ๊ก การโปรโมททางช่องทาง google หรือการสร้างเว็บไซต์ อีกทั้งยังมีค่าถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอโปรโมทสินค้าของตนเองทางช่องทางต่างๆ ทำให้เราอาจต้องซื้ออุปกรณ์ เช่น กล้องถ่ายภาพ หรือจ้างคนถ่ายภาพสินค้าเพิ่มเติม ยิ่งใครที่ต้องการจะสร้างแบรนด์ให้สะท้อนสไตล์หรือโดดเด่นมากๆ อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ สร้างโลโก้ และคอนเทนต์ลงช่องทางต่างๆ รวมถึงค่าจ้าง Influencer มารีวิวสินค้าด้วยครับ ฉะนั้นจะต้องคำนวณเงินที่จะใช้ในส่วนต่างๆ ให้ดีและครบถ้วน เพื่อจะได้ตระเตรียมเงินทุนในการขายของออนไลน์ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนครับ

5. ช่องทางขายของออนไลน์

เมื่อสินค้าพร้อม เงินทุนพร้อม ชื่อร้านก็พร้อมแล้ว หน้าร้านก็ต้องพร้อมด้วยครับ เรามาดูกันครับว่าช่องทางขายของออนไลน์ยอดฮิตที่เราจะไปเปิดร้านขาย และผู้ซื้อนิยมมาซื้อของออนไลน์มีที่ไหนกันบ้าง ต้องบอกว่าเราควรมีหน้าร้านหลายช่องทาง และดูกลุ่มเป้าหมายของเราให้ดีๆ ว่าผู้ซื้อของเราจะอยู่ช่องทางไหนบ้างแล้วโฟกัสไปที่ช่องทางนั่นๆ ครับ

Facebook Fanpage

เปิดเพจขายของออนไลน์ สิ่งพื้นฐานที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะต้องทำก็คือการเปิดร้านผ่าน Facebook Fanpage เพราะแพลตฟอร์มนี้มีระบบการบริหารจัดการร้านที่ทำได้ไม่ยาก โพสต์ขายได้หลากหลายรูปแบบทั้งรูป ข้อความ วิดีโอหรือ Live สดขายของที่เราเห็นกันหรือใช้กันอยู่บ่อยๆ ในการ F สินค้าที่เราต้องการจะซื้อมาใช้หรือซื้อมาขายต่อนั่นเอง อีกทั้งยังสามารถทำการโปรโมทหรือยิงแอด Facebook ได้ค่อนข้างเห็นผลด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยทุกเพศทุกวัยนิยมใช้ Facebook ในการติดต่อผู้คนหรือติดตามข่าวสาร และซื้อขายสินค้าออนไลน์กันอยู่แล้ว นอกจากนี้ใน Facebook ยังมีฟีเจอร์ Facebook Marketplace ที่เป็นพื้นที่สำหรับซื้อ – ขาย สินค้าออนไลน์โดยเฉพาะด้วย หรือในปัจจุบันนอกจากการเปิดเพจและ Facebook Marketplace แล้ว ยังมีช่องทางการขายในกลุ่ม(Group) ต่างๆ ใน Facebook ด้วย เช่น CU Marketplace เป็นต้น

Instagram

Instagram หรือ IG แพลตฟอร์มของคนชอบโชว์รูปและวิดีโอสวยๆ ทำให้มักจะมีร้านค้าออนไลน์ประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และของออกแบบอยู่จำนวนมาก หากใครที่อยากเปิดร้านใน IG ตอนนี้ต้องบอกว่าง่ายมากๆ ถ้าเรามีบัญชีอยู่แล้วก็แค่สลับบัญชีมาใช้เป็นบัญชีสำหรับการทำธุรกิจ ที่สำคัญยังเชื่อมกับ Facebook ได้ด้วย รวมถึงยังสามารถทำการโปรโมทโฆษณาเพิ่มเช่นเดียวกับ Facebook ด้วยครับ

Line@

ด้วยความที่แอปพลิเคชัน Line เป็นแอปพลิเคชันแชทยอดนิยมของคนไทยทุกเพศทุกวัย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ชินกับการใช้งานที่คล่องกันอยู่แล้ว ช่องทาง Line@ จึงเป็นอีกช่องทางการขายของออนไลน์ที่น่าสนใจ เพราะหากเรามีบัญชี Line อยู่แล้ว เราก็สามารถเปิดใช้งานฟีเจอร์ Line@ ขายของออนไลน์และพูดคุยกับลูกค้าได้ฟรีแบบไม่ต้องเสียเงินครับ

Twitter

อีกช่องทางมาแรงในการเอาไว้ใช้ขายของออนไลน์ ด้วยเทคนิคการติดแท็ก (#)  เราก็มีโอกาสถูกเจอได้อย่างไม่ยากเย็น โดยกลุ่มผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ฉะนั้นสินค้าของเราหากมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนกลุ่มนี้ ช่องทางนี้ถือว่าน่าสนไม่น้อยเลยครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังในการซื้อขายให้ดีนะครับ เพราะการสร้างบัญชีใน Twitter ทำได้ง่าย แต่หาตัวตนได้ยากกว่าช่องทาง Facebook ทำให้หากเกิดปัญหาอาจตามตัวได้ยากกว่าก็เป็นได้ครับ

Shopee

E-Marketplace ซื้อ–ขายสินค้าออนไลน์ยอดฮิตของไทย ด้วยการซื้อง่าย มีโปรโมชันเยอะ ระบบการขนส่งดี การจ่ายเงินสะดวก มีการรับประกัน และการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้มาตรฐาน แถมยังมีเกมต่างๆ มาให้ผู้ซื้อได้เล่นแล้วสะสมเหรียญนำไปเป็นส่วนลดต่างๆ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องห้ามพลาดพาร้านขายของออนไลน์ของตัวเองไปอยู่ในนี้เด็ดขาด สำหรับวิธีสมัครเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ใน Shopee นั้นก็ง่ายมาก เพียงสมัครแอดเคาท์ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าหรือวางขายสินค้าได้ทันที

Lazada

Lazada อีกช่องทางซื้อขายที่คล้ายกับ Shopee ถ้าหากเรามีร้านใน Shopee แล้ว เราก็ควรพาร้านค้าออนไลน์ของตัวเองไปอยู่ใน Lazada ด้วยเช่นเดียวกันครับ

lnwshop (เทพช็อป)

เว็บไซต์ lnwshop หรือ เทพช็อป อีกช่องทางยอดฮิตของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เพราะมีบริการเว็บไซต์สำเร็จรูปที่เปิดให้สมาชิกมาสร้างร้านค้าออนไลน์ได้ฟรี พร้อมตกแต่งหน้าร้านผ่าน Template สำเร็จรูปได้ รวมถึงยังรองรับการจัดหมวดหมู่สินค้า มีระบบตระกร้าสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ และเปิดบิลเพื่อรองรับลูกค้าจากช่องทางอื่นได้ด้วยครับ

Alibaba

หากเราต้องการจะโกอินเตอร์ เราต้องสามารถนำสินค้าออนไลน์ของเราหรือร้านค้าออนไลน์ของเราไปขายในตลาดโลกอย่าง Alibaba เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์แนวหน้าระดับโลก ซึ่งเหมาะกับคนที่สามารถผลิตสินค้าเอง หรือต้องการขายสินค้าในปริมาณมากๆ ครับ 

AliExpress

นอกจาก Alibaba แล้ว AliExpress หรืออาลีเอ็กเพรสก็เป็นอีกหนึ่งในเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ระดับโลกยอดฮิต ที่สามารถซื้อจากผู้ผลิตและจำหน่ายโดยตรงทำให้คนซื้อมักจะซื้อได้ในราคาถูก

e-bay

e-bay หรืออีเบย์ อีกเว็บไซส์ขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก โดยผู้ขายสามารถสร้างโปรไฟล์ร้านค้าตัวเองได้ฟรี และลงขายสินค้าได้ทุกชนิด ที่สำคัญยังโด่งดังเรื่องการประมูลสินค้าด้วย

Amazon

เมื่อพูดถึง e-bay แล้วจะไม่พูดถึง Amazon แฟลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ของโลกอีกแพลตฟอร์มก็คงไม่ได้ โดยมีจุดเด่นเรื่องมีระบบสต็อกสินค้า มีบริการจัดส่งสินค้าให้ใช้ฟรี และผู้ขายสามารถเลือกประเทศที่ไม่อยากขายได้ด้วยนะครับ

Etsy

หากสินค้าที่เราขายเป็นงาน handmade หรืองานทำด้วยมือ วัสดุที่เกี่ยวกับงานทำมือ หรือของมือสอง แนะนำให้ไปขายที่ Etsy เลยครับ เพราะเป็น Marketplace เว็บไซต์ขายของออนไลน์ ในสินค้าหมวดงานทำมือที่มีผู้ใช้นิยมทั่วโลกเลยครับ

Pinkoi

หากสินค้าที่เราขายเป็นงานดีไซน์ และงาน handmade เว็บไซต์ Pinkoi คืออีกเว็บไซต์ชื่อดังที่เปิดโอกาสให้มาขายของออนไลน์ในรูปแบบที่ส่งตรงจากมือดีไซน์เนอร์ทั่วโลกถึงมือผู้ซื้อเลยครับ

ทำเว็บไซต์ของตัวเอง

หากเราจริงจังกับการขายสินค้าออนไลน์มาก และมีเงินทุนมากพอ แนะนำให้เปิดเว็บไซต์ร้านค้าเป็นหน้าร้านที่น่าเชื่อถือเลยครับ เพราะจะทำให้ลูกค้ามั่นใจในร้านเราได้มากขึ้น สามารถจัดการระบบการขาย และการโปรโมทสินค้าของได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา เราจะต้องทำให้คนค้นหาเราเจอด้วย ฉะนั้นอาจจะต้องทำเว็บไซต์เราไปโปรโมทในช่องทางต่างๆ ด้วยนะครับ

6. ช่องทางการชำระเงินสำหรับลูกค้า

อีกสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดร้านค้าขายของออนไลน์ก็คือรูปแบบการชำระเงินว่าจะให้ลูกค้าจ่ายเงินให้เราในช่องทางไหนบ้าง โดยปกติแล้ว ช่องทางการจ่ายเงินยอดฮิตก็คือ การโอนเงินผ่านธนาคาร ทั้งการสร้าง QR code, พร้อมเพย์ และให้เลขบัญชีเพื่อให้ลูกค้าโอนมา นอกจากนั้นก็มีการจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต/เครดิต, ชำระเงินผ่าน PayPal, ชำระเงินผ่าน PAYSBUY, การเก็บเงินปลายทางหรือ COD (Cash on Delivery) และเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้นครับ

7. การจัดส่งสินค้าออนไลน์

การขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับ เป็นอีกเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะต้องหาตัวเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับบริการส่งพัสดุในปัจจุบันของไทยนั้นมีหลายตัวเลือกมากขึ้น ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, SCG EXPRESS, Flash Express และ BEST EXPRESS ซึ่งหากเราเป็นคนขายเราจะต้องบริการขนส่งที่รวดเร็วที่สุด สินค้าไม่เสียหาย ค่าส่งไม่แพงเกินไป เราสามารถเดินทางไปบริการขนส่งนั้นได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเป็นไปได้ควรให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ด้วยนะครับว่าเขาต้องการการขนส่งในรูปแบบไหนด้วย 

8. เวลาในการขายและแพ็คสินค้า

หากเราเตรียมทุกอย่างให้พร้อมขายของออนไลน์แล้ว แต่เราไม่เตรียมเวลาไว้สำหรับการขาย ทั้งการตอบแชทลูกค้า การโพสต์สินค้า รวมถึงเวลาในการแพ็คสินค้าการขายของออนไลน์ที่เราคาดหวังว่าจะจะสร้างรายได้เสริมยามอยู่บ้านได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อาจจะไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นได้ ฉะนั้นเราจะต้องจัดสรรเวลาให้ดีในการตอบแชทลูกค้า สร้างคอนเทนต์นำเสนอสินค้าในช่องทางต่างๆ วางแผนการตลาด การแพ็คสินค้า การไปส่งสินค้า และการถ่ายรูป หรือทำวิธีโอ รวมถึงไลฟ์สดขายสินค้าด้วยครับ

9. อุปกรณ์ที่จะใช้ในการขายของออนไลน์

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในการขายของออนไลน์ก็คืออุปกรณ์ในการขาย โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่ควรจะเร็วแรงไม่กระตุก เวลาต้องติดต่อกับลูกค้า และสามารถอัปโหลดภาพ คลิป แต่งรูป ตัดต่อวิดีโอ หรือไลฟ์ขายของได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งจะต้องคำนวณดีๆ ว่าเราควรจะคิดให้ดีว่าควรจะใช้ Wi-Fi หรือ 3G 4G รวมถึง 5G กี่ Mb และราคาเท่าไรคุ้มค่าหรือไม่ มิฉะนั้นเราอาจจะพลาดลูกค้าไปก็ได้ อีกอุปกรณ์สำคัญรองลงมาก็คือโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ที่เราควรจะเลือกรุ่นที่มีฟังก์ชันตอบโจทย์การขายของออนไลน์ของเราได้อย่างครบถ้วนและราคาคุ้มค่าครับ

10. บ้านหรือคอนโดต้องพร้อมขายของออนไลน์

สถานที่ในการเตรียมการขายของออนไลน์ต้องพร้อม แม้เราจะขายของที่บ้านหรือห้องของตนเอง แต่เราจะต้องเตรียมพื้นที่ในการเก็บของ สต็อกสินค้า รวมถึงต้องมีพื้นที่ในการถ่ายภาพสินค้า ถ่ายวิดีโอ ยิ่งหากเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ส่วนใหญ่มักจะมีการไลฟ์สดขายยิ่งต้องหามุมต่างๆ ในบ้านหรือห้องที่เหมาะสมด้วย ทั้งฉากหลัง แสง และป้องกันเสียงรบกวนด้วย ฉะนั้นบ้านหรือห้องที่เอื้อในการขายของออนไลน์จึงสำคัญมากครับ Baania มีแนวทางการเลือกบ้านหรือคอนโดสำหรับคนที่ทำอาชีพขายของออนไลน์มาแนะนำครับ

1. แบบบ้าน ควรเป็นบ้านที่แบ่งพื้นที่ได้เป็นสัดส่วนหรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 100 ตร.ม. ขึ้นไป หรือคอนโดที่มีพื้นที่ใช้สอย 35.5 ตร.ม. ขึ้นไป เพื่อปรับเปรียบฟังก์ชันห้องได้ตามใจชอบ และควรมีที่เก็บสต็อกสินค้า แพ็คสินค้า และพื้นที่จัดมุมถ่ายรูปได้ด้วย

2. ทิศบ้าน เลือกหามุมถ่ายภาพที่แสงธรรมชาติเข้าอย่างเพียงพอ เพื่อให้ถ่ายภาพสวย

3. ความเป็นส่วนตัว ควรเลือกบ้านที่มีผนังบ้านเก็บเสียงได้ เช่น ผนังอิฐมวลเบา เพื่อจะได้ช่วยตัดเสียงรอบกวนเวลาไลฟ์ขายของออนไลน์

4. ทำเลที่ตั้ง หากใครต้องรับส่งสินค้าบ่อยๆ ควรเลือกบ้านที่ใกล้จุดบริการรับส่งสินค้า รวมถึงเลือกบ้านที่มีถนนหน้าโครงการมากกว่า 8 เมตร เพื่อให้เราสามารถขนของเข้าออกรถได้ง่าย

5. การตกแต่งภายใน หากเป็นคอนโดไม่ควรเลือกแบบ Build in เพราะอาจทำให้เราปรับเปลี่ยนฟังก์ชัน และจัดมุมถ่ายภาพได้ยาก การเลือกห้องแบบที่เราสามารถแต่งเองได้ จะทำให้เราจัดสรรปันสัดส่วนห้องได้ง่ายมากกว่าครับ

ขายของออนไลน์

10 สิ่งที่ต้องเตรียมในการขายของออนไลน์ของเราเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญนะครับ ซึ่งหลักๆ เราควรสร้างสินค้าออนไลน์ที่โดดเด่น สร้างเพจเพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้ามาติดต่อให้พร้อมก่อน เพราะหากเปิดร้านออนไลน์ไปแล้วหลายสิ่งไม่พร้อม ลูกค้าอาจไม่ประทับใจ และตัดสินร้านของเราไปตั้งแต่แรกพบก็เป็นได้นะครับ ดังนั้นถ้าใครที่ยัง Work From Home หรือไม่ได้ทำอาชีพประจำ และอยากมีรายได้เพิ่ม การขายของออนไลน์น่าจะเป็นอีกทางเลือกเพิ่มรายได้หรือหารายได้เสริมได้ดี โดยที่เราไม่ต้องออกจากบ้าน เพราะแค่อยู่ที่บ้านเราก็ทำได้ ใครสนใจลองนำ 10 สิ่งที่ต้องเตรียมในการขายของออนไลน์ของเราไปทำตาม แล้วมาบอกผลกันด้วยนะครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร