Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

“บ้านสร้างเงิน” โอกาสของคนซื้อบ้านยุคดิจิทัล

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

คงจะดีไม่น้อยหากบ้านที่อยู่อาศัยจะทำให้ทุกคนได้สบายกระเป๋าจากการใช้ต้นทุนพลังงานที่ลดลงแล้ว ยังสร้างเงินได้ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลภาวะให้กับโลกใบนี้ได้ ซึ่งการจะเกิดเรื่องดีๆ อย่างนั้นได้ต้องใช้การมาพร้อมของ 2 เรื่องสำคัญก็คือ นโยบายโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน และอีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของเทคโนโลยีและต้นทุนการติดตั้ง 

ด้านนโยบายโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองส่วนเกินสามารถนำออกขายเข้าระบบไฟฟ้าได้ ซึ่งในภาพใหญ่ภาครัฐเตรียมผลักดันสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจาก 14.5% ให้เป็น 30% ในปี 2573 ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนและการประกาศอย่างเป็นทางการ ในส่วนของเทคโนโลยีได้เดินหน้าไปแล้วในส่วนของเอกชนระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์กับผู้ผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งวันนี้เริ่มมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ 

“บ้านสร้างเงิน” จะเกิดขึ้นได้อย่างไรและใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ลองมาพิสูจน์กันที่โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 โปรเจ็กต์นำร่องของกลุ่มแสนสิริที่มองถึงโอกาสของการนำเทคโนโลยีบล็อคเชนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

แสนสิริ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวสูงหลายพันโครงการ ได้คัดเอาโครงการ T77 เป็นโครงการจุดประกายก่อน โดย อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บอกเหตุผลว่า เพราะโครงการนี้มีความหลากหลาย แวดล้อมด้วยโรงเรียน คอมมูนิตี้มอลล์ ฮาบิโตะ และที่พักอาศัย ขณะที่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ จะเป็นผู้ลงทุนในการติดตั้งระบบให้กับโครงการภายใต้ความร่วมมือเป็นจำนวน 30-50 ล้านบาท และนอกจาก T77 แล้วก็ยังมีอีกหลายโครงการของแสนสิริที่ต้องเข้าไปติดตั้งระบบในปี 2562 

การติดตั้งระบบพลังงานเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาใน T77  แบ่งสัดส่วนการใช้เป็น 54 กิโลวัตต์สำหรับฮาบิโตะ มอลล์ (Habito Mall)  413 กิโลวัตต์สำหรับโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ และ 168 กิโลวัตต์ สำหรับพาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลฟันที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในการแลกเปลี่ยนพลังงานภายในโครงการ รวมกำลังการผลิต 635 กิโลวัตต์

เป้าหมายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แสนสิริ คาดหวังถึงการติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในโครงการใหม่ ๆ กว่า 30 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์
ภายหลังการติดตั้งระบบพลังงานเซลแสงอาทิตย์เป็นที่เรียบร้อยยังมีในส่วนของการ “ซื้อ-ขาย” หนึ่งในการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการนี้มีการนำระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer)หรือ P2P ด้วยการทำธุรกรรมโดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ ซึ่งพัฒนาโดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบบล็อกเชน

หลักการทำงานของบล็อคเชน คือการตัดคนกลางออกไปแล้วเปิดช่องทางให้ “ผู้ซื้อ” พลังงานได้ติดต่อซื้อขายกับ “ผู้ใช้” ได้โดยตรง

แนวทางการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคาร ผู้ซื้อและผู้ขาย จะทำการตกลงกันไว้ล่วงหน้าด้วย Smart contract  โดยผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่ผลิตพลังงานส่วนเกินได้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อไฟฟ้าในระบบปกติส่วนผู้ที่ผลิตได้เกินจากความต้องการก็จะขายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด โดยธุรกรรมการซื้อขายจะใช้ Sparkz Token ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการแลกเปลี่ยนไฟซื้อขายในระบบ 

ยกตัวอย่าง ในส่วนโรงเรียนที่ไม่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงปิดเทอมสามารถกักเก็บพลังงานส่วนเกินเอาไว้ ส่วนของที่พักอาศัยก็เช่นกัน ในเวลากลางวันที่แต่ละคนเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน ระบบจะทำการกักเก็บพลังงานเอาไว้เพื่อใช้งาน พลังงานส่วนเกินหากต้องการขายให้กับผู้ใช้รายอื่นก็ทำได้ด้วยระบบ P2P  โดยติดต่อซื้อขายกันผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถทำการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรม ทั้งนี้หากยังมีพลังงานเหลือจากการซื้อขายกันเองภายในคอมมูนิตี้ พลังงานส่วนนี้จะนำเข้าสู่ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเก็บไว้ขายในเวลาอื่นๆ และหากระบบกักเก็บเต็ม ไฟฟ้าก็จะถูกส่งขายเข้าระบบของกฟน. ต่อไป 

เช่นเดียวกัน ในกรณีที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนที่พักอาศัยในคอมมูนิตี้นั้นมีสูงกว่าที่สามารถผลิตได้ ระบบก็จะทำการซื้อจากระบบ P2P  จากระบบกักเก็บพลังงาน และจากกฟน. 
ด้วยคอนเซ็ปต์ของการอยู่อาศัยในรูปแบบนี้ อุทัย บอกว่า นอกจากติดตั้งระบบพลังงานพลังงานเซลแสงอาทิตย์ใน T77 แล้วยังติดตั้งในส่วนของโรงเรียนสาธิตพัฒนา รามอินทรา และโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของบริษัท

ส่วนโครงการใหม่ๆ ของแสนสิริที่จะมีเพิ่มเข้ามาต่อจากนี้จะเริ่มติดตั้งในส่วนของคลับเฮ้าส์ที่ดำเนินการได้ทันที ขณะที่แต่ละบ้านของผู้อยู่อาศัยในโครงการจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่เป็นเรื่องของความสมัครใจเนื่องจากมีปัจจัยมีค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์มาเกี่ยวข้อง 

แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นในไทย แต่หากมองข้อดีที่เกิดขึ้นเป็นในหลายมิติ แน่นอนว่า เงินในกระเป๋าของผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากการประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 15% ของค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน รวมถึงรายได้ที่เพิ่มเข้ามาจากการขายพลังงานส่วนเกิน
มองในเชิงมูลค่า อุทัย บอกจะดีแค่ไหนหากหลังคาบ้านธรรมดาๆจะแปรเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สร้างเงินได้ และสุดท้าย ยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตพลังงานสะอาด ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกใบนี้

“บ้านสร้างเงิน”เทรนด์ที่จะกำลังเกิดขึ้นสำหรับบ้านที่พักอาศัยในไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่นและอีกหลายๆ ประเทศ ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหนนั้นยังต้องต้องติดตาม

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร