Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

แอร์ไลน์ชิงรันเวย์เมืองรอง แอร์เอเชียปูพรม 29 สนามบิน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

กรมท่าอากาศยานดึง 6 สายการบินบูมท่องเที่ยวเมืองรอง ขยาย 29 สนามบิน 3.8 หมื่นล้าน รับแอร์บัส A320 โบอิ้ง 737 บินตรงข้ามภาค “ไทยแอร์เอเชีย” บุกทุกรันเวย์ หอการค้าเพชรบูรณ์ร่วมทุนรีสอร์ตเขาค้อเปิดเช่าเหมาลำจากดอนเมือง เล็งผุดไพรเวทเจทแอร์พอร์ตนครปฐม ดูดเศรษฐี-นักธุรกิจทั้งไทยเทศ

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมหารือกับผู้ประกอบการ 6 สายการบิน ได้แก่ นกแอร์ การบินไทย ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ส เพื่อแจ้งให้รับทราบแผนพัฒนา 29 สนามบินภูมิภาคทั่วประเทศ (รวมสนามบินเบตง) ที่จะทยอยดำเนินการภายใน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2569 เงินลงทุน 38,561 ล้านบาท เพื่อให้สายการบินวางแผนธุรกิจรองรับกับความต้องการและใช้สนามบินเมืองรองมากขึ้น ทั้งเส้นทางระหว่างประเทศและในประเทศ ช่วยลดความแออัดที่สุวรรณภูมิ และดอนเมือง

รวมถึงสอดรับนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ทั้งนี้ ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 7% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 18.6 ล้านคน หลังพัฒนาแล้วเสร็จ สนามบินในต่างจังหวัดจะรองรับนักท่องเที่ยวและคนเดินทางได้ 30 ล้านคน ในปี 2568 และ 58 ล้านคน ในปี 2578

22 สนามบินศักยภาพพร้อม

ทั้ง 29 สนามบิน มี 6 แห่งรองรับการบินระหว่างประเทศ และเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างโบอิ้ง 747 ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก และอุบลราชธานี อีก 16 สนามบินรองรับเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง ทั้งแอร์บัส 320 และโบอิ้ง 737 ประกอบด้วย นราธิวาส บุรีรัมย์ นครพนม หัวหิน นครราชสีมา ตรัง ร้อยเอ็ด ชุมพร เลย แม่ฮ่องสอน น่าน ระนอง สกลนคร ลำปาง นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ สำหรับแม่สอดอยู่ระหว่างขยายรันเวย์ จะแล้วเสร็จปี 2562 ส่วนแพร่ และเบตง กำลังศึกษาขยายรันเวย์ สนามบินแม่สะเรียงและปาย จะรองรับเครื่องบินเล็ก

ทุ่ม 3.6 หมื่น ล.พัฒนา 17 แห่ง

แนวทางพัฒนา 17 สนามบิน วงเงิน 36,421 ล้านบาท ได้แก่ 1.กระบี่ ปี 2561-2564 วงเงิน 6,365 ล้านบาท เช่น สร้างที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารจอดรถ ลานจอดเครื่องบิน ทางขับ 2.ตรัง ปี 2561-2565 วงเงิน 4,142 ล้านบาท ต่อเติมอาคารผู้โดยสาร และสร้างอาคารหลังใหม่ ขยายความยาวทางวิ่ง ฯลฯ

3.สุราษฎร์ธานี ปี 2562-2566 วงเงิน 2,708 ล้านบาท อาทิ ขยายอาคารผู้โดยสารและสร้างหลังใหม่ ขยายลานจอด 4.นครศรีธรรมราช ปี 2560-2566 วงเงิน 6,245 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เสริมทางวิ่ง ทางขับเดิม ขยายลานจอดและเพิ่มความยาวทางวิ่ง ฯลฯ

5.หัวหิน ปี 2563-2565 วงเงิน 350 ล้านบาท ขยายทางวิ่งและลานจอด 6.เบตง ปี 2559-2562 วงเงิน 1,703 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสาร 7.นราธิวาส ปี 2562-2563 วงเงิน 742 ล้านบาท สร้างที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ 8.ลำปางปี 2559-2567 วงเงิน 1,803 ล้านบาท สร้างทางขับ ลานจอด ขยายทางวิ่ง ทางขับ 9.แม่สอด ปี 2559-2562 วงเงิน 1,113 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ทางขับ ลานจอด และขยายทางวิ่ง 10.แพร่ ปี 2562-2563 วงเงิน 403 ล้านบาท ซื้อที่ดินขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอด และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร

11.ขอนแก่น ปี 2561-2564 วงเงิน 2,802 ล้านบาท 12.อุดรธานี ปี 2565-2567 วงเงิน 2,894 ล้านบาท 13.เลย ปี 2564-2565 วงเงิน 730 ล้านบาท 14.สกลนคร ปี 2560-2566 วงเงิน 1,008 ล้านบาท 15.อุบลราชธานี ปี 2565-2567 วงเงิน 2,532 ล้านบาท 16.ร้อยเอ็ด ปี 2562-2566 วงเงิน 717 ล้านบาท และ 17.บุรีรัมย์ ปี 2560-2562 วงเงิน 164 ล้านบาท

จ่อเปิดเพชรบูรณ์-ดอนเมือง

“เท่าที่หารือ ทุกสายการบินให้ความร่วมมือ ขณะนี้มีสายการบินใช้สนามบินของกรมเพื่อบินระหว่างจังหวัดมากขึ้น เช่น อุดรธานี บินตรงไปเชียงใหม่ อุบลราชธานี ภูเก็ต หาดใหญ่ อู่ตะเภา หรืออุบลราชธานีไปอุดรธานี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ล่าสุด นิวเจนแอร์เวย์ส บินจากโคราชไปเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และดอนเมือง และวิสดอมแอร์เวย์ บินจากเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และดอนเมือง-ปาย”

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างปัดฝุ่นสนามบินที่ยังไม่เปิดเที่ยวบินพาณิชย์ เช่น เพชรบูรณ์ ต้นเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดซึ่งร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ตเขาค้อ ตั้งบริษัท SP ลอจิสติกส์ จะเช่าเหมาลำเครื่องนกแอร์ บินตรงเพชรบูรณ์-ดอนเมือง รองรับนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวเขาค้อ ส่วนหัวหิน ไทยแอร์เอเชีย จะเปิดบริการเส้นทางบินประจำหัวหิน-กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 18 พ.ค.นี้

“สนามบินที่เวลานี้ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ แต่มีศักยภาพด้านท่องเที่ยว จะให้เอกชนร่วมพัฒนาเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ เช่น เพชรบูรณ์ ชุมพร ตาก ปัตตานี โคราช จะเสนอกระทรวงคมนาคมอนุมัติเร็ว ๆ นี้ จากนั้นกรมจะศึกษารูปแบบการร่วมทุน เช่น ให้สัมปทาน 10 ปี 20 ปี 30 ปี โดยมีส่วนแบ่งรายได้ คาดว่าปลายปีนี้จะเปิดประมูลได้”

นอกจากนี้จะให้เอกชนลงทุนสร้างสนามบินสำหรับเที่ยวบินส่วนตัว (private jet airport) เพราะปัจจุบันตลาดการบินรูปแบบนี้เติบโตขึ้นมาก แต่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิปัจจุบันเริ่มแออัด ผลศึกษาเบื้องต้นพบว่าธุรกิจมีความเป็นไปได้ที่จะลงทุน และ จ.นครปฐม เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด เพราะใช้เวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯไม่เกิน 1 ชั่วโมง และห้วงทางเดินอากาศเพียงพอจัดสรรเส้นทางบินได้ จะรองรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจ

“ไทยแอร์เอเชีย” ปูพรม

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีแผนรุกตลาดภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะ CLMV เต็มที่ เพื่อยึดหัวหาดจุดบินให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยวางนโยบายว่าสนามบินไหนมีรันเวย์ที่เครื่องบินขนาด A320 และโบอิ้ง 737 สามารถลงได้ ไทยแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินเข้าทั้งหมด เมืองเล็กเมืองน้อยจะไล่เก็บให้หมด เพื่อปิดรอยรั่วตลาดในประเทศและใน CLMV ให้ดีกว่าที่ผ่านมา และสอดรับกับแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้นอีก 7 ลำในปีนี้

เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองท่องเที่ยวใหม่ ๆ ตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดเล็ก ๆ ให้เติบโตเพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียได้ทดลองบินเข้าสู่เมืองรองไปแล้วหลายเมือง อาทิ เลย สกลนคร บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด น่าน ฯลฯ ซึ่งได้รับการตอบรับดีเกินคาด

ผนึกท่องเที่ยว-คมนาคมทำแผน

ที่ผ่านมาสายการบินไทยแอร์เอเชียทำงานขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวร่วมกับภาครัฐต่อเนื่อง ล่าสุดได้เจรจากับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน หน่วยงานที่ดูแลและบริหารสนามบินในภูมิภาค มีแผนพัฒนาสนามบินในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลาย ๆ จังหวัด

และรับปากว่าสนามบินไหนมีความพร้อม ไทยแอร์เอเชียพร้อมเปิดเส้นทางบินทันที โดยเฉพาะจังหวัดติดชายแดน เช่น แม่สอด (ตาก) แม่ฮ่องสอน หรือบางจังหวัดไม่ได้อยู่ติดชายแดนแต่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เช่น ลำปาง แพร่ พะเยา สุรินทร์ ฯลฯ จังหวัดเหล่านี้มีสนามบิน แต่เครื่องไทยแอร์เอเชียยังลงไม่ได้

“ตอนนี้ผมว่าสายการบินมีความพร้อมมาก แต่สนามบินมีไม่เพียงพอ กรมท่าอากาศยานทำงบประมาณพัฒนาปรับปรุงแล้ว คาดว่าน่าจะชัดเจนขึ้นภายใน 3-4 ปีนี้ โดยแจ้งว่าเขามีแผนพัฒนาให้แล้วเสร็จปีละ 2-3 แห่ง ที่กำลังเร่งอยู่นี้คือ แม่สอด แม่ฮ่องสอน เบตง บางส่วนจะแล้วเสร็จในปีหน้า”

พร้อมครีเอตดีมานด์ทุกรูปแบบ

“จากนี้ไปเราจะไม่รอให้มีตลาดก่อนแล้วค่อยเปิดเส้นทางบินแล้ว แต่จะใช้กลยุทธ์เชิงรุกไปยึดหัวหาดไว้ก่อน แล้วช่วยกันครีเอตดีมานด์ เพราะเชื่อว่าถ้าทำให้การเดินทางสะดวก ราคาสมเหตุสมผล จะมีตลาดโดยปริยาย ตอนนี้จังหวัดที่เครื่อง A320 ลงได้ เราเปิดบินเข้าเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว ยกเว้นแค่ 3 จังหวัด คือ หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) นครราชสีมา และเพชรบูรณ์”

ทั้ง 3 สนามบินนี้เครื่อง A320 ลงได้แล้ว แต่ขอศึกษาเรื่องการตลาดให้ละเอียด เพราะอย่างสนามบินหัวหิน คงไม่บินจากกรุงเทพฯ แต่อาจบินจากเชียงใหม่มา หรือที่เพชรบูรณ์ ยังเป็นโลเกชั่นที่เป็นซีซันนิ่ง ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปเที่ยวเฉพาะช่วงหน้าหนาว สนามบินนครราชสีมาก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าจะเปิดเส้นทางบินไปไหนได้บ้าง

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ในการเปิดเส้นทางบิน ที่ผ่านมายังโฟกัสเส้นทางจากเมืองหลักไปสู่เมืองหลัก และจากเมืองหลักไปสู่เมืองรอง และบินข้ามภูมิภาค แต่จากนี้ไปจะเห็นจากเมืองรองสู่เมืองรอง รวมถึงเมืองขนาดเล็ก เช่น เส้นทางล่าสุดที่ไทยแอร์เอเชียเพิ่งเปิดให้บริการไป คือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ระนอง และจะเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ชุมพร วันที่ 24 มีนาคมนี้ เป็นต้น และมีเส้นทางบินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่-เชียงราย เชียงใหม่-ลำปาง ฯลฯ

“นิวเจน แอร์เวย์ส” ฮับโคราช

เช่นเดียวกับ นายเจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด ผู้บริหารสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส ที่กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปักหมุดให้สนามบินโคราช (นครราชสีมา) เป็นฮับการบินสู่เมืองต่าง ๆ ช่วงแรกได้เปิดให้บริการเส้นทางบินประจำจากสนามบินโคราช-เชียงใหม่ โคราช-ภูเก็ต โคราช-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) โคราช-กระบี่ ไปแล้วปลายปีที่ผ่านมา

“เราได้หารือกับผู้บริหารสนามบินโคราชด้วยว่า อยากให้สนามบินขยายรันเวย์ให้ยาวขึ้น เพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเที่ยวบินต่างประเทศด้วย เพราะเรามีแผนเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศด้วย เช่น โคราช-จีน โคราช-เกาหลีใต้ (โซล) เป็นต้น”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน นิวเจน แอร์เวย์ส ถือเป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการเครื่องบินโดยสารที่สนามบินโคราช ในขณะที่นครราชสีมาเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP สูงเป็นอันดับที่ 1 ของภาคอีสาน

ที่มา : ประชาชาติ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร