Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เปิดประมูลรถไฟฟ้าภูเก็ตไตรมาส 3 ค่าโดยสารสูงสุด 100-137 บาท/เที่ยว

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

รฟม. เร่งเดินหน้า รถไฟฟ้าภูเก็ต คาดเสนอเข้าครม.อนุมัติลงทุนกลางปี เริ่มสร้างกลางปี 63 เปิดใช้ ปี 66 คาดค่าโดยสารสูงสุด 100-137 บาทต่อเที่ยว

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวชนในภูมิภาคที่รฟม.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงให้มาดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก ว่า ล่าสุด รฟม.ได้จัดงานสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (market sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โดยมีนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัทรับเหมารายใหญ่ และบริษัทเดินรถ รวมถึงบริษัทจาก ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สอบถามเข้ามาก็อาจจะเป็นการเข้าไปร่วมในบางส่วน

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลขนจังหวัดภูเก็ตเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ  โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม.จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี  มีกรอบวงเงินลงทุนโครงการประมาณ 34,827.28 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบตามระยะทางสูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว และจากการวิเคราะห์โครงการ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตจะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ประมาณร้อยละ 12.51

ทั้งนี้ รฟม. จะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นจากงานสัมมนาไปประกอบการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในงานด้านต่างๆ เช่น งานโยธา ระบบรถไฟฟ้า การเดินรถ งานบำรุงรักษา และงานให้บริการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีราวกลางปี 2562 เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และกำลังหารือเพิ่มเติมกับกรมทางหลวง โดยกรมทางหลวงอยากให้รฟม.ทำเส้นทางลงใต้ดินบริเวณยูเทิร์นอีก 2 จุด จากเดิมที่เส้นทางจะลงใต้ดินบริเวณจุดตัดสี่แยก 3 จุด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกจุดละ 500-800 ล้านบาท

“รฟม.จะเร่งหาข้อสรุปกับกรมทางหลวงโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยคาดว่าหลังครม.อนุมัติกลางปี จะเปิดให้เอกชนประมูลได้ในไตรมาส 3 และน่าจะก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2563 โดยมีระยะสัมปทาน 30 ปี และหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่า โครงการจะยังคงเดินหน้าต่อ เพราะเป็นการดำเนินงานในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว” นายธีรพันธ์ กล่าว

ส่วนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ โดยจะเริ่มที่สายสีแดงก่อนมีระยะทาง 12.54 กม.(บนดิน 5.17 กม. ใต้ดิน 7.37 กม.) จำนวน 12 สถานี เส้นทางเริ่มตั้งแต่โรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามบินนานาชาติเชียงใหม่-กรมการขนส่งทางบก-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง วงเงินลงทุน 24,256.35 ล้านบาท ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษา โดยจะเริ่มก่อสร้างสายสีเขียวก่อน ตั้งแต่ ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กม. และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก อยู่ระหว่างเสนอพระราชกฤษฎีกามอบอำนาจให้รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการรฟม. พิจารณาในวันที่ 25 มกราคมนี้

ไม่พลาดทุกข่าวสาร ทันทุกเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์กับ Baania ได้ที่ Line Official >> @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร